‘ซิสโก้’พร้อมรุกตลาดปีหน้า รับมือการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

ในช่วงวันเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกแห่งดิจิทัล หลายธุรกิจได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ซึ่งในแต่ละปีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็แตกต่างกันออกไปตามแต่ช่วงเวลา

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน ได้มาเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องราวของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัลว่า ปัจจุบันธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจสื่อและบันเทิง ตามด้วยผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี และร้านค้าปลีก ส่วนที่ธุรกิจอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบลดหลั่นกันไป

และภายในปี ค.ศ.2020 จะมีธุรกิจราว 75 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมดที่จะไปสู่ดิจิทัล หรืออยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจดิจิทัล หากแต่ในจำนวนนี้ จะมีเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากขาดซึ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค

สำหรับเทคโนโลยีที่จะมีการเติบโตอย่างมากใน 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีแรกที่จะเติบโตที่สุดคือ บล็อกเชน ที่จะโตขึ้นถึง 110 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ จะโตถึง 108 เปอร์เซ็นต์ หุ่นยนต์จะโต 84 เปอร์เซ็นต์ เว็บคอลลาบอเรชั่น โต 76 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ในส่วนของเรื่องความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ของกลุ่มประเทศในอาเซียน (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) นั้น ผลการสำรวจพบว่า อาเซียนมีความมั่นใจสูงสุดเกี่ยวกับความพร้อมด้านดิจิทัลเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดยในรายงานผลการศึกษาที่มีชื่อว่า Ready, Steady, Unsure – A Technology Perspective into Asia-Pacific’s Readiness for Digital Transformation (มุมมองด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับความพร้อมของเอเชียแปซิฟิกสำหรับการปรับปรุงธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล) ชี้ให้เห็นว่า บริษัทส่วนใหญ่ใน 6 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดในอาเซียนมั่นใจว่ากลยุทธ์การปรับปรุงธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมในการรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ (94 เปอร์เซ็นต์) และบริษัทมีความพร้อมเพียงพอในการปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (93 เปอร์เซ็นต์) บริษัทในอาเซียนมีความมั่นใจสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (84 เปอร์เซ็นต์)

ขณะที่บริษัทต่างๆ ในอาเซียนมีความพร้อมในการเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ระดับความเชื่อมั่นก็แตกต่างหลากหลายกันไปสำหรับแต่ละบริษัท ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า 19 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริหารฝ่ายไอทีในองค์กรขนาดใหญ่ (บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน) ไม่คิดว่าองค์กรของตนมีความพร้อมที่จะปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เปรียบเทียบกับ 7 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า ทั้งนี้ เพราะบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าและเพิ่งเปิดดำเนินงานมาไม่นานไม่ต้องแบกรับภาระเกี่ยวกับระบบรุ่นเก่าที่ล้าสมัยและฐานผู้ใช้จำนวนมาก ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ดีกว่าในการพัฒนาระบบไอทีอย่างรวดเร็ว

Advertisement

รายงานดังกล่าวอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการอาวุโสฝ่ายไอที 1,325 คน ในบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลการสำรวจความคิดเห็นเน้นย้ำว่าผู้จัดการฝ่ายไอทีในอาเซียนระบุว่า เทคโนโลยีคลาวด์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, บิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูล และระบบงานอัตโนมัติ เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สุดสำหรับการสร้างอนาคตทางด้านดิจิทัลของธุรกิจ

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าความมั่นใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการสร้างอนาคตทางด้านดิจิทัลของธุรกิจจะอยู่ในระดับที่สูง แต่อัตราการปรับใช้เทคโนโลยียังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในภูมิภาคนี้ กล่าวคือ ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามในอาเซียน มีเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เริ่มปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์, 59 เปอร์เซ็นต์ สำหรับโซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์, 55 เปอร์เซ็นต์สำหรับเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูล และ 48 เปอร์เซ็นต์ สำหรับระบบงานอัตโนมัติ

แม้กระทั่งในส่วนของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ปรากฏว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (47 เปอร์เซ็นต์) ยอมรับว่าองค์กรของตนใช้แนวทางป้องกันเชิงรับ และติดตั้งโซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยและทำการอัพเกรดระบบเฉพาะหลังจากที่เกิดปัญหาการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัยแล้วเท่านั้น

ผู้บริหารฝ่ายไอทีชี้ว่า อัตราการปรับใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในระดับต่ำเป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ (47 เปอร์เซ็นต์), การขาดแคลนบุคลากร (43 เปอร์เซ็นต์) และโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ไม่เหมาะสม (42 เปอร์เซ็นต์)

แม้ว่าผู้บริหารฝ่ายไอทีส่วนใหญ่ (92 เปอร์เซ็นต์) ในอาเซียนระบุว่าบริษัทของตนได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ทันสมัย ทั้งในส่วนของเครือข่าย ดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ใน 3 ปีที่ผ่านมา แต่เกือบครึ่งหนึ่ง (46 เปอร์เซ็นต์) ยอมรับว่าบริษัทได้ละเลยเรื่องนวัตกรรมและบริการหลังการขาย เพื่อแลกกับราคาโดยรวมที่ถูกลง อย่างไรก็ดี การตัดสินใจโดยพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นหลักส่งผลให้ผู้บริหารฝ่ายไอทีกว่าหนึ่งในสาม (37 เปอร์เซ็นต์) ไม่กล้าตัดสินใจและไม่มั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่องค์กรมีอยู่จะสามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

รายงานดังกล่าวยังได้ระบุข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ เช่น การปรับใช้กรอบโครงสร้างไซเบอร์ซีเคียวริตี้แบบครบวงจร การปรับปรุงเครือข่ายสำหรับระบบคลาวด์ และการสร้างมูลค่าทางธุรกิจในระยะยาวโดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่แข็งแกร่ง สามารถปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น รองรับการทำงานแบบอัตโนมัติ และมีความปลอดภัยสูง

ในส่วนของตลาดประเทศไทยนั้น นายวัตสัน กล่าวว่า ไตรมาสที่ผ่านมา ประเทศไทยถือว่าเติบโตเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และในปี 2019 นี้ ซิสโก้ ประเทศไทย จะรุกตลาดด้วยแผน 4 ด้าน ด้านแรกคือ การสร้างเวทีผู้นำความคิดให้มากขึ้น ด้านที่ 2 คือ มุ่งเน้นไปที่ 4 อุตสาหกรรม คือ การเงินการธนาคาร อุตสาหกรรม บริการสาธารณะ และการศึกษา ด้านที่ 3 คือ การเพิ่มช่องทางการขาย และด้านที่ 4 คือการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการสื่อสารชั้นนำของไทยในการนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ๆ

สำหรับเทคโนโลยีหลักที่จะมุ่งเน้นเป็นลำดับแรกคือ คือเรื่องของมัลติคลาวด์ ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่ง

และสุดท้าย คือการมุ่งเน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบของนวัตกรรมด้านสังคม ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image