‘ฮาร์บิงเกอร์ ออฟ ดูม’ ต้นตระกูล’ที.เร็กซ์

REUTERS

ทีมสำรวจทางบรรพชีวินวิทยา นำโดย เทอร์รี เกตส์ นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา และ ลินด์เซย์ แซนโน จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งนอร์ธแคโรไลนา เปิดเผยเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ว่า ได้ค้นพบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ชนิดใหม่จากแหล่งขุดค้นบริเวณตอนกลางของรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

ไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่ดังกล่าวเป็นไดโนเสาร์ในตระกูล “ไทรันโนซอร์” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไดโนเสาร์กินเนื้อที่รู้จักกันดีมากที่สุดเพราะความโด่งดังของ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ หรือเจ้า ที.เร็กซ์ เจ้าของร่างมหึมาขนาด 7 ตัน ยาวกว่า 13 เมตร ที่ดุร้ายจนกลายเป็นสัตว์กินเนื้อที่ครองตำแหน่งยอดสุดของห่วงโซ่อาหารของโลกเมื่อราว 30 ล้านปีก่อน

แต่ไทรันโนซอร์ที่ค้นพบใหม่นี้มีขนาดเล็กมากแม้เมื่อเทียบกับไดโนเสาร์ทั่วๆ ไป ขนาดตัวยาวราวๆ 3 เมตร หนักเพียงแค่ 78 กิโลกรัม มีฝีเท้าว่องไวปราดเปรียว มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่ายุคครีเทเซียส ซึ่งย้อนหลังไปเก่าแก่กว่ายุคที.เร็กซ์ ครองโลกมาก กล่าวคือย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 96 ล้านปีมาแล้ว

ทีมสำรวจให้ชื่อมันว่า “โมรอส อินเทรพิดุส” ให้ฉายาว่า “ฮาร์บิงเกอร์ ออฟ ดูม” ซึ่งหมายความ “ผู้นำมาซึ่งคำพิพากษา” ที่เชื่อว่าต่อมาวิวัฒนาการเป็น “ที.เร็กซ์” นั่นเอง

Advertisement

เทอร์รี เกตส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในยุคครีเทเซียสนั้น มีไดโนเสาร์กินเนื้ออยู่ 2 ชนิด นอกจากโมรอสแล้ว ยังมีอีกชนิดหนึ่งที่ใหญ่โตกว่ามาก คือ “ไซอัทส์ มีเคอร์โอรัม” ไดโนเสาร์ในตระกูล อัลโลซอร์ ซึ่งเมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง 12 เมตร น้ำหนักราว 4 ตัน ทำให้สามารถครองความเป็นเจ้าแห่งสัตว์นักล่ากินเนื้อแห่งภาคพื้นอเมริกาเหนืออยู่ยาวนานนับสิบล้านปีต่อมา

ส่วนโมรอส จัดเป็นนักล่าขนาดเล็ก ที่อยู่ในอันดับรองๆ ลงมาเท่านั้นเอง

“ถ้าจะพูดกันสั้นๆ ในแง่ของวิวัฒนาการแล้ว โมรอสกับไซอัทส์ ก็เปรียบได้เหมือนเดวิดกับ โกไลแอทนั่นเอง แต่เอาเข้าจริงปรากฏว่าเดวิดที่ตัวเล็กกว่ามากอย่างโมรอสสามารถเอาตัวรอดได้จากการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของภูมิประเทศ ที่ปรับเปลี่ยนไปรุนแรงมากในช่วงเวลานั้นทั้งบนเทือกเขาเรื่อยไปจนถึงเรื่องของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้ อัลโลซอร์ ยักษ์ใหญ่อย่าง ไซอัทส์ ต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด”

เมื่อสิ้นยุคของ ไซอัทส์ ยักษ์ใหญ่นักล่าของยุคนั้นก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้ ไทรันโนซอร์ ขนาดเล็กทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมรอส อินเทรพิดุส สามารถวิวัฒนาการเติบใหญ่ได้เรื่อยไม่จำกัดอีกต่อไป จนกลายเป็นนักล่ากินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคพื้นอเมริกาเหนืออย่าง ที. เร็กซ์ ในอีกราว 30 ล้านปีต่อมานั่นเอง

ไทรันโนซอร์ มีต้นกำเนิดอยู่ในภาคพื้นเอเชีย ก่อนที่จะอพยพเข้าไปยังอเมริกาเหนือ และวิวัฒนาการขึ้นจนถึงจุดสูงสุดที่นั่น แต่มีการค้นพบซากฟอสซิลที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการดังกล่าวเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นเอง รวมทั้งซากฟอสซิล โมรอส ที่ค้นพบใหม่ครั้งนี้ ซึ่งมีการค้นพบเพียงบางส่วน คือกระดูกขา และกระดูกฟันบางส่วน ของโมรอสตัวหนึ่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุเพียง 7 ปี เกือบโตเต็มที่แล้ว

ทีมสำรวจไม่ได้ค้นพบฟอสซิลขนของโมรอส แต่ตั้งสมมุติฐานเอาไว้ว่า บางส่วนโดยเฉพาะตามแนวสันหลังน่าจะมีขนปกคลุมอยู่ เหมือนกับไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์

เทอร์รี เกตส์ ระบุว่า เมื่อโตเต็มที่และยืนตรงบนสองขา หลังของโมรอสจะอยู่ที่ระดับแถวๆ สะโพกของเรา พอๆ กับสุนัขเกรทเดนขนาด 3 เมตร ที่มีขนปกคลุมเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image