ดาวเคราะห์น้อย “ฮิปโป” มาเยือนรับคริสต์มาส

คณะนักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการทดลอง เจท โพรพัลชัน (เจพีแอล) ในสังกัดองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ภาพถ่ายจากสัญญาณเรดาร์ ชุดใหม่ของดาวเคราะห์น้อย “2003 เอสดี 220” หรือที่รู้จักกันในชื่อสามัญว่า ดาวเคราะห์น้อย “คริสต์มาสฮิปโป” พร้อมทั้งระบุว่า มันจะโคจรเฉียดเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 400 ปีในวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ในระยะห่างราว 2.9 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะประชิดที่สุดเท่าที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้โคจรผ่านเข้ามาใกล้โลก ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่ “คริสต์มาส ฮิปโป” โคจรเข้ามาใกล้โลกก็คือเมื่อวันคริสต์มาสอีฟ (24 ธันวาคม) ปี 2015

ภาพถ่ายใหม่ของดาวเคราะห์น้อยฮิปโปนี้มีความคมชัดกว่าภาพเดิมที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2015 ราว 20 เท่า เนื่องจากมันขยับเข้ามาใกล้มากกว่าครั้งที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า “2003 เอสดี 220” มีความยาวทั้งสิ้นเกือบ 1.6 กิโลเมตร แสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของมันได้อย่างชัดเจน นั่นคือบริเวณส่วนที่สูงขึ้นกว่าพื้นที่โดยรอบ และทำให้มันมีลักษณะเหมือนฮิปโปโปเตมัส กำลังหย่อนตัวจมลงในน้ำ ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงที่ดูเหมือนว่าจะเป็นทิวยาวจนรอบดาวเคราะห์น้อยทั้งดวงใกล้กับปลายสุดด้านหนึ่ง ความสูงของเทือกเขาดังกล่าวเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบแล้ว อยู่ที่ราว 100 เมตร

แลนซ์ แบนเนอร์ หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซา ที่เจพีแอล ในเมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ยังมีจุดสว่างกระจายกันอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจเป็นแสงที่สะท้อนกลับออกมาจากเนินหินขนาดใหญ่บนดาวเคราะห์น้อยนั่นเอง และหากสังเกตดีๆ จะมีบริเวณริมขอบด้านขวาของ “คริสต์มาสฮิปโป” ที่มีลักษณะเป็นวงกลมสีเข้มดำ ปรากฏอยู่เป็นกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นบริเวณที่ถูกอุกกาบาตถล่มจนกลายเป็นหลุมบ่อนั่นเอง

ภาพถ่ายชุดใหม่ยังยืนยันรายละเอียดเกี่ยวกับตัว “คริสต์มาสฮิปโป” ด้วยว่า มันหมุนรอบตัวเองช้ามาก คือครบ 1 รอบในทุกๆ 12 วัน ซึ่งเป็นการหมุนรอบตัวเองที่ช้าจนน่าประหลาดใจเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์น้อยทั่วๆ ไป นอกจากนั้น ยังมีการเคลื่อนที่แบบแปลกๆ คือมีการกระเพื่อม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนเปรียบเทียบว่าเหมือนกับอาการเดินเรื่อยเปื่อยของฮิปโปอีกด้วย

Advertisement

ขนาดและระยะโคจรที่ขยับเข้ามาใกล้โลกทำให้ “คริสต์มาสฮิโป” ถูกจับตามองและเฝ้าระวังจากโครงการสังเกตการณ์วัตถุใกล้โลก แต่ยืนยันว่าจะไม่ก่ออันตรายต่อโลกแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image