รายงาน “นาซา” แจงที่มา”โอมูอามูอา”

(ภาพ-kellepics via Pixabay)

“โอมูอามูอา” ซึ่งเป็นวัตถุระหว่างดวงดาว (อินเตอร์สเตลลา) จากนอกระบบสุริยะดวงแรกที่นักดาราศาสตร์ตรวจสอบพบได้ขณะเดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเราเมื่อเดือนตุลาคมปี 2017 แม้จะคาดกันว่ายังคงมีอีกเป็นเรือนพันที่ผ่านเข้ามาเช่นเดียวกันแต่นักดาราศาสตร์ไม่ได้พบเห็นก็ตาม และนับตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนถึงขณะนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ยังถกกันไม่ได้ข้อยุติว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ระหว่างดาวเคราะห์น้อย, ดาวหาง เรื่อยไปจนถึง เศษชิ้นส่วนที่แตกออกมาจากดาวเคราะห์รวมทั้งข้ออธิบายที่มีแนวโน้มเป็นไปได้น้อยที่สุดนั่นคือ เป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว

รายงานชิ้นใหม่ของ ซเดเน็ค เซคานีนา นักดารา ศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการ เจท โพรพัลชัน ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ซึ่งเผยแพร่ผ่าน “อาร์ซิฟ” เว็บไซต์เผยแพร่งานวิจัยก่อนตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ ให้คำอธิบายถึงที่มาและลักษณะของ “โอมูอามูอา” ใหม่อีกครั้ง และดูเหมือนจะเป็นการวนกลับไปหาคำอธิบายดั้งเดิม นั่นคือจริงๆ แล้ว โอมูอา มูอา ก็เป็นดาวหางดวงหนึ่ง เหมือนกับดาวหางอีกเป็นจำนวนมากที่เดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะ แต่เกิดเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของมันไปในระหว่างที่เข้ามาอยู่ในระบบสุริยะเพียงชั่วขณะเท่านั้นเอง

เซคานีนาชี้ว่า นักดาราศาสตร์พบเห็นโอมูอามูอาเอาเมื่อตอนที่มันกำลังจะผ่านออกไปจากพื้นที่ใกล้เคียงโลกแล้วเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นซึ่งดูออกเป็นสีแดง ยาว และเรียวบาง อาจไม่ใช่รูปลักษณ์ดั้งเดิมที่มันเคยมี

รายงานชิ้นนี้เทียบเคียงโอมูอามูอาเข้ากับดาวหาง ที่เห็นได้จางๆ กว่ามากแต่ก็เป็นลักษณะที่คุ้นเคยกันดีของนักดาราศาสตร์เพราะพบเห็นกันบ่อยๆ ดาวหางที่เห็นเลือนรางกว่านี้เมื่อเดินทางเข้ามาอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะทางราว 1 ใน 4 ของระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ (ราว 1 ใน 4 ของ 93 ล้านไมล์) มันจะไม่สามารถอยู่รอดเหมือนเดิมต่อไปได้ และไม่ได้ “ตาย” แบบเงียบๆ อีกด้วย แต่จะเกิดการ “เอาท์เบิร์สท์” หรือการ “ระเบิดออก” เหมือนการปะทุของดอกไม้ไฟที่ทำให้มันไม่สามารถเป็นชิ้นเดียวอยู่ได้อีกต่อไป

Advertisement

เซคานีนาเสนอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับดาวหาง ซี/2017 เอส3 (หรือ แพน-สตารร์ส) ซึ่งคืบคลานเข้ามาในระบบสุริยะจากกลุ่มเมฆออร์ต (ชั้นเมฆอวกาศที่รายล้อมอยู่โดยรอบด้านนอกระบบสุริยะ) ดาวหางดวงนี้เกิดการระเบิดออกเช่นนี้ถึง 2 ครั้งก่อนกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นักสังเกตการณ์เคยได้ข้อมูลแปลกๆ ว่าส่วนที่หลงเหลือของดาวหางดวงนี้กลายเป็น “มวลนุ่มๆ ขนาดมหึมาที่เกิดจากการรวมตัวของเม็ดธุลี” ที่เกิดจากการระเบิดก่อนที่จะบรรลุถึงระยะประชิดดวงอาทิตย์มากที่สุด

ข้อสันนิษฐานของเซคานีนา ก็คือ โอมูอามูอาที่ถูกนักดาราศาสตร์ตรวจสอบพบนั้น ไม่ได้เป็นวัตถุแน่นหนาที่มีมวลแข็งเป็นก้อนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเพียงกลุ่มก้อนของเศษซากที่จับตัวอยู่ด้วยกันหลังจากเกิดการเอาท์เบิร์สท์ดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่นักดาราศาสตร์คนหนึ่งคนใดจะตรวจสอบพบ

ทำให้รูปลักษณ์ของมันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image