เครื่องบินใหญ่ที่สุดในโลก “สตราโตลอนช์” ขึ้นบินครั้งแรก

(ภาพ-Stratolaunch)

เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา เครื่องบิน 2 ลำตัวที่มีความยาวปีกถึง 118 เมตร มีความยาววัดจากส่วนหัวจรดหางเครื่องบิน 8 เมตร จนได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้ สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นบินสู่ท้องฟ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ใช้เวลาอยู่บนท้องฟ้าเหนือทะเลทรายโมฮาเว ที่ระดับความสูง 5,180 เมตร อยู่นาน 2 ชั่วโมงกับอีก 30 นาที ทำความเร็วสูงสุดขณะบินได้ที่ 304 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนร่อนลงจอดที่ท่าการบินอวกาศและอากาศโมฮาเว ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้โดยสวัสดิภาพ

เครื่องบินลำดังกล่าวเรียกว่า “สตราโตลอนช์” และมีนิกเนมว่า “เดอะ รอค” ออกแบบและพัฒนาโดย บริษัท สตราโตลอนช์ ซิสเต็ม ซึ่ง พอล จี.อัลเลน อดีตผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ผู้ล่วงลับเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ในการขึ้นบินครั้งนี้ นักบินซึ่งอยู่ในห้องนักบินบริเวณลำตัวเครื่องด้านขวาทดลองเคลื่อนไหวเครื่องบินในหลายรูปแบบ ทั้งบินแบบหมุนตัว บินหมุนเป็นวง การดึงเครื่องให้เชิดขึ้น การบินมุ่งหน้าในแนวระนาบและในแนวขวาง ซึ่งจะช่วยให้สตราโตลอนช์สามารถมีทางเลือกที่ยืดหยุ่นในการปฏิบัติภารกิจหลักของเครื่องบิน คือการทำหน้าที่เป็นระบบจัดส่งดาวเทียมแทนที่การจัดส่งภาคพื้นดินได้ดีขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้นอีกด้วย

สตราโตลอนช์ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อการจัดส่งดาวเทียมสู่วงโคจรระดับ “โลว์-เอิร์ธ ออร์บิท” เพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการจัดส่งดาวเทียมและช่วยให้สามารถส่งดาวเทียมสู่วงโคจรได้ในทุกสภาพอากาศ ทั้งนี้ ตามภารกิจดังกล่าว สตราโตลอนช์จะต้องขึ้นบินสู่ความสูงราว 10,970 เมตร หรือกว่า 2 เท่าของความสูงในการทดสอบ แล้วทำหน้าที่เป็นฐานปล่อยดาวเทียมเคลื่อนที่ ยิงดาวเทียมพร้อมลอนเชอร์ที่นำขึ้นไปด้วยการติดตั้งไว้ตรงกลางระหว่างลำตัวเครื่องบินทั้ง 2 ด้าน เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรที่ต้องการ เมื่อแล้วเสร็จภารกิจแล้ว สตราโตลอนช์ก็จะบินบ่ายหน้ากลับฐานต่อไป

อัลเลนระบุว่า การใช้สตราโตลอนช์ จะทำให้การส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศง่ายขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะไม่จำเป็นต้องใช้จรวดส่งเพื่อยิงขึ้นจากฐานยิงภาคพื้นดินอีกต่อไป และไม่ต้องรอคอยสภาวะอากาศอีกด้วย เพราะสตราโตลอนช์สามารถบินขึ้นจากรันเวย์ทั่วไปได้หลายแห่ง และสามารถบินต่อไปยังจุดที่สภาพอากาศดี เหมาะสมกับการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้

Advertisement

ลำตัวคู่ของสตราโตลอนช์นั้น ด้านขวาเป็นที่ตั้งของห้องนักบิน ลำตัวด้านซ้ายจะเป็นที่ติดตั้งระบบการบินทั้งหมด สัมภาระทั้งหมดจะอยู่บริเวณปีกกลางที่เชื่อมต่อระหว่างลำตัวเครื่องบินทั้งสอง ซึ่งออกแบบมาให้สามารถรองรับน้ำหนักสัมภาระได้สูงสุดถึง 500,000 ปอนด์ (ราว 227,000 กิโลกรัม) ตัวเครื่องบินใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกับที่ใช้ในเครื่องบินโบอิ้ง 747 แต่มีจำนวนมากถึง 6 ตัวด้วยกัน และมีล้อรองรับการขึ้น-ลงรวมทั้งหมด 28 ล้อ

ด้วยวิงสแปน (ความยาววัดจากปลายปีกด้านหนึ่งไปยังปลายสุดของปีกอีกด้านหนึ่ง) 118 เมตร และความยาวตัวเครื่องบินถึง 8 เมตร ทำให้สตราโตลอนช์ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของความยาวปีกทั้งหมด แต่ไม่ใช่เครื่องบินที่มีขนาดยาวที่สุด

เจ้าของสถิติเป็นอากาศยานลำตัวยาวที่สุดในโลกที่สามารถขึ้นบินได้ เป็นเรือเหาะผสมเครื่องบินที่ใช้ฮีเลียมบรรจุเพื่อการลอยตัวชื่อ “แอร์แลนเดอร์ 10” มีความยาวลำตัวทั้งหมดถึง 92 เมตรเลยทีเดียว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image