จีนเล็งทำ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ ผลิตไฟฟ้าจากห้วงอวกาศ

(ภาพ-NASA/Artemis Innovation Management Solutions LLC)

นักวิทยาศาสตร์ทั้งของสหรัฐอเมริกาและจีน เห็นตรงกันว่า พลังงานแสงอาทิตย์จากห้วงอวกาศจะกลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับมนุษยชาติเพื่อตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นมหาศาลในอีกราว 50 ปีข้างหน้านี้ แต่ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาระบบถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว จีนกลับก้าวหน้าไปอีกก้าวหนึ่งด้วยการประกาศแผนการสร้างสถานีพลังงานไฟฟ้าขึ้นในวงโคจรของโลก เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งกลับมายังโลกให้ได้ภายในปี 2050 นี้

ข้อได้เปรียบอย่างมากของสถานีผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในห้วงอวกาศ ก็คือในห้วงอวกาศมีแสงแดดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่มีฤดูกาล และไม่มีเมฆบดบัง ทำให้การผลิตทำได้ต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ความยุ่งยากอยู่ที่การพัฒนาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์สำหรับใช้รับแสงแล้วเปลี่ยนให้เป็นกระแสไฟฟ้า รวมถึงต้องหาวิธีการไร้สายในจัดส่งพลังงานที่ผลิตได้ในห้วงอวกาศกลับคืนมายังพื้นโลก นอกเหนือจากการคิดค้นหาวิธีการจัดส่งหรือประกอบชิ้นส่วนของสถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ดังกล่าวในวงโคจรรอบโลกแล้ว

หนังสือพิมพ์ไชนาเดลีของจีนรายงานเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาระบุว่า จีนได้ก่อสร้างอาคารเพื่อการทดลองระบบตามแนวคิดนี้ขึ้นแล้วที่เมืองฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อทดสอบหาวิธีการที่ดีที่สุดในการส่งพลังงานจากวงโคจรในห้วงอวกาศรอบโลก แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอื่นใดของแผนการดังกล่าวต่อสาธารณะแต่อย่างใด

แนวคิดผลิตไฟฟ้าในห้วงอวกาศนี้มีมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1970 ในสหรัฐอเมริกาเองเคยมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้โดยนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ก่อนที่จะยกเลิกโครงการไปในทศวรรษ 1990 เนื่องจากระบบมีความซับซ้อนมากเกินไป แต่เมื่อโซลาร์เซลล์หรือเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์พัฒนาศักยภาพมากขึ้นในขณะที่ระบบการถ่ายทอดสัญญาณไร้สายก็รุดหน้ามากยิ่งขึ้น ความคิดดังกล่าวนี้ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมใหม่อีกครั้ง

Advertisement

จอห์น แมนคินส์ นักฟิสิกส์อเมริกันที่เคยเป็นหัวหน้าคณะศึกษาวิจัยของนาซา เปิดเผยว่า ทางหนึ่งที่จะผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดในห้วงอวกาศก็คือการส่ง “ฝูงดาวเทียม” นับหมื่นดวงขึ้นสู่วงโคจร แต่ละดวงจะเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อยู่ประจำในตำแหน่งที่ทำให้ฝูงดาวเทียมเรียงตัวกันเป็นรูปกรวย ที่ระดับความสูงราว 35,400 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก แต่ละดวงจะถูกเคลือบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้าที่ได้จะถูกเปลี่ยนอีกครั้งให้อยู่ในรูปของพลังงานไมโครเวฟ แล้วยิงเป็นลำลงมายังสถานีรับภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเครือข่ายสายไฟฟ้าขนาดมหึมา ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 6.4 กิโลเมตร ซึ่งเหมาะที่จะติดตั้งไว้เหนือทะเลสาบหรือพื้นที่รกร้างในทะเลทราย เพื่อเปลี่ยนพลังงานไมโครเวฟกลับเป็นไฟฟ้าแล้วแจกจ่ายไปตามเครือข่ายอีกต่อหนึ่ง

แมนคินส์เชื่อว่า ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศดังกล่าวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 2,000 กิกะวัตต์ต่อเนื่องตลอดเวลา

เทียบกับสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนโลกที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 1.8 กิกะวัตต์เท่านั้นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image