เมื่อ…สมาร์ทโฟนหยุดโต!

(ภาพ-geralt/PIXABAY)

เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เกิดเหตุระดับ “ปรากฏการณ์” ขึ้นกับตลาดสมาร์ทโฟนโลก นั่นคือจำนวนขายเครื่องสมาร์ทโฟนรวมกันทั้งโลกยุติการเติบโตลง

ที่ต้องถือเป็นปรากฏการณ์ เพราะนี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมาร์ทโฟนเครื่องแรกเริ่มวางตลาดให้ได้เลือกซื้อหามาเป็นเจ้าของกันในปี 1994 หรือเมื่อ 24 ปีก่อน ที่ยอดขายลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ไอบีเอ็ม ยักษ์ใหญ่ในวงการอิเล็กทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์สัญชาติอเมริกัน เปิดตัวสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโลกออกมาในปี 1992 ใช้ชื่อ “ไซมอน เพอร์ซันแนล คอมมูนิเคเตอร์” หน้าจอแอลซีดี โมโนโครม ระบบสัมผัส แต่กว่าจะวางจำหน่ายได้จริงๆ ก็อีก 2 ปีต่อมาดังกล่าว

แต่พอวางขายได้ก็เหมือนติดปีก เพียงแค่ 6 เดือนแรก ก็ขายได้ 50,000 เครื่อง ทั้งๆ ที่สนนราคาสูงถึงเครื่องละ 1,100 ดอลลาร์ หรือราว 34,400 บาท (ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน)

Advertisement

ชาร์จประจุเต็มที่ 1 ครั้ง ใช้งานได้ 1 ชั่วโมง เท่านั้นเอง

จาก “ไซมอน” วิวัฒนาการมาเป็นสมาร์ทโฟน หน้าจอสัมผัสสี่สี คมชัด เหมือนอย่างที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้

ที่น่าสนใจก็คือ ตลอด 24 หรือ 26 ปีที่ว่านั้น ไม่เคยมีแม้แต่ปีเดียวที่ยอดขายสมาร์ทโฟนโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการไอโอเอส หรือแอนดรอยด์ มียอดขายลดลงกว่าเมื่อปีก่อนหน้านั้น ยกเว้นในปี 2018 ที่ผ่านมา รายงานสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาด 2 บริษัท ที่เผยแพร่ออกมาในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมนี้อย่างสแตรเทจี แอนาลิติคส์ และเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช บ่งบอกไว้เช่นนั้น

Advertisement

นีล มอว์สตัน ผู้อำนวยการบริหารของสแตรเทจี แอนาลิติคส์ ถึงกับยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นหมุดหมายที่เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของโลก แม้ว่าโดยรวมแล้วผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยังสามารถขายผลิตภัณฑ์ของตนเองได้นับเป็นล้านๆ เครื่องก็ตามที

เฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี ยอดขายก็มากถึง 376 ล้านเครื่อง ทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนตลอดทั้งปีสูงถึง 1,430 ล้านเครื่อง แต่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งยอดขายรวมมากถึง 1,510 ล้านเครื่อง ก็เป็นที่ชัดเจนว่าปี 2018 ที่ผ่านมา ยอดขายสมาร์ทโฟนลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ ไม่มากมายนักแต่ก็ลดลง

ข้อมูลที่น่าคิดก็คือ ซัมซุง กับแอปเปิล ขายสมาร์ทโฟนของตัวเองได้น้อยลงในปีที่ผ่านมา สำหรับซัมซุงนั้น ข้อมูลของสแตรเทจี แอนาลิติคส์ ระบุเอาไว้ว่าทำยอดขายไว้ที่ 317.5 ล้านเครื่องในปี 2017 แต่พอถึงปีที่ผ่านมา ยอดขายกลับลดลงมาอยู่ที่ 291.3 ล้านเครื่อง ในขณะที่แอปเปิล ขายไอโฟนได้ 215.8 ล้านเครื่องในปี 2017 กลับทำยอดขายได้เพียง 206.3 ล้านเครื่องในปี 2018 เท่านั้นเอง

แต่ทิศทางกลับไม่ได้เป็นเช่นเดียวกันในทุกบริษัท ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกลำดับถัดๆ มา ทั้ง หัวเว่ย และ เสี่ยวหมี่ ที่อยู่ในอันดับ 3 และ 4 กลับมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น และขายสมาร์ทโฟนในปี 2018 ได้มากกว่าในปี 2017

หัวเว่ย ขยายตัวสูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 ทำยอดขายรวมไว้ที่ 205.8 ล้านเครื่อง ไล่จี้แอปเปิลมาติดๆ นักวิเคราะห์ของสแตรเทจี แอนาลิติคส์ ถึงกับแสดงความเชื่อมั่นว่า หัวเว่ยจะแซงหน้าแอปเปิลขึ้นเป็นผู้ผลิตใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้ภายในปีนี้ ในขณะที่เสี่ยวหมี่ ที่เคยขายสมาร์ทโฟนได้ 91 ล้านเครื่องในปี 2017 สามารถทำยอดขายในปี 2018 ที่ผ่านมาได้ถึง 119 ล้านเครื่อง

ลินดา สุ่ย ผู้อำนวยการอีกคนของสแตรเทจี แอนาลิติคส์ ชี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมส่งผลกระทบต่อยอดขายสมาร์ทโฟนในปีที่แล้วอยู่แล้ว แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ราคาสมาร์ทโฟนของยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง และ ไอโฟน ก็สูงขึ้นมากสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ คือเหตุผลสำคัญที่เป็นสาเหตุหลัก ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ลองเกอร์ รีเพลซเมนท์ เรต” คือบรรดาผู้ใช้เริ่มทู่ซี้ใช้งานสมาร์ทโฟนของตนยาวนานขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน การที่เทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนพัฒนามาจนถึงระดับหนึ่งจนยากที่จะหาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกทึ่งจนต้องร้อง “โอ้โห” หรือ “ว้าว” กันจริงๆ ก็ส่งผลให้ความอยากในการเปลี่ยนเครื่องใหม่ลดน้อยลงเช่นเดียวกัน

คำถามสำคัญถัดมาคือ ในปี 2019 นี้ สมาร์ทโฟนจะใช้อะไรดึงดูดใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจหันมาซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ใช้กัน?

ทารัน พาแทค ผู้อำนวยการของเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช ชี้ว่า ผู้ผลิตน่าจะต้องคำนึงถึงนวัตกรรมเชิงการออกแบบ, การพัฒนาหน้าจอให้อยู่ในแบบ “ฟุลสกรีน ดิสเพลย์” ไม่มีขอบ ไม่มีปุ่ม อีกต่อไป, กล้องจะถูกซ่อนอยู่ใต้หน้าจอที่ว่านั้น ซึ่งในแวดวงเรียกกันในเวลานี้ว่าเป็น “พันช์-โฮล คาเมรา” และ หน้าจอพับได้เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือการมาถึงของยุค 5จี ที่ผลักดันให้ต้องเปลี่ยนสมาร์ทโฟนกันใหม่อีกระลอกนั่นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image