แบงก์ในเอเชียแปซิฟิก เตรียมเปิดโอเพ่นแบงกิ้งบริการลูกค้าองค์กร หวังดันรายได้เติบโตสองหลัก

เอคเซนเชอร์ สำรวจทั่วโลกพบธนาคารขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่เห็นว่าการให้บริการโอเพ่นแบงกิ้ง หรือระบบที่เปิดกว้างแก่องค์กรธุรกิจ จะเป็นกลยุทธ์หลักของธนาคารในการปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งหลายแห่งคาดว่าโอเพ่นแบงกิ้งจะช่วยให้ธนาคารมีรายได้มากขึ้น ซึ่งอาจขยายตัวได้ถึงสองหลัก

ระบบโอเพ่นแบงกิ้งจะช่วยให้ลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจแบ่งปันข้อมูลทางการเงินกับธนาคารและบุคคลภายนอกได้อย่างปลอดภัย เอื้อให้การโอนเงิน จ่ายเงิน เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และการจัดการบัญชี ทำได้โดยสะดวกผ่านช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูล หรือ API

การสำรวจของเอคเซนเชอร์เผยว่า 90% ของธนาคารในเอเชียแปซิฟิกมีแผนจะให้บริการโอเพ่นแบงกิ้งแก่ลูกค้าองค์กรธุรกิจ โดยครึ่งหนึ่ง (50%) คาดว่าโอเพ่นแบงกิ้งจะช่วยเพิ่มรายได้ได้สูงสุด 10% ส่วนหนึ่งในสาม (33%) ของธนาคารที่สำรวจคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ถึง 20%

รายงานวิจัยของเอคเซนเชอร์เรื่อง “Opening Up Commercial Banking, The Brave New World Of Open Banking in APAC” เป็นการสำรวจระดับโลกในกลุ่มผู้บริหารธนาคารจำนวน 750 คน รวมทั้งผู้บริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่

Advertisement

อัตราการเติบโตของรายได้ (%) ที่ธนาคารคาดว่าจะได้รับจากการให้บริการโอเพ่นแบงกิ้งแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและองค์กรต่างๆ ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

ผลสำรวจหลักๆ ที่พบคือ ลูกค้าองค์กรของธนาคารในไทยมีความต้องการบริการเหมือนกับรายย่อย นั่นคือกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพ และทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าน่าประทับใจยิ่งขึ้น และนี่เองที่โอเพ่นแบงกิ้งจะเข้ามาช่วยได้ เมื่อถามถึงประโยชน์ของการมีระบบนิเวศสำหรับโอเพ่นแบงกิ้ง ผู้บริหารของกิจการขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 28% เห็นว่าจะช่วยลดความซับซ้อน รวมทั้งต้นทุนของการเชื่อมต่อระบบ

นอกจากนี้ องค์กรที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ยังคาดว่าโอเพ่นแบงกิ้งจะเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในกระบวนการทำธุรกิจ (มีผู้ตอบ 25%) และช่วยให้องค์กรเข้าถึงบริการธนาคารที่สะดวกและทันสมัย (มีผู้ตอบ 20%) เมื่อถามถึงส่วนงานที่จะได้ทำงานประสานความร่วมมือกับธนาคารมากขึ้นเมื่อมีระบบโอเพ่นแบงกิ้ง สำหรับเอสเอ็มอีในไทย เล็งเห็นประโยชน์ในด้านการชำระเงิน การจัดการคำสั่งซื้อ การจับคู่ธุรกิจ การรวมระบบบัญชีและกู้ยืมเข้าด้วยกัน ขณะที่องค์กรใหญ่ๆ เล็งเห็นประโยชน์สำหรับฝ่ายการเงิน การบริหารเงิน และการชำระเงินต่างๆ

นายเกรแฮม รอทเวลล์ ผู้อำนวยการสายงานระบบชำระเงิน เอคเซนเชอร์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “บริการจากโอเพ่นแบงกิ้งที่ให้ประโยชน์สำคัญต่อธุรกิจเอสเอ็มอีและองค์กรธุรกิจในไทยนั้น มีหลากหลายมากตามแต่ที่ธุรกิจจะสนใจ แวดวงธนาคารจึงควรร่วมกันพัฒนากรอบของโอเพ่นแบงกิ้งและหาข้อตกลงด้านมาตรฐานร่วมด้วยกัน หากมีกรอบที่ดีแล้ว ธนาคารและธุรกิจฟินเทคจะทำงานประสานกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบโดยรวมจะมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

นายเกรแฮม รอทเวลล์

ธนาคารขนาดใหญ่ส่วนมากในเอเชียแปซิฟิก คือราว 80% ได้ลงทุนในโครงเกี่ยวกับโอเพ่นแบงกิ้งแล้วหรือไม่ก็มีแผนจะลงทุนในปีหน้า เพื่อรองรับลูกค้าองค์กรธุรกิจต่างๆ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 87% แต่หากพิจารณามูลค่าการลงทุนแล้ว ธนาคารในภูมิภาคนี้มีแผนลงทุนมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ในการสร้างแพลตฟอร์มโอเพ่นแบงกิ้งเป็นบริการแก่พันธมิตรภายนอก สามารถศึกษาการทำงานของระบบและความสัมพันธ์กับองค์ประกอบส่วนต่างๆ (use case) ได้ โดย 39% ของธนาคารในเอเชียแปซิฟิกมีแผนลงทุนด้านนี้เป็นมูลค่ารวม 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 21% ของธนาคารในทวีปอเมริกาเหนือ และ 14% ของธนาคารในยุโรปที่ลงทุนในจำนวนนั้น

เมื่อถามถึงพันธมิตรด้านโอเพ่นแบงกิ้ง องค์กรขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีในไทยระบุว่าต้องการร่วมมือกับธนาคารที่ตนใช้บริการอยู่ คิดเป็นสัดส่วน 87% ซึ่งสูงที่สุดในโลก มีเพียง 12% เท่านั้นที่ต้องการร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีนอกภาคธนาคาร

“ภาคธนาคารในไทยยังมีโอกาสดีๆ และมีศักยภาพอีกมาก ได้รับความเชื่อมั่นสูงจากลูกค้าองค์กร และมีบริการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต่างต้องการโซลูชั่นด้านโอเพ่นแบงกิ้ง ซึ่งเอคเซนเชอร์เห็นว่า ถ้าธนาคารไม่ฉวยโอกาสดีๆ เช่นนี้ กิจการฟินเทคและคู่แข่งด้านดิจิทัลอาจจะแซงหน้าและได้โอกาสนี้ไปก่อน” นายเกรแฮมกล่าวเสริม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image