ชี้ขั้วเหนือแม่เหล็กโลก เคลื่อนที่เร็วเกินคาด

คณะนักวิทยาศาสตร์ประจำ “เวิลด์ แม็กเนติค โมเดล” หน่วยงานซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งอังกฤษ (บีจีเอส) และองค์การบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ (โนอา) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อทำหน้าที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงของขั้วสนามแม่เหล็กโลก เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลก เคลื่อนไปจากจุดเดิมเร็วกว่าที่คิดกันก่อนหน้านี้มาก ส่งผลให้เวิลด์ แม็กเนติค โมเดล จำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของขั้วเหนือสนามแม่เหล็กโลกเร็วกว่าที่คิดไว้เกือบ 1 ปี

หน่วยงานซึ่งเกิดจากความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ของ 2 ประเทศ มีกำหนดต้องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกในทุกๆ 5 ปี กำหนดหลังสุดจะมีขึ้นในราวปลายปี 2019 นี้ แต่การเคลื่อนออกไปจากตำแหน่งเดิมเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ ทำให้จำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งใหม่ของขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เร็วกว่าที่กำหนดไว้เดิมมาก เนื่องจากตำแหน่งที่ชัดเจนของขั้วเหนือสนามแม่เหล็กโลก จะส่งผลถึงระบบนำร่องของเรือสินค้า เครื่องบินพาณิชย์ และเรือดำน้ำในบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก นั่นเอง

ทีมวิจัยที่นำโดยอาร์โนด์ ชูลเลียท นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ในเมืองโบลเดอร์ สหรัฐอเมริกา ตรวจสอบพบว่า ขณะนี้ขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 55 กิโลเมตรต่อปีทุกปี ทำให้จุดที่เคยเป็นที่ตั้งของขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกเมื่อ 100 ปีก่อนซึ่งอยู่ใกล้กับชายฝั่งตอนเหนือของประเทศแคนาดา ในตอนนี้กลับเคลื่อนข้ามเส้นแบ่งเขตวันสากล ซึ่งเป็นเส้นสมมุติที่ลากจากขั้วโลกเหนือสู่ขั้วโลกใต้ไปแล้วเมื่อปี 2017 โดยเคลื่อนไปอยู่ที่บริเวณตอนกลางมหาสมุทรอาร์กติกและกำลังเคลื่อนไปทางตะวันออกเข้าหาประเทศรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ

ชูลเลียทบอกว่า แม้ว่าการเดินเรือและสายการบินส่วนใหญ่ในเวลานี้ อาศัยระบบกำหนดตำแหน่งผ่านดาวเทียม หรือจีพีเอส เป็นหลักในการนำร่อง แต่ขั้วเหนือของแม่เหล็กโลกยังคงสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนั้น กองทัพสหรัฐเองยังจำเป็นต้องรู้ตำแหน่งขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลก เพื่อการนำร่องและการทิ้งร่มชูชีพ เช่นเดียวกับที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา), องค์การการบินพลเรือน และสำนักงานป่าไม้ของสหรัฐอเมริกาก็นำข้อมูลนี้ไปใช้งานเช่นเดียวกัน

Advertisement

เคียแรน เบ็กแกน นักวิทยาศาสตร์ประจำบีจีเอส ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 1900 เรื่อยมาจนถึงปี 1980 ขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกไม่ค่อยเคลื่อนที่มากนัก เพิ่งจะมาเคลื่อนตำแหน่งในระดับที่เร็วขึ้นมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานี่เอง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 1831 เมื่อมีการสำรวจตำแหน่งขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกเป็นครั้งแรกมาจนถึงขณะนี้นั้น ขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกเคลื่อนที่จากเดิมไปทางไซบีเรียของรัสเซียแล้ว 2,300 กิโลเมตร ระดับความเร็วของการเคลื่อน เพิ่มจากราว 15 กิโลเมตรต่อปี มาเป็น 55 กิโลเมตรต่อปีมานับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

แดเนียล ลาทร็อป นักธรณีฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ระบุว่า การเคลื่อนที่ของขั้วสนามแม่เหล็กโลก เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของแกนโลกชั้นนอก ซึ่งมีสภาพเป็นของเหลวและมีองค์ประกอบเป็นเหล็กและนิกเกิล มหาสมุทรเหล็กหลอมเหลวบริเวณแกนกลางชั้นนอกของโลกนี่เองที่ก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กโลกขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นของแกนโลกชั้นนอกดังกล่าวนี้ก็เป็นผลให้ขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกเคลื่อนเร็วขึ้นตามไปด้วย

Advertisement

การเคลื่อนที่ของขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกดังกล่าวส่งผลให้เกิดการสลับขั้วของขั้วแม่เหล็กโลกมาแล้วหลายครั้งในอดีต แต่ทิ้งช่วงไม่เคยเกิดขึ้นเลยในช่วง 780,000 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ลาทร็อประบุว่า การสลับขั้ว กลับขั้วเหนือเป็นขั้วใต้ดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดเท่านั้นเอง

ช่วงระยะเวลาที่ใช้สำหรับการสลับจากขั้วเหนือไปเป็นขั้วใต้และขั้วใต้กลับเป็นขั้วเหนือนั้น กินระยะเวลานานถึง 1,000 ปี หรือมากกว่านั้นจึงจะส่งผลให้เห็นชัดเจน

ลาทร็อปเชื่อว่าการสลับขั้วครั้งใหม่น่าจะมาถึงเร็วกว่าที่คิดกัน ไม่ใช่ช้ากว่าที่คาดหมายกันไว้ เพราะสนามแม่เหล็กโลก กำลังอ่อนกำลังลงให้เห็นในเวลานี้ และชี้ให้เห็นว่า ในพื้นที่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ในเวลานี้ ก็เกิดการสลับขั้วกันขึ้นแล้ว เพียงแต่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวโลกเท่านั้น

การสลับขั้วดังกล่าวจะเป็นปัญหามากสำหรับนกอพยพ ซึ่งใช้สนามแม่เหล็กโลกในการกำหนดทิศทาง ในส่วนของมนุษย์นั้น การที่สนามแม่เหล็กโลกอ่อนแอลงระหว่างกระบวนการกลับขั้วจะส่งผลมากต่อนักบินอวกาศ และโดยรวมแล้วจะไม่ส่งผลดีต่อมนุษย์เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกทำหน้าที่เป็นเกราะปกป้องโลกจากการแผ่รังสีที่เป็นอันตรายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เบ็กแกนชี้ว่า การเคลื่อนที่ของขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกเมื่อเร็วๆ นี้นั้น คนทั่วไปไม่สามารถสังเกตได้ ยกเว้นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือ

เช่นเดียวกับระบบนำร่องของสมาร์ทโฟน และในรถยนต์ต่างๆ ก็ไม่ได้พึ่งพาขั้วสนามแม่เหล็กโลกโดยตรง แต่ใช้คลื่นวิทยุจากดาวเทียมเหนือผิวโลกเป็นหลักในการกำหนดตำแหน่ง จึงไม่มีผลกระทบใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image