‘เหริน เจิ้งเฟย’ ในวันที่ ‘หัวเว่ย’ เจอวิกฤต

ในขณะที่บริษัท หัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากประเทศจีน กำลังเผชิญปัญหาด้านการเมืองอย่างหนัก จากการถูกบอยคอตจากหลายประเทศ เนื่องจากกังวลในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง รวมไปถึงการถูกสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าทำงานให้กับรัฐบาลจีน จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย และยังลุกลามไปถึงการที่แคนาดาจับกุมตัวนางเมิ่ง หวั่นโจว ประธานฝ่ายการเงินของหัวเว่ย และยังเป็นบุตรสาวของนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย ตามคำสั่งของสหรัฐ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มกราคม นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย ได้ฤกษ์ในการออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างประเทศที่เมืองเสิ่นเจิ้น โดยมีเนื้อหาสรุปดังนี้

ประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในเครือข่ายของลูกค้าหัวเว่ย

“กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ของเรามีการใช้งานในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก รองรับผู้ใช้งานกว่า 3 พันล้านรายทั่วโลก เรายังคงมีสถิติด้านความปลอดภัยที่ยอดเยี่ยม หัวเว่ยเป็นองค์กรธุรกิจที่เป็นอิสระ เมื่อพูดถึงเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เรายืนหยัดที่จะอยู่เคียงข้างลูกค้าของเรา โดยจะไม่ทำสิ่งที่เป็นภัยต่อประเทศหรือประชาชนคนใด นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศของจีนยังได้ชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า ไม่มีข้อกฎหมายใดของจีนที่บังคับให้บริษัทต้องสร้างช่องโหว่สำคัญในซอฟต์แวร์ หัวเว่ยและผมเองโดยส่วนตัวก็ไม่เคยได้รับคำขอใดๆ จากรัฐบาลเพื่อให้ส่งมอบข้อมูลโดยมิชอบ”

Advertisement

การพัฒนาเทคโนโลยี 5G

“สำหรับ 5G ปัจจุบัน เราได้ลงนามในสัญญาการใช้งานเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 30 ฉบับ และได้ส่งมอบสถานีฐาน 5G ไปแล้ว 25,000 สถานี เรามีสิทธิบัตร 5G ทั้งสิ้น 2,570 ฉบับ ผมเชื่อว่าตราบใดที่เรายังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ก็ย่อมมีลูกค้าที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา”

ในโลกนี้มีบริษัทที่พัฒนาอุปกรณ์โครงข่าย 5G อยู่หลายแห่ง แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่ได้นำเทคโนโลยีคลื่นไมโครเวฟมาใช้งาน ซึ่งหัวเว่ยก็เป็นบริษัทเพียงแห่งเดียวในโลกที่สามารถนำสถานีฐาน 5G มาใช้กับเทคโนโลยีไมโครเวฟที่มีความล้ำหน้ามากที่สุด ด้วยศักยภาพดังกล่าว สถานีฐาน 5G ของหัวเว่ยจึงไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟเบอร์ แต่สามารถใช้คลื่นไมโครเวฟระดับซุปเปอร์ฟาสต์เพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อแบนด์วิธแบบอัลตรา-ไวด์ (ultra-wide bandwidth backhaul) ซึ่งเป็นโซลูชั่นที่น่าสนใจและสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล เทคโนโลยีนี้ได้ผลดีที่สุดในพื้นที่ทุรกันดารที่มีประชากรบางเบา

Advertisement

ความสัมพันธ์กับลูกค้า

“การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางเป็นคุณค่าหลักในการดำเนินธุรกิจที่หัวเว่ยให้ความสำคัญเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เราจะไม่ทำอะไรก็ตามที่เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของลูกค้า การดำเนินงานของแอปเปิลเป็นตัวอย่างที่เรานำมาใช้เพื่อปรับปรุงการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และเราก็จะเรียนรู้จากแอปเปิล เราขอปิดกิจการของหัวเว่ยเสียดีกว่าหากต้องทำสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของลูกค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน”

งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ย

“การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในแต่ละปีของเรานั้นคิดเป็นมูลค่าราว 1.5-2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเราจะลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม บริษัทมหาชนอาจจะไม่มีการปฏิบัติในลักษณะนี้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เน้นไปที่การทำเอกสารให้ดูดี สำหรับหัวเว่ยนั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือโครงสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต ระบบการตัดสินใจของเราแตกต่างไปจากบริษัทมหาชนอื่นๆ ตรงที่เน้นความเรียบง่าย ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน โดยเราก็ยังคงมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลให้เป็นจริง”

“มูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาโดยเฉลี่ยของเรานั้นอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้หัวเว่ยติดอันดับ 5 บริษัทในบรรดาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลก เราได้รับอนุมัติสิทธิบัตรรวมทั้งหมด 87,805 ฉบับ สำหรับในสหรัฐเราได้จดทะเบียนสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีหลักรวม 11,152 ฉบับ และเป็นสมาชิกขององค์กรผู้กำหนดมาตรฐานกว่า 360 แห่งซึ่งเราได้นำเสนอโครงการต่างๆ กว่า 54,000 โครงการ”

ความเป็นเจ้าของในบริษัทหัวเว่ย

“เรามีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 96,768 คน และได้ดำเนินการโหวตเลือกผู้แทนพนักงานที่เป็นผู้ถือหุ้นจากทั่วโลกเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 12 มกราคม และเมื่อไม่กี่วันมานี้ตู้ส่งสารของเราจากสำนักงานทั่วโลกได้นำผลโหวตส่งมาที่เซิ่นเจิ้น และในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการคำนวณและรับรองความถูกต้องของผลโหวตบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้ผู้แทนพนักงานที่เป็นผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 115 คน โดยคณะกรรมการผู้แทนพนักงานซึ่งประกอบด้วยพนักงานทั้ง 115 คนนี้จะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจของหัวเว่ย โดยมีพนักงานที่เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 96,768 คนเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกัน

“จำนวนหุ้นทั้งหมดของหัวเว่ยที่ผมถืออยู่นั้นคิดเป็น 1.14% ส่วนสตีฟ จ็อบส์ ก็ถือหุ้นในแอปเปิลคิดเป็น 0.58% ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตหุ้นของผมจะลดลงได้อีก นั่นคือสิ่งที่ผมควรเรียนรู้จากสตีฟ จ็อบส์”

หลักธรรมาภิบาลของหัวเว่ย

คณะกรรมการของหัวเว่ยได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากหลักจริยธรรมเป็นหลัก คณะกรรมการนี้มีหน้าที่รับผิดชอบคือ หว่านเมล็ดพันธุ์และสร้างความเจริญงอกงามให้แก่ผืนดิน พวกเขาเหล่านี้มีบทบาทหลักในการนำพาบริษัทให้ก้าวไปข้างหน้า ความอาวุโสจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการเลือกคณะกรรมการบริษัท แต่เป็นความซื่อสัตย์ต่างหากที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานในการเลือกสมาชิกคณะกรรมการผู้กำกับดูแล

ปัจจุบัน เรามีประธานเจ้าหน้าที่บริหารหมุนเวียนตามวาระ 3 คน ซึ่งแต่ละคนจะดำรงตำแหน่งอยู่ในวาระคนละ 6 เดือน ในช่วง 6 เดือนที่ดำรงตำแหน่งนั้น ประธานแต่ละคนจะเป็นผู้นำสูงสุดของหัวเว่ย แต่ก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎของบริษัทด้วยเช่นกัน กฎที่ว่านี้ก็คือ หลักธรรมาภิบาลของเรานั่นเอง โดยที่อำนาจของประธานเจ้าหน้าที่หมุนเวียนตามวาระและรักษาการประธานต้องอยู่ภายใต้กลไกการตัดสินใจร่วมกันของบริษัท

สำหรับคณะกรรรมการบริหารประกอบด้วยผู้บริหารจำนวน 7 คน ซึ่งจะมีหน้าที่ลงมติและต้องได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ก่อนที่จะมีการนำเสนอการดำเนินการใดๆ ก็ตามเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการบริหาร และในการประชุมใหญ่ของคณะกรรรมการเราก็ต้องยึดตามหลักเสียงส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีการดำเนินการใดที่ถือเป็นมติจนกว่าจะผ่านการลงคะแนนเสียงหรือการตัดสินใจจากที่ประชุมใหญ่

ความสัมพันธ์กับสหรัฐ

“ข้อความที่ผมอยากจะบอกแก่สหรัฐ ก็คือ การร่วมมือและแบ่งปันความสำเร็จร่วมกัน ในโลกแห่งเทคโนโลยีอันทันสมัย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยลำพังเพียงคนเดียว”

ในยุคแห่งอุตสาหกรรม ประเทศเพียงประเทศเดียวอาจมีขีดความสามารถที่จำเป็นในการผลิตเครื่องทอผ้า รถไฟ หรือเรือได้อย่างเสร็จสรรพ แต่ปัจจุบันเราอยู่ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร และในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ความเป็นอิสระจากกันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ความเป็นอิสระนี้เองที่ผลักดันให้สังคมมนุษย์เราก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สังคมแห่งข้อมูลข่าวสารที่เราจะได้เห็นนั้นจะมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล และสำหรับโอกาสของการเป็นตลาดเดียวนั้น ก็ไม่อาจยั่งยืนหรือได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงแห่งเดียว แต่ต้องอาศัยความพยายามจากบริษัทนับพันหรือนับหมื่นแห่งในการทำงานร่วมกัน

“สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะคนคนหนึ่ง ผมก็ยังเชื่อว่าเขาเป็นประธานาธิบดีที่ยอดเยี่ยม ในแง่ที่ว่าเขากล้าที่จะหั่นมาตรการภาษี ผมคิดว่ามันมีส่วนช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในสหรัฐเติบโตก้าวหน้าไปได้”

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ที่จู่ๆ บริษัทอเมริกันก็ตัดสินใจไม่ซื้อโทรศัพท์หัวเว่ย ส่วนคนจีนบางส่วนก็พูดว่า เราก็ควรทำเช่นเดียวกับไอโฟนของแอปเปิลในจีนบ้าง ผมเห็นว่า รัฐบาลจีนไม่ควรใช้มาตรการเดียวกันนี้เพื่อตอบโต้บริษัทแอปเปิลในจีน เพราะไม่ว่าจะผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือนโยบายด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ รวมถึงการเปิดประเทศย่อมไม่ควรต้องมาอุทิศเพื่อประโยชน์ของหัวเว่ยแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้ในภาวะถดถอยที่เรากำลังเผชิญอยู่ในประเทศตะวันตก เราก็จะยังคงสนับสนุนประเทศจีนให้เปิดกว้างมากขึ้น ผมคิดว่า จีนจะสามารถรุ่งโรจน์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ก็ต่อเมื่อมีการเปิดประเทศมากขึ้น และก้าวไปข้างหน้าตามแผนปฏิรูปประเทศ” นายเหรินกล่าวในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image