หัวเว่ยย้ำ 5G สร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

5G จะสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ยกล่าวในระหว่างการสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลน่า วานนี้

มร. เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เมืองบาร์เซโลน่า ระหว่างงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส 2019

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีจีดีพีเติบโตเร็วที่สุดราว 5-6% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะมีเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนหลักราว 20%” มร. เจมส์ อู๋ ประธานบริหารหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “เรามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรของเรา เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลขึ้นมา”

มร. อู๋ คาดการณ์ว่าการใช้เทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ อินเดีย ไทย และเวียดนามจะเริ่มขึ้นได้เร็วในปี 2563 และในอีก 5 ปีข้างหน้า ภูมิภาคนี้จะมีผู้ใช้ 5G สูงถึง 80 ล้านราย ทั้งอุปกรณ์ไร้สาย ดิจิทัลและอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ จะทำให้ผลิตภาพทางสังคมดีขึ้นเฉลี่ย 4-8%

Advertisement

ตามที่ประธานบริหารประจำภูมิภาคกล่าว บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอซีทีได้รับคำเชิญจากหลายประเทศและลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคให้เข้าร่วมการทดสอบ 5G มร. อู๋ เผยว่า หัวเว่ยได้ลงทุนงบประมาณราว 160 ล้านบาทเพื่อจัดการทดสอบ 5G ในประเทศไทย และอุปกรณ์ 5G ต่างๆ ที่พร้อมสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ก็ได้มาถึงประเทศไทยแล้วเพื่อเข้าร่วมการทดสอบ

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดเกิดใหม่ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่เชื่อมโยงนวัตกรรมและธุรกิจเข้าด้วยกัน เรากำลังพยายามอย่างดีที่สุดที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและวิสัยทัศน์ความเป็นอัจฉริยะผ่านนวัตกรรม” มร. อู๋ กล่าว

ตลาดในภูมิภาคนี้ อาทิ ประเทศไทย มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาด้านไอซีทีของไอทียูในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของตลาดเกิดใหม่ในการเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และแน่นอนว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีจะเป็นส่วนประกอบหลักของการเปลี่ยนผ่านนี้

Advertisement

ในปี 2561 หัวเว่ยได้พัฒนาโซลูชันเสาสัญญาณ “Bangkok Platform” ขึ้น ซึ่งออกแบบมาเป็นการเฉพาะสำหรับบริการ LTE ที่มีความหนาแน่นสูง ความเร็วสูง และการเติบโตรวดเร็ว และใช้ CloudAir ช่วยแก้ปัญหาต้นทุนสูงและการใช้คลื่นความถี่ LTE ที่มีอัตราต่ำ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ช่วยเพิ่มแบนด์วิธให้มากขึ้นได้ถึงร้อยละ 40 และช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานให้ดียิ่งขึ้น ในประเทศอินเดีย หัวเว่ยได้แนะนำให้ใช้คลื่นไมโครเวฟกับเทคโนโลยี 5G ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสเปคตรัมการส่งข้อมูลแบบไร้สายให้เพิ่มขึ้นได้เท่าตัว

“ผมเชื่อว่าปี 2562 จะเป็นปีที่สำคัญยิ่งสำหรับ 5G ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวเว่ยในฐานะผู้จำหน่ายเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายในภูมิภาคทำฝันเรื่อง 5G ให้เป็นจริง เราจะลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้าน 5G, บรอดแบนด์, คลาวด์, ปัญญาประดิษฐ์ และสมาร์ทดีไวซ์ เพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้ได้มากที่สุด”

หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 ที่ประเทศจีน และก้าวขึ้นเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในปี 2561 รายได้ของหัวเว่ยคาดว่าจะสูงถึง 1.085 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อนหน้า สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวเว่ยก็เติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน โดยธุรกิจคอนซูเมอร์ของหัวเว่ยในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 42 มุ่งสู่ดิจิทัล ไม่ใช่การเมือง

ตั้งแต่ปีที่แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายจากสหรัฐฯ ที่พยายามกระตุ้นประเทศพันธมิตรต่างๆ ให้กีดกันหัวเว่ยจากโครงการพัฒนา 5G โดยอ้างว่าเทคโนโลยีของบริษัทนั้นอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศและผู้ใช้ ซึ่งหัวเว่ยได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ว่าเทคโนโลยีของบริษัทอาจจะใช้เพื่อการสอดแนมข้อมูล และจนขณะนี้ก็ยังไม่มีการแสดงหลักฐานใดๆ เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับข้อกล่าวหา มร. เจมส์ อู๋ ได้กล่าวว่า “โดยส่วนตัวแล้วเขาไม้ได้กังวลกับเรื่องนี้” และรู้สึกซาบซึ้งใจสำหรับการสนับสนุนของลูกค้า

“ทุกประเทศไม่ควรจะใช้ 5G มาเป็นประเด็นทางการเมือง” มร. อู๋ กล่าว “เราก็พิสูจน์ตัวเองด้วยสถิติความปลอดภัยทางไซเบอร์ 20 ปีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับทุกรัฐบาลและทุกคนว่าหัวเว่ยนั้นสามารถเชื่อใจได้ ผมมั่นใจว่าพวกเขามีคำตัดสินที่ชัดเจน ในฐานะตลาดเกิดใหม่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องร่วมมือกับผู้จำหน่ายเทคโนโลยีไอซีทีต่างๆ ที่สามารถมีส่วนร่วมในแต่ละประเทศได้เต็มที่จริงๆ”

หัวเว่ยได้มีการลงทุนใน 5G มานานกว่า 10 ปีแล้ว และได้รับการยอมรับว่าเทคโนโลยีของหัวเว่ยนั้นก้าวล้ำนำหน้าในตลาด 12-18 เดือน ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมได้แย้งว่าการแบนหัวเว่ยออกจากการพัฒนา 5G อาจจะทำให้การพัฒนาโครงข่ายทั้งหมดล่าช้าออกไป

“เทคโนโลยี 5G เป็นการพัฒนาต่อจาก 4G ทางด้านสถาปัตยกรรมด้านความปลอดภัย ที่เกิดจากการทำงานร่วมแรงร่วมใจกันของผู้เชี่ยวชาญหลายร้อยคนจากบริษัทและหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ในกลุ่มทำงานด้านความปลอดภัย 3GPP ซึ่งขณะนี้เรามีกลไกรับรองสถาปัตยกรรมด้านความปลอดภัยเป็นลำดับชั้นสำหรับการรับส่งดาต้า ข้อมูลของผู้ใช้ และแอพพลิเคชั่นของผู้ใช้ ซึ่งจะรับประกันความปลอดภัยจากทางด้านกลไกได้สมบูรณ์แบบ”

ในรายงานล่าสุด สหราชอาณาจักรได้สรุปว่าความเสี่ยงต่างๆ จากอุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยนั้นสามารถควบคุมให้ลดน้อยลงได้

“ผมเชื่อว่า ทางเลือกที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ดีที่สุดและฉลาดที่สุดคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้จำหน่ายทุกรายสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม หัวเว่ยยินดีที่จะแข่งขัน เพราะจะนำไปสู่การลงทุนด้านโครงสร้าง 5G ที่มีประสิทธิภาพที่สุด และจะเกิดประโยชน์กับสาธารณชนโดยรวมในทุกประเทศ คำแนะนำของผมคือ การมุ่งหน้าสู่ดิจิทัล ไม่ใช่การเมือง และนี่ก็เป็นทางเลือกที่จะสามารถรองรับความสนใจของทุกภาคส่วน” มร. อู๋ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image