เผยโฉมเชื้อโรค ร้ายแรงที่สุดในโลก

ภาพอิเล็กตรอนไมโครกราฟของเชื้อราบีดี(ภาพ-CSIRO-CC BY 3.0)

เชื้อรา “บีดี” หรือชื่อเต็มๆ ว่า “บาเทรโคคิทรีอัม เดนโดรบาทิดิส” (Batrachochytrium dendrobatidis-Bd) เป็นเชื้อโรคติดต่อร้ายแรงที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักกันมานานปี เชื่อกันว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้กบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอื่นๆ ลดปริมาณประชากรลงหรือสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว 200 สปีชีส์ แต่งานวิจัยใหม่ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย นำโดย เบน สคีล แสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้ว “บีดี” มีความร้ายแรงมากกว่านั้นมาก

ทีมวิจัยของสคีลประมาณว่า เชื้อราชนิดนี้ทำให้ประชากรของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 501 สปีชีส์ลดจำนวนลง คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสปีชีส์ทั้งหมดของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ โดยในจำนวนนี้มี 90 สปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกโดยสิ้นเชิง ส่วนอีก 124 สปีชีส์ จำนวนประชากรลดลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรปกติ ทำให้โอกาสที่จะดำรงสายพันธุ์ต่อไปมีน้อยมาก

ไม่เคยปรากฏว่ามีเชื้อโรคร้ายชนิดใดที่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ก่อให้เกิดการสูญเสียได้มากเท่ากับเชื้อราบีดีมาก่อน สคีลถึงกับระบุว่า งานวิจัยนี้ได้ทำความเข้าใจให้กับทีมวิจัยใหม่ว่าเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตในป่าตามธรรมชาติได้มากเพียงใด

โจดี โรว์ลีย์ นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลีย ยอมรับว่าข้อสรุปของงานวิจัยใหม่นี้น่าตกใจ แม้จะเคยรู้มาก่อนว่าบีดีเป็นเชื้อโรคร้ายแต่ไม่คิดว่าจะร้ายแรงถึงขนาดนี้ และนี่เป็นเพียงตัวเลขเท่าที่รู้เท่านั้น

Advertisement

นักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นตรงกันว่าโลกยังคงไม่เข้าใจชัดเจนนักว่าได้สูญเสียอะไรไปเพราะเชื้อโรคร้ายนี้ ด้วยเหตุที่ว่าที่สูญเสียไปจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่หากเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเลขนี้คงสร้างความแตกตื่นได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเหล่านี้อยู่รอดมาได้ถึง 370 ล้านปีกลับต้องมาสูญพันธุ์ไปในช่วงเวลาเพียงแค่ 50 ปี เพราะเชื้อโรคเพียงตัวเดียวก็ชวนตระหนกเช่นเดียวกัน

คางคกภูเขา กำลังเสี่ยงจะสูญพันธุ์เพราะเชื้อบีดี (ภาพ-B. GRATWICKE/ SMITHSONIAN CONSERVATION BIOLOGY INSTITUTE)

เชื้อราบีดีก่อให้เกิดการสูญเสียในสัตว์จำพวกกบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ด้วยการเกาะกินผิวหนังของสัตว์เหล่านี้ ทำให้มันสามารถเป็นอันตรายต่อสัตว์เหล่านี้ได้ในทุกสายพันธุ์ ไม่จำกัดเฉพาะสปีชีส์ใดสปีชีส์หนึ่งเหมือนเชื้อโรคทั่วไป เมื่อติดเชื้อไปได้ระยะหนึ่งเชื้อจะลุกลามก่อให้เกิดอาการหัวใจวายตายเฉียบพลันในที่สุด เชื้อราบีดียังแพร่ระบาดไปตามน้ำได้ และยังมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเหยื่อเป็นพาหะอีกด้วย

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาวิจัยเชิงพันธุกรรมพบว่าเชื้อราบีดี เดิมมีจำกัดอยู่เฉพาะในจุดหนึ่งจุดใดในทวีปเอเชีย ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในราวต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งการค้าระหว่างประเทศบูมและการเดินทางติดต่อระหว่างประเทศเริ่มแพร่หลาย

Advertisement

ตัวการสำคัญที่ทำให้สัตว์ติดเชื้อนำเอาเชื้อราชนิดนี้แพร่ระบาดไปทั่วโลกก็คือมนุษย์เรานั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image