“โฮโม ลูซอนเนนซิส” บรรพชนมนุษย์สายพันธุ์ใหม่

สภาพส่วนหนึ่งภายในถ้ำคัลเยา เมืองเปนาบลังกา จังหวัดคากายัน ของฟิลิปปินส์ สถานที่ขุดพบซากกระดูก เอช. ลูซอนเนนซิส (ภาพ-AP)

ทีมนักโบราณคดีนานาชาติ นำโดย อาร์มันด์ ซัลวาดอร์ มิฮาเรส นักโบราณคดีชาวฟิลิปปินส์ จากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ค้นพบซากฟอสซิลโครงกระดูกของมนุษย์ในยุคโบราณที่ถ้ำหินปูนคัลเยา ในเมืองเปนาบลังกา จังหวัดคากายัน บนเกาะลูซอน ทางตอนเหนือของประเทศ เมื่อตรวจสอบอายุพบว่าเป็นซากฟอสซิลที่มีอายุมากกว่า 50,000 ปี ทำให้กระดูกมนุษย์ดังกล่าวน่าจะเป็นของบรรพชนมนุษย์ในยุคบรรพกาล ช่วงเวลาเดียวกับที่มนุษย์นีแอนเดอธัล, มนุษย์เดนิโซวัน และมนุษย์ขนาดเล็กที่ถูกขนานนามว่า “ฮ็อบบิท” บนเกาะฟลอเรส ในประเทศอินโดนีเซีย

แต่ลักษณะและขนาดของกระดูกและฟันมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้เชื่อว่าเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน และตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า “โฮโม ลูซอนเนนซิส” (Homo Luzonensis) ตามชื่อเกาะที่ขุดพบ

และส่งผลให้องค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ยุ่งเหยิงซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก

การขุดค้นซึ่งนำไปสู่การค้นพบ เอช. ลูซอนเนนซิส ครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นในปี 2007 ที่ผ่านมา ต่อด้วยการขุดค้นเพิ่มเติมในปี 2011 และ 2015 บริเวณถ้ำหินปูนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของเกาะลูซอนซึ่งมีโถงซับซ้อนถึง 7 โถง ทีมขุดค้นพบเศษกระดูกจากส่วนเท้า, มือ และต้นขา 6 ชิ้น พบฟันอีก 7 ซี่ แยกออกได้เป็นของคน 3 คน อยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 3 เมตร ในบริเวณใกล้เคียงกันพบฟอสซิลกระดูกกวางและสัตว์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนหนึ่งมีร่องรอยการตัด

Advertisement
เศษฟอสซิลซากกระดูกข้อนิ้วมือและเท้ากับฟันของ เอช. ลูซอนเนนซิส ที่ขุดพบ (ภาพ-AP)

การฟัน ทำให้เชื่อว่ามนุษย์เจ้าของซากกระดูกเหล่านั้นใช้สัตว์เหล่านี้เป็นอาหาร แม้ว่าจะไม่มีการค้นพบเครื่องมือหินหรือเครื่องมือมีคมอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันก็ตาม

มิฮาเรสระบุว่า ทีมขุดค้นเตรียมกลับไปขุดค้นเพิ่มเติมจากแหล่งเดียวกันนี้อีกครั้งในปีหน้า โดยหวังว่าจะสามารถขุดค้นซากฟอสซิลกระดูกขนาดใหญ่กว่าที่พบในครั้งนี้

ฟลอเรนท์ ดีทรอยต์ นักโบราณคดีจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมขุดค้น ระบุว่า ผลจากการวิเคราะห์ลักษณะกระดูกข้อนิ้วเท้า และลักษณะรูปร่างรวมถึงขนาดของซี่ฟัน ทำให้ทีมขุดค้นเชื่อว่านี่เป็นซากโครงกระดูกมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบกันมาก่อน เมื่อประเมินจากขนาดกระดูกแล้วเชื่อว่ามนุษย์ที่มีขนาดร่างกายเล็ก เมื่อนำตัวอย่าง 2 ชิ้นไปพิสูจน์หาอายุ พบว่าซากกระดูกดังกล่าวมีอายุต่ำสุด 50,000 ปี โดยอาจเก่าแก่ได้ถึง 67,000 ปีมาแล้ว

Advertisement
ฟอสซิลซากฟัน 5 ใน 7 ซี่ที่ค้นพบภายในถ้ำคัลเยา (ภาพ-AP)

ตามองค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการมนุษย์ที่มีอยู่ในเวลานี้ สันนิษฐานกันว่ามนุษย์สายพันธุ์อื่นใดที่ไม่ได้เป็นสายพันธุ์มนุษย์ในทวีปแอฟริกานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นทายาทที่สืบทอดสายพันธุ์โดยตรงจากสายพันธุ์มนุษย์ที่อพยพออกจากทวีปแอฟริกาเป็นกลุ่มแรกๆ เมื่อราว 60,000 ปีก่อน

แต่จากการขุดพบในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า เอช. ลูซอนเนนซิส ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่บริเวณเอเชียตะวันออกมาในยุคเดียวกันกับบรรพชนของมนุษย์ในปัจจุบัน (โฮโม เซเปียน), มนุษย์นีแอนเดอร์ธัล, มนุษย์เดนิโซวันในไซบีเรีย และมนุษย์ฮ็อบบิทในอินโดนีเซีย

แต่ไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่า เอช. ลูซอนเนนซิส ได้พบหรือมีความสัมพันธ์กับมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ เหล่านั้น ในขณะที่ เอช. เซเปียน นั้นเดิมสันนิษฐานกันว่าเดินทางมาถึงบริเวณที่เป็นประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบันนี้ที่หลังจากอายุของกระดูกที่ค้นพบใหม่ที่ถ้ำคัลเยานี้หลายพันปีด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม ดีทรอยต์ชี้ว่า บนเกาะลูซอนมีหลักฐานที่ขุดพบบางอย่าง อย่างเช่น เครื่องมือหินและซากแรดที่ถูกกินเป็นอาหาร ที่แสดงให้เห็นว่ามีบรรพชนมนุษย์อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่กว่า 700,000 ปีมาแล้ว มนุษย์เหล่านั้นอาจเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งยังไม่ได้ถูกค้นพบ หรือไม่ก็อาจเป็นบรรพบุรุษของ เอช. ลูซอนเนนซิส ก็เป็นได้

ดีทรอยต์ระบุด้วยว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เอช. ลูซอนเนนซิส เกี่ยวข้องกับมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ อย่างไร แต่สันนิษฐานว่า เอช. ลูซอนเนนซิส น่าจะสืบสายพันธุ์มาจาก “โฮโม อีเรคตัส” ที่อาจข้ามน้ำข้ามทะเลจากแอฟริกามายังเกาะลูซอน

แมทธิว ทอเชอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเลคเฮดในเมืองธันเดอร์เบย์ รัฐออนแทริโอ ประเทศแคนาดา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขุดค้นครั้งนี้ ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ เอช. ลูซอนเนนซิส และมนุษย์ฮ็อบบิท จะสืบเชื้อสายมาจาก เอช.

อีเรคตัส แต่ตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์ฮ็อบบิท และ เอช. ลูซอนเนนซิส มีลักษณะพฤติกรรมผสมผสานระหว่างมนุษย์ในยุคปฐมภูมิและมนุษย์สมัยใหม่ มากกว่าที่เห็นได้จาก เอช. อีเรคตัส ทำให้อาจเป็นไปได้ว่า มนุษย์สายพันธุ์ลึกลับอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริการาว 1.5 ล้านถึง 2.5 ล้านปีก่อน อาจเป็นสายพันธุ์ซึ่งเป็นที่มาของ เอช. ลูซอนเนนซิส และมนุษย์ฮ็อบบิท ก็เป็นได้

มิชาเอล เปทราเกลีย นักบรรพชีวินวิทยา ประจำสถาบันมักซ์ พลังก์ เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ในเมืองเจนา ประเทศเยอรมนี ระบุว่า การค้นพบภายในถ้ำบนเกาะลูซอน ยืนยันได้ชัดเจนประการหนึ่งว่า

แม้ในเวลานี้ เราก็ยังคงรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์อยู่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิวัฒนาการมนุษย์ในเอเชีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image