‘มิสชันเครเดิล’ ภารกิจสร้าง ‘ทารกอวกาศ’ รายแรกของโลก

(ภาพ-Spacelife Origins)

หากเป้าหมายในลำดับต่อไปของมนุษยชาติ คือการออกเดินทางไปบุกเบิกอาณานิคมในห้วงอวกาศอันไกลโพ้น องค์ความรู้เกี่ยวกับการ “คลอด” ในสภาวะไร้น้ำหนักในห้วงอวกาศย่อมเป็นเรื่องจำเป็น ด้วยเหตุนี้ คีส์ มุลเดอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ สเปซไลฟ์ ออริจินส์ จึงรวบรวมเอาบรรดานักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเข้ามารวมตัวกันเพื่อภารกิจที่ถูกขนานนามว่า “มิสชันเครเดิล” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง “ทารกอวกาศ” ที่คลอดในห้วงอวกาศจริงๆ คนแรกของโลกขึ้นมา

หากภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ทารกคนแรกที่จะลืมตาขึ้นมาดูโลกในห้วงอวกาศ จะช่วยตอบคำถามและให้ความรู้เกี่ยวกับการคลอด กระบวนการสำคัญที่สุดในการสืบทอดสายพันธุ์มนุษยชาติ ในสภาวะไร้น้ำหนักในห้วงอวกาศได้ทั้งหมด

“มิสชันเครเดิล” กำหนดเวลาดำเนินภารกิจไว้ในปี 2024 และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเปิดเผยไว้มากมายนักในเว็บไซต์ของสเปซไลฟ์ ออริจินส์ เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการภารกิจนี้ แต่เท่าที่ปรากฏก็คือ ภารกิจสร้างทารกอวกาศรายแรกของโลก (และจักรวาล) จะเกี่ยวข้องกับการนำตัว “คุณแม่ที่ครรภ์แก่ใกล้คลอด” ขึ้นไปใช้ชีวิตในช่วงระยะเวลา 24-36 ชั่วโมง ถัดไปใน “สถานีอวกาศแห่งหนึ่ง” ในห้วงอวกาศ เหนือพื้นผิวโลกราว 400 กิโลเมตร พร้อมๆ กับ “ทีมแพทย์ระดับเวิลด์คลาสที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี”

ภารกิจของคุณแม่รายดังกล่าวก็คือ การคลอดลูกชายหรือหญิงออกมาโดยสวัสดิภาพในห้วงอวกาศ ก่อนที่เธอและลูกน้อยซึ่งจะกลายเป็นทารกรายแรกของโลกซึ่งคลอดออกมาในสภาพแวดล้อมของสถานีอวกาศดังกล่าวนั้นจะถูกนำตัวกลับคืนยังโลกเราต่อไป

Advertisement

สเปซไลฟ์ ออริจินส์ เพิ่มเติมเอาไว้ว่า กระบวนการทั้งหมด “ผ่านการเตรียมการและติดตามตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นไปได้ทั้งหมดลง” ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่ภายใต้องค์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับห้วงอวกาศ “ความเสี่ยงที่เป็นไปได้” นั้นก็ยังสูงมากอย่างยิ่ง ทั้งในความเป็นจริงและในจินตนาการของบุคคลทั่วไป

มีข้อกังขาที่มนุษย์ยัง “ไม่รู้” ตั้งแต่เริ่มแรกของกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ครั้งนี้เลยทีเดียว

Advertisement

นั่นเนื่องจากกระบวนการของ “มิสชันเครเดิล” นี้ เป็นการส่งคุณแม่ท้องแก่ใกล้คลอดขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ซึ่งเท่ากับว่าคุณแม่รายดังกล่าวจำเป็นต้องเผชิญกับ “แรงจี” มหาศาลขณะเดินทางออกจากโลกสู่สถานีอวกาศเพื่อคลอดทารกรายประวัติศาสตร์ดังกล่าวนั้น

“แรงจี” คือแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งโดยปกติแล้วมีอัตราเร่ง (แอคเซลเลอเรชัน) คงที่ เท่ากับ 9.8 เมตรต่อวินาทียกกำลัง 2 แต่ในกรณีที่เราทะยานขึ้นสู่อวกาศ แรงจีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลง “ความเร็ว” เพื่อใช้ในการหนีให้หลุดจากแรงโน้มถ่วงของโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โดยทั่วไปแล้วนักบินอวกาศที่เดินทางออกจากโลกด้วยจรวด จะเกิดแรงจีกระทำต่อร่างกายของมนุษย์อวกาศรายนั้นๆ เป็น 3 เท่าตัวจากแรงจีปกติ และอาจเพิ่มสูงกว่านั้นได้หากเกิดผิดปกติประการหนึ่งประการใดขึ้นกับการส่งจรวดดังกล่าวนั้น

จนถึงขณะนี้เรายังไม่มีความรู้ใดๆ ว่าแรงจีที่สูงกว่าปกติตั้งแต่ 3 เท่าขึ้นไปนั้น ส่งผลอย่างไรต่อทั้งตัวผู้เป็นมารดาที่ครรภ์แก่ใกล้คลอด และยิ่งไม่รู้มากขึ้นไปอีกว่า แรงจีระดับดังกล่าวส่งผลต่อตัวทารกในครรภ์อย่างไร

ถัดจากปัญหาดังกล่าวแล้ว เรายังไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อตัวผู้เป็นแม่และเด็กทารก ที่คลอดในสภาพไร้น้ำหนัก ซึ่งตัวผู้เป็นมารดาไม่มีแรงจี หรือแรงโน้มถ่วงยึดตัวอยู่กับเตียงคลอด ทำนองเดียวกันกับบรรดาหมอทำคลอดทั้งหลายที่ไม่ได้ยืนอยู่นิ่งๆ กับพื้นเช่นเดียวกัน

นั่นทำให้การคลอดในห้วงอวกาศสลับซับซ้อนสูงมาก นี่ยังไม่นับคำถามเกี่ยวกับน้ำคร่ำ และอื่นๆ ว่าจะผิดแผกไปจากปกติหรือไม่ และอย่างไรอีกด้วย

เว้นเสียแต่ว่าจะมีคุณแม่รายไหนอยากเสี่ยงเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ให้กับมนุษยชาติในครั้งนี้ด้วยเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image