เส้นทางความสำเร็จของไฮบริดคลาวด์ สู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีคลาวด์

นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี

นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ เปิดเผยว่า ช่วงปลายปี 2561 คลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) ได้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาสำคัญ โดยในไตรมาสดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่ยอดจำหน่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีบนระบบคลาวด์ สามารถทำรายได้สูงกว่ายอดจำหน่ายระบบไอทีแบบดั้งเดิม (non-cloud) หรือคิดเป็น 50.9 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากผู้ประกอบการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจาก 43.6 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน

แม้จะมีข้อกังขาเล็กๆ ว่าคลาวด์คอมพิวติ้งจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานวงกว้าง และกลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับ CIO เพื่อเร่งปรับธุรกิจสู่การเป็นดิจิทัล อย่างไรก็ตาม การรู้ว่าต้องทำอะไร และความสามารถในการทำสิ่งนั้นๆ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดนั้นเป็นคนละเรื่อง ส่งผลให้องค์กรมากมายต่างเผชิญกับอุปสรรคในการนำระบบคลาวด์มาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกับเทคโนโลยีประเภทอื่นๆ ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งไม่สามารถตอบทุกโจทย์ได้ ด้วยสภาพแวดล้อมของการให้บริการ ของผู้ให้บริการ และของคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีเลือกใช้มากมายในปัจจุบัน คำถามที่สำคัญสำหรับ CIO ส่วนใหญ่ คือเทคโนโลยีคลาวด์รูปแบบใดที่จะสามารถตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรในการยกระดับธุรกิจสู่การเป็นดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

แม้ว่าการโยกย้ายจากแอพพลิเคชั่น เช่น เว็บและอีเมล์หลัก (email hosting) ไปยังผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะ เช่น Amazon Web Services (AWS) หรือไมโครซอฟต์ นั้นสามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมา แต่การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายตรงไปตรงมาเสมอไป และการใช้งานแอพพลิเคชั่นและข้อมูลอื่นๆ ได้ทวีความซับซ้อนมากขึ้นอีกด้วย

Advertisement

กฎระเบียบและการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น กฎการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (GDPR) และข้อมูลภายในองค์กรที่สำคัญ และมีความละเอียดอ่อนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ต้องการมาตรการความเข้มงวดในการปกป้องข้อมูล เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลจากการคุกคามของคู่แข่งหรือการกระทำที่ไม่น่าเชื่อถือของรัฐ ในหลายกรณี มาตรการเข้มงวดดังกล่าวถือเป็นการปกป้องข้อมูลอย่างสมเหตุสมผล และเป็นที่ต้องการในหลายๆ องค์กร เพื่อจัดเก็บข้อมูลองค์กรที่มีความละเอียดอ่อนบนระบบคลาวด์ส่วนบุคคล โดยแยกจากระบบอื่นๆ และมีเพียงผู้ใช้งานบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

แล้วจะมีโซลูชั่นที่ตอบโจทย์หรือไม่?

นายทวิพงศ์ กล่าวว่านับว่าเป็นความโชคดีสำหรับองค์กรในปัจจุบัน ที่ไฮบริดคลาวด์และมัลติคลาวด์คือโซลูชั่นที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยทั่วไปแล้ว “ไฮบริดคลาวด์” และ “มัลติคลาวด์” ถูกนำมาเอ่ยถึงและตีความในลักษณะที่สามารถใช้แทนกันได้ แต่ทว่าทั้ง 2 คำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมัลติคลาวด์ ออกแบบมาเพื่อผสานคลาวด์รูปแบบต่างๆ ในลักษณะแนวราบ และเชื่อมต่อคลาวด์เหล่านี้กับผู้ให้บริการที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจะยังคงแยกส่วนกันหรืออาจมีการประสานงานกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในขณะที่ไฮบริดคลาวด์ เชื่อมต่อคลาวด์สาธารณะ และคลาวด์ส่วนบุคคลในแนวดิ่ง ซึ่งประสานการดำเนินงานโดยเทคโนโลยีจากผู้ถือครองหรือโครงสร้างแฟบริคที่เอื้อต่อความสะดวกในการใช้งานและเคลื่อนย้ายของข้อมูลและแอพพลิเคชั่น ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าว ข้อมูลระหว่างแอพพลิเคชั่นต่างๆ จากคลาวด์สาธารณะและคลาวด์ส่วนบุคคลจะแลกเปลี่ยนกันอย่างปลอดภัย จึงอาจสรุปได้ว่า มัลติคลาวด์อาจไม่จำเป็นต้องมีการจัดเรียงในรูปแบบไฮบริดเสมอไป ในขณะที่ไฮบริดคลาวด์คือรูปแบบหนึ่งในการจัดเรียงแบบมัลติคลาวด์

ดังนั้น ไฮบริดคลาวด์สามารถผสมผสานคลาวด์ส่วนบุคคลและคลาวด์สาธารณะ รวมไปถึงโครงสร้างแบบภายในองค์กรได้อย่างสะดวกและลงตัว แม้ว่าภายในสภาพแวดล้อมดังกล่าวจะประกอบด้วยรูปแบบโครงสร้างและการดำเนินงานร่วมกันที่หลากหลาย การดำเนินงานในแต่ละส่วนจะยังคงความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ และยังสามารถร่วมกันปกป้องการรั่วไหลของข้อมูลจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปยังอีกแพลตฟอร์มหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขับเคลื่อนสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่โดดเด่น

นายทวิพงศ์เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้คาดการณ์ว่า ตลาดไฮบริดคลาวด์ทั่วโลกจะมีแนวโน้มการเติบโตจาก 38.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 เป็น 97.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยรวมต่อปี (CAGR) กว่า 17 เปอร์เซ็นต์ และเป็นที่น่าสนใจอย่างมากที่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ตลาดคลาวด์คอมพิวติ้งทั่วโลกเองก็มีแนวโน้มการเติบโตของ CAGR กว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ผลการวิจัยระบุว่าภายในปี 2563 องค์กรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะนำรูปแบบไฮบริดคลาวด์มาปรับใช้เพิ่มมากขึ้น

และด้วยผลการเติบโตนี้เองที่ดึงดูดความสนใจของผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งสาธารณะรายใหญ่ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่รูปแบบไฮบริดเป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (niche market) ส่งผลให้ปัจจุบัน รูปแบบไฮบริดสามารถครอบคลุมธุรกิจดังกล่าว และผลักดันศักยภาพของไฮบริดคลาวด์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกิดขึ้น : ไมโครซอฟต์ซื้อ Avere บริษัทที่ขายระบบจัดเก็บและจัดการข้อมูลแบบไฮบริดคลาวด์ ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของ Avere เพื่อนำเสนอบริการไฮบริดคลาวด์รูปแบบใหม่แก่ลูกค้า ในขณะเดียวกัน IBM ได้สร้างความตื่นตัวให้กับวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก ด้วยการเข้าซื้อกิจการ Red Hat

แม้กระทั่งผู้ให้บริการระบบคลาวด์สาธารณะที่แข็งแกร่งอย่าง Amazon Web Services (AWS) ก็เพิ่งมีการประกาศให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถผนวกการดำเนินงานร่วมกับคลาวด์ เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการข้อมูลแบบ local-plus-cloud แก่องค์กร เพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ข้อเท็จจริงก็คือไม่ว่าผู้ให้บริการคลาวด์จะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันอย่างไร ไฮบริดคลาวด์จะสามารถผสานทรัพยากรของพับลิคคลาวด์ และไพรเวทคลาวด์ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิผลทางธุรกิจ และสร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งยังช่วยลดทอนความล่าช้าในการดำเนินงาน เสริมสร้างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของธุรกิจได้อีกด้วย

นับเป็นเวลายาวนานกว่าไฮบริดคลาวด์จะได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับการยอมรับในช่วงเริ่มต้นที่นำเข้าสู่ตลาด จนถึงการยอมรับและนำไปปรับใช้ในที่สุด ในทางกลับกัน ผู้ให้บริการหลากหลายที่เคยชื่นชมในประสิทธิภาพของพับลิคคลาวด์ก็เริ่มซบเซาลง ไฮบริดคลาวด์จึงกลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่น่าจับตามอง สามารถตอบโจทย์และส่งเสริมศักยภาพของคลาวด์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ผู้ริเริ่มปรับใช้และสรรค์สร้างนวัตกรรมจำนวนมากต่างต้องการปรับใช้งานเป็นรูปแบบไฮบริด แต่ยังคงมีความกังวลถึงความคล่องตัวทางธุรกิจและตระหนักถึงข้อจำกัดในการมีโซลูชั่นเพียงรูปแบบเดียวของพับลิคคลาวด์ ซึ่งความกังวลเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในองค์กรปัจจุบัน

ธุรกิจมากมายมองหาความอิสระในการลงทุน ในการสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรม ดังนั้น ความสามารถในการเข้าถึงและจัดการระบบคลาวด์ได้ทันทีจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์จะสามารถมุ่งเน้นในการบริการเพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และกำหนดทิศทางของแผนธุรกิจในอนาคต ด้วยเหตุนี้ จึงมีเพียงไฮบริดคลาวด์เท่านั้นที่สามารถตอบโจทย์ความสำเร็จนี้ได้

การแข่งขันของคลาวด์หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากเกิดความกระตือรือร้นในการวางแผนวิสัยทัศน์ เพื่อพัฒนา รองรับ และยกระดับประสิทธิภาพของธุรกิจในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์รูปแบบใหม่ที่กำลังปลุกกระแสวงการไอทีอย่างไฮบริดคลาวด์ อัตราการเติบโตจากผลการวิจัยเบื้องต้นอาจเพิ่มสูงขึ้นเหนือความคาดหมายในระยะยาวก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image