อุกกาบาตถล่มเมือง ในตะวันออกกลาง

(ภาพ-Buddy_Nath via Pixarbay)

ทีมนักสำรวจทางโบราณคดี นำโดยศาสตราจารย์ ฟิลลิป ซิลเวีย นักโบราณคดีภาคสนามซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะโครงการสำรวจ ทาลล์ เอล-ฮัมมัม เมืองโบราณของอาณาจักร มิดเดิล ฆอร์ (Middle Ghor) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลเดดซี ในตะวันออกกลางเมื่อราว 3,700 ปีก่อน เปิดเผยหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองนี้ทั้งเมืองถูกถล่มจนหายวับไปหมดทั้งเมือง จากอิทธิพลของแรงอัดอากาศและความร้อนซึ่งเกิดจากการแตกระเบิดออกของอุกกาบาตหรือดาวหางในท้องฟ้าเหนือเมืองนี้เมื่อหลายพันปีก่อน

ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบทคัดย่อของรายงานที่ทีมสำรวจขุดค้นนำเสนอต่อที่ประชุมประจำปีของสำนักอเมริกันเพื่อการวิจัยตะวันออก ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา

ในรายงานระบุเอาไว้ว่า แรงอัดอากาศพลังสูงและร้อนจัดเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและมีอานุภาพทำลายล้างครอบคลุมพื้นที่ราว 500 ตารางกิโลเมตร ติดกับตอนเหนือของทะเลเดดซี ไม่เพียงทำลายเมืองใหญ่น้อยในพื้นที่ดังกล่าวหายวับไปกับตาชนิด 100 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังกวาดเอาหน้าดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ดังกล่าวออกไปทั้งหมด และหอบเอาน้ำเค็มจัดจากทะเลเดดซีขึ้นมาครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว

น้ำเค็มจากทะเลสาบเดดซีซึ่งความร้อนสูงถูกแรงระเบิดก่อให้เกิดคลื่นกระแทก (ช็อกเวฟ) ส่งให้แผ่กระจายออกไปเป็นวงกว้างครอบคลุมที่ดินด้านตะวันออกของมิดเดิล ฆอร์ทั้งหมด ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยเกลือแอนไฮไดรด์ (สารประกอบที่มีส่วนผสมระหว่างเกลือกับซัลเฟต)

Advertisement

หนึ่งในเมืองที่ถูกถล่มในครั้งนั้นคือ ทาลล์ เอล-ฮัมมัม ที่ทีมสำรวจลงสำรวจขุดค้นนั่นเอง

(ภาพ-Phillip Silvia)

ในรายงานผลการขุดค้น ศาสตราจารย์ซิลเวียระบุว่า เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ตรวจสอบพบแล้ว สามารถลงความเห็นได้ว่า การทำลายหน้าดินและทำให้พื้นที่ปนเปื้อนด้วยแอนไฮไดรด์ในครั้งนั้น ทำให้พื้นที่ดังกล่าวถูกทิ้งร้าง ไม่มีมนุษย์เข้าไปปักหลักตั้งถิ่นฐานอีกเลยจนกระทั่งอีกอย่างน้อย 600 ปีต่อมา เมื่อพื้นที่ดังกล่าวสามารถฟื้นฟูสภาพกลับมาใหม่ได้แล้ว

หลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์การทำลายส่วนหนึ่งของอารยธรรมเมื่อหลายพันปีก่อนไปในพริบตา ก็คือ เครื่องปั้นดินเผาชิ้นหนึ่งซึ่งขุดพบที่ ทาลล์ เอล-ฮัมมัม ที่มีลักษณะผิดปกติ บริเวณผิวของเครื่องปั้นดินเผาดังกล่าวถูกเปลี่ยนให้เป็นแก้ว ซึ่งในทางปฏิบัติจำเป็นต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า 4,000 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น อุณหภูมิสูงจัดดังกล่าวยังเปลี่ยนชิ้นเพทาย (เซอร์คอน) ที่ประดับอยู่ในเนื้อเครื่องปั้นดินเผาให้กลายเป็นก๊าซ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ซิลเวียระบุว่า ความร้อนจัดมากดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นนานพอที่จะเผาเครื่องปั้นดังกล่าวทั้งใบให้กลายเป็นแก้วอย่างทั่วถึง ทำให้อีกหลายส่วนของภาชนะ โดยเฉพาะใต้ผิวนอกลงไปยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ศาสตราจารย์ซิลเวียชี้ว่า รูปแบบของเหตุการณ์แสดงให้เห็นถึงสาเหตุเพียงอย่างเดียว คือ การเกิดแรงอัดอากาศแตกระเบิดออกเฉียบพลันจากอุกกาบาตหรือดาวหาง ซึ่งเรียกกันว่า “คอสมิค แอร์ เบิร์สท์” ซึ่งเคยเกิดขึ้น

บนโลกเป็นครั้งคราวตลอดประวัติศาสตร์กำเนิดโลก รวมทั้งเหตุการณ์การระเบิดเหนือทังกัสกา ในไซบีเรีย เมื่อปี 1908

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสำรวจพบแหล่งซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาต และการที่พื้นที่ถูกทำลายเป็นเนื้อที่เพียง 500 ตารางกิโลเมตร แสดงให้เห็นว่า คอสมิค แอร์ เบิร์สท์ ในครั้งนี้เกิดขึ้นในระยะต่ำมาก คือไม่เกิน 1 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ต่างจากกรณีทังกัสกา ซึ่งพื้นที่ที่เสียหายเป็นวงกว้างถึง 2,150 ตารางกิโลเมตร และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าตัวการจริงๆ เป็นอุกกาบาตหรือดาวหางกันแน่

ซิลเวียย้ำว่า ข้อมูลทั้งหมดยังคงเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น และการสำรวจครั้งนี้ยังคงดำเนินอยู่ และเตรียมขยายออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image