สงคราม5จี ‘หัวเว่ย’ VS สหรัฐอเมริกา

ในงานโมบายล์ เวิลด์คองเกรส ที่นครบาร์เซโลนา เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หัวเว่ยเผยโฉมชิป “บาลอง 5จี01” ชิปสำหรับ โมบายล์ฮอตสปอต ซึ่งเป็นชิป 5จี ตัวแรกของบริษัทที่รองรับการสื่อสารไร้สายยุค 5จี ตามมาตรฐานใหม่ของ 3จีพีพี องค์กรพันธมิตรที่ทำหน้าที่กำหนดและควบคุมมาตรฐานของอุปกรณ์การสื่อสารไร้สายในระบบเซลลูลาร์

การเปิดตัวชิปที่ว่านี้มีขึ้นไม่ถึงเดือนหลังจากที่หัวเว่ยเปิดตัว โมเดมชิปเซต สำหรับใช้ในระบบเครือข่าย 5จี ออกมาเมื่อปลายเดือนมกราคม ทั้ง “บาลอง 5000” ซึ่งเป็นมัลติ-โหมด ชิปเซต ที่รองรับเครือข่ายทั้ง 2จี, 3จี, 4จี เรื่อยไปจนถึง 5จี ได้ภายในชิปตัวเดียว ช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ลดอาการหน่วงระหว่างการเปลี่ยนเครือข่าย ที่ทำให้การใช้งานแบบมัลติสเปกตรัมรวดเร็วขึ้นถึงระดับ “อัลตราฟาสต์”

ทำความเร็วได้สูงสุดที่ 4.6 กิกะบิตต่อวินาทีในการดาวน์โหลดผ่านเครือข่ายในย่านความถี่ต่ำกว่า 6 กิกะเฮิรตซ์ แต่ถ้าเป็นคลื่นความถี่ในระดับมิลลิเมตรเวฟ จะได้ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดถึง 6.5 กิกะบิตต่อวินาที นอกจาก “บาลอง” ชิปเซตแล้วยังมีการเปิดตัว “เทียนกัง” คอร์ชิปสำหรับสถานีฐานในเครือข่าย 5จี อีกด้วย

การเปิดตัวดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่าย 5 จี ของหัวเว่ย เพราะชิป 5จี ที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ อย่างสแนป ดรากอน เอ็กซ์24 ของควอลคอมม์ ก็มุ่งเน้นสำหรับการติดตั้งเพื่อใช้งาน 5จี ในสมาร์ทโฟน ในขณะที่ อินเทล ผู้ผลิตชิปเซตรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอีกรายก็เป็นเพียง 5จี โมเดม สำหรับใช้งานในการเชื่อมต่อรถยนต์หรือโดรนกับเครือข่าย 5จี เท่านั้น

Advertisement
ภาพ-3GPP

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ หัวเว่ย จะอ้างว่าได้ลงนามทำสัญญาเชิงพาณิชย์ในการพัฒนาเครือข่ายไร้สาย 5จี แล้วมากกว่า 30 สัญญา และได้จัดส่งสถานีฐาน 5จี ออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้วมากกว่า 47,000 สถานีแล้วก็ทำให้ความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐอเมริกากับหัวเว่ย กลายเป็นประเด็นใหญ่โตในระดับโลกขึ้นมา

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาในระดับโลก เพราะสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการ “เตือน” บรรดาพันธมิตรของตนเองทั่วโลกว่าควรกันหัวเว่ย ที่เป็นบริษัทด้านสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายที่ใหญ่ที่สุดในโลกออกจากแผนการพัฒนาเครือข่าย 5จี ของตนเอง “เพื่อตัดปัญหาความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ” ออกไป

ความกังวลที่ว่านี้ อยู่บนพื้นฐานข้อมูลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกาที่ว่า หัวเว่ย นั้นมีความเชื่อมโยงอยู่กับรัฐบาลจีน และการใช้งานวัสดุอุปกรณ์ที่บริษัทผลิตขึ้นมาเสี่ยงต่อการถูกติดตั้งมัลแวร์ “แบคดอร์” ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยข่าวของจีนใช้ เพื่อการจารกรรมในอนาคต

Advertisement

มาตรการดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา ทำให้บางประเทศอย่าง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดำเนินการตามคำเตือนดังกล่าว ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปรับข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาไป “พิจารณา” ซึ่งรวมทั้งประเทศใหญ่ๆ อย่างอังกฤษและเยอรมนี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม เยอรมนีประกาศชัดเจนแล้วว่า ยังคงเปิดทางให้หัวเว่ยเข้าร่วมในแผนการพัฒนาและวางระบบเครือข่าย 5จี ของเยอรมนีต่อไป เช่นเดียวกับที่เปิดโอกาสให้กับบริษัทอื่นๆ เพียงแต่กำลังปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎเกณฑ์หลายอย่างเสียใหม่เพื่อให้แน่ใจว่า ปัญหาที่สหรัฐอเมริกากังวลจะไม่เกิดขึ้น

เช่น อุปกรณ์ทุกชิ้นของทุกบริษัท ที่จะนำมาติดตั้งในเครือข่าย 5จี ในเยอรมนี ต้องผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจาก “สำนักงานความมั่นคงทางไซเบอร์” หรือ “บีเอสไอ” ของทางการเยอรมนี เป็นต้น

อังกฤษยังไม่ตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนี้ แต่มีแนวโน้มสูงมากว่าจะยึดถือแนวทางเดียวกันกับเยอรมนี กล่าวคือ กำหนดมาตรการตรวจสอบและกำกับดูแลเข้มงวดมากขึ้น แต่จะไม่แบนหัวเว่ยโดยสิ้นเชิงตามความต้องการของสหรัฐอเมริกา บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายในอังกฤษทุกราย ไม่ว่าจะเป็น บีที, อีอี, โวดาโฟน หรือทรี ก็ตามล้วนแล้วแต่ใช้งานอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายของหัวเว่ยมานาน โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ ถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกามากพอๆ กับช่วยให้สถานะของหัวเว่ยในยุโรปที่เป็นตลาดสำคัญกระเตื้องขึ้นมากไม่ใช่น้อย เป็นเหตุให้ ริชาร์ด เอ. เกรเนลล์ เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำเยอรมนี ถึงกับทำหนังสือถึง ปีเตอร์ อัลท์ไมเออร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี เตือนว่า การยังคงใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในเครือข่าย 5จี ต่อไป อาจหมายถึงว่า “สหรัฐอเมริกาไม่สามารถจะคงระดับความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงเยอรมนีไว้ในระดับเดิมเหมือนที่ผ่านมาได้”

เพราะสหรัฐอเมริการู้ดีว่า เยอรมนี หรือแม้กระทั่งอังกฤษและหลายชาติในยุโรป พึ่งพาอาศัยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในด้านการก่อการร้ายอยู่เยอะมาก

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ สิ่งที่สหรัฐอเมริกาเป็นกังวลนั้นเกิดจากข้อเท็จจริงหรือเกิดจากปัญหาอย่างอื่นกันแน่

กัว ผิง ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย แถลงเกี่ยวกับกรณีนี้ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในงานโมบายล์เวิลด์คองเกรส และแถลงซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ตอนที่ฟ้องร้องทางการสหรัฐอเมริกาในกรณีนี้ต่อศาลแขวงเมืองพลาโน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

กัว ผิง ยืนยันว่า แม้ว่าผลิตภัณฑ์ 5จี ของหัวเว่ยจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก แต่จะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงถ้าหากไม่สามารถรับประกันได้ว่ามีความมั่นคงปลอดภัยพอ

“ผลิตภัณฑ์ 5จี ของเรา ก้าวหน้ากว่าผลิตภัณฑ์ในยุค 4จี มาก และเราสามารถบอกได้อย่างภาคภูมิใจว่า 5จี ปลอดภัยกว่า 4จี ด้วยซ้ำไป” นายกัว ผิงระบุ พร้อมกับชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ในฐานะผู้ผลิตสินค้าออกมาขาย หัวเว่ย ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการเครือข่าย ดังนั้น จึงไม่สามารถเป็นเจ้าของข้อมูลใดๆ ที่ผ่านเครือข่ายซึ่งผู้ให้บริการเครือข่าย หรือโอเปอเรเตอร์ เป็นผู้บริหาร ในเวลาเดียวกัน ในฐานะที่เป็นผู้ผลิต หัวเว่ยก็สามารถให้สัญญาว่าจะไม่ทำใน “สิ่งเลวร้าย” แน่นอน

“หัวเว่ย ไม่เคยติดตั้งมัลแวร์แบคดอร์ และจะไม่ทำเช่นนั้น และไม่มีวันยอมให้ใครมาทำอะไรเช่นนั้นกับอุปกรณ์ของเรา เราถือเรื่องนี้ว่าเป็นภาระรับผิดชอบที่จริงจังมาก” และย้ำว่า “ข้อกล่าวหาทางด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับอุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ย ไม่เคยมีหลักฐานมายืนยัน ไม่มีอะไรเลย” ตรงกันข้ามกับฝ่ายผู้กล่าวหาเองที่ใช้วิธีสร้างช่องทางลับเพื่อเข้าถึงข้อมูลของบุคคลอื่นๆ ในวงกว้าง อย่างเช่นกรณีที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เปิดเผยออกมา เป็นต้น

สิ่งที่ประธานหมุนเวียนของหัวเว่ยรายนี้เรียกร้องเป็นเชิงท้าทาย ก็คือของให้รัฐบาลทั้งโลกร่วมมือกัน กำหนด “มาตรฐานความมั่นคงทางไซเบอร์” ขึ้นมา เพื่อใช้ในการตรวจสอบและกำกับดูแล “อย่างซื่อสัตย์” ในเรื่องนี้ ซึ่งรวมทั้งอุปกรณ์ของหัวเว่ยที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ด้วย

สหรัฐอเมริกา ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อทรรศนะดังกล่าวนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สงคราม 5จี ในครั้งนี้ ยังไม่ยุติลงในเร็ววันแน่นอนครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image