‘อัลติมา ทูเล’ ดาวเคราะห์ปฐมภูมิ

(ภาพ-James Tuttle Keane/NASA/JHUAPL/SwRI)

อลัน สเติร์น นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการสำรวจอัลติมา ทูเล ภายใต้ภารกิจ นิว ฮอไรซันส์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายละเอียดและภาพถ่ายเบื้องต้นของ อัลติมา ทูเล ซึ่งยานนิว ฮอไรซันส์ ถ่ายไว้ขณะโฉบเข้าไปใกล้ เทหวัตถุดวงนี้ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากโลกถึง 6,400 ล้านกิโลเมตร ถือเป็นเทหวัตถุในระบบสุริยะที่ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสำรวจมา

ภาพถ่ายที่ชัดเจนที่สุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพชุดแรกที่จัดส่งมายังหอควบคุมภารกิจที่ห้องปฏิบัติการทดลองฟิสิกส์ประยุกต์ ของมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ ในเมืองลอเรล สหรัฐอเมริกา เป็นภาพที่นิว ฮอไรซันส์ ถ่ายไว้ขณะอยู่ห่างจาก อัลติมา ทูเล ราว 28,000 กิโลเมตร ห่างจากระยะประชิดที่สุดที่ยานลำนี้จะโฉบเข้าไปถึงครึ่งชั่วโมงเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แต่ก็ให้รายละเอียดที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับอัลติมา ทูเล ซึ่งมีความหมายว่า “อยู่นอกเหนือโลกที่รู้จักกัน”

เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ของโครงการได้เห็นลักษณะที่ชัดเจนก็แก้ไขลักษณะของอัลติมา ทูเล ว่าคล้ายกับ “ตุ๊กตาหิมะ” มากกว่าจะเป็น “พินโบว์ลิ่ง” ที่เคยเปรียบเทียบไว้ในตอนแรก และเรียกส่วนที่มีขนาดใหญ่กว่าว่า “อัลติมา” ส่วนทรงกลมเล็กกว่าว่า “ทูเล” โดยประมาณว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของ อัลติมา น่าจะอยู่ที่ราว 19 กิโลเมตร ส่วนทูเล อยู่ที่ราว 14 กิโลเมตร ความยาวรวมของอัลติมา ทูเล เท่ากับ 33 กิโลเมตร

Advertisement

เจฟฟ์ มัวร์ นักวิทยาศาสตร์ของนาซา ประจำ ศูนย์วิจัยเอเมส ระบุว่า เทหวัตถุทรงกลมทั้งสองรวมตัวกันในห้วงอวกาศเมื่อหลายพันปีก่อน โดยที่ต่างฝ่ายต่างหมุนอยู่ใกล้กันจนสัมผัสกันในที่สุด มัวร์ระบุว่าการหมุนเข้ามาติดกันของเทหวัตถุทั้งสองนั้นช้ามาก เทียบได้กับเมื่อเรากำลังเคลื่อนรถเข้าที่จอดด้วยความเร็ว 1-2 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น และติดเข้าด้วยกันในที่สุด

This image made available by NASA on Wednesday, Jan. 2, 2019 shows images with separate color and detail information, and a composited image of both, showing Ultima Thule, about 1 billion miles beyond Pluto. The New Horizons spacecraft encountered it on Tuesday, Jan. 1, 2019. (NASA via AP)

ถึงแม้ส่วนที่ติดกันจะเล็กมาก แต่มัวร์ระบุว่าติ่งทั้งสองติดกันแน่นหนามาก และเชื่อว่า อัลติมา ทูเล หมุนรอบตัวหนึ่งรอบใช้เวลาราว 15 ชั่วโมง เพราะหากหมุนเร็วกว่านั้น เช่น 1 รอบภายใน 3 หรือ 4 ชั่วโมง อัลติมากับทูเล จะต้องฉีกขาดออกจากกันแน่นอน ในทางดาราศาสตร์เรียกว่า “ดาวคู่แบบติดกัน” (Contact Binary) นั่นเอง และนับเป็นดาวคู่แบบติดกันดวงแรกที่นาซาเคยสำรวจมา

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า อัลติมา ทูเล ก่อตัวขึ้นเมื่อราว 4,500 ล้านปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่ระบบสุริยะเพิ่งก่อรูปขึ้นมา เพียง 0.1-1 เปอร์เซ็นต์ จากที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ดังนั้น อัลติมา ทูเล จึงเป็นเทหวัตถุปฐมภูมิที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์ได้สำรวจในระยะประชิดเช่นนี้

อลัน สเติร์น ระบุว่า อัลติมา ทูเล ไม่ใช่ทั้งดาวหางและไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อย แต่น่าจะเป็น “ดาวเคราะห์ปฐมภูมิขนาดเล็ก” (primordial planetesimal) ซึ่งแตกต่างจากดาวหางและเทหวัตถุอื่นๆ ที่สภาพเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและอิทธิพลของดวงอาทิตย์ อัลติมา ทูเล กลับยังคงรูปเดิมอยู่มากที่สุด เนื่องจากเหมือนถูกแช่แข็งอยู่ในแถบไคเปอร์ ซึ่งเย็นจัด และอยู่ริมขอบด้านนอกสุดของระบบสุริยะ ตั้งแต่แรกเริ่ม

นั่นทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์ยึดถือว่า อัลติมา ทูเล เป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลา สำหรับการศึกษาหาเงื่อนงำเกี่ยวกับกำเนิดของระบบสุริยะ

สเติร์นยืนยันด้วยว่า ข้อมูลและภาพถ่ายที่ได้รับจากนิว ฮอไรซันส์ ในเวลานี้ เป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลทั้งหมดที่นิว ฮอไรซันส์สำรวจและเก็บไว้กับตัวค่อยๆ ทยอยส่งกลับมายังโลก ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีจึงจะสามารถได้รับข้อมูลทั้งหมดได้

แต่ถึงแม้จะได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว สเติร์นก็ยังเชื่อว่า ยังคงมีปริศนาอีกมากมายที่ อัลติมา ทูเล สามารถทำให้มนุษย์พิศวงได้อยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image