หัวเว่ย VS แอนดรอยด์ และสงครามเย็นทางเทคโนโลยี

REUTERS

กรณีการขึ้นบัญชีดำ “หัวเว่ย” กับ บริษัทในเครืออีกราว 70 บริษัทของทางการสหรัฐอเมริกานั้น ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงไอทีหลายคนเปรียบเปรยเอาไว้ว่า เหมือนกับจู่ๆ ก็มีระเบิดโยนลงมากลางวง เหตุที่อุปมากันขนาดนั้น เป็นเพราะสุดท้ายแล้วในเหตุการณ์นี้หาคนที่ปลอดภัยไม่โดนสะเก็ดระเบิดหรือหัวร้างข้างแตก ไปด้วยได้ยากเย็นเต็มที

ผลสะเทือนยังพาลไปถึงผู้ใช้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยจำนวนหลายร้อยล้านคนที่กระจายกันอยู่ทั่วโลกด้วยอีกต่างหาก

ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ คำตอบง่ายๆ ก็คือ เป็นเพราะคำสั่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หัวเว่ย ซึ่งถูก “หน่วยข่าวกรอง” ว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้ง “แบ๊กดอร์” หรือ “ประตูลับ” ไว้ให้ทางการจีนได้ใช้ “จารกรรม”ในภายหลัง หรือในกรณีที่เกิดศึกกันขึ้น ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ “วินาศกรรม” ระบบสื่อสารของฝ่ายตรงกันข้ามได้

นั่นคือเหตุผลอันเป็นที่มาของการ “ลงโทษ” หัวเว่ยในครั้งนี้

Advertisement

ผลจากการลงโทษด้วยการขึ้นบัญชีดำดังกล่าว นอกจากห้ามไม่ให้ธุรกิจเอกชนอเมริกันใช้งานหรือจัดซื้อทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของหัวเว่ยแล้ว ยังห้ามไม่ให้ขายหรือถ่ายโอนทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อเมริกันไปให้หัวเว่ยด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนเป็นกรณีแรกก็คือ อัลฟาเบท อิงค์. บริษัทแม่ของกูเกิล เจ้าของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ก็ต้องยกเลิกการให้หัวเว่ยใช้แอนดรอยด์ในสมาร์ทโฟนของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลกใน 2 ทาง ทางแรกคือ ต่อไปนี้ สมาร์ทโฟนหัวเว่ย จะไม่ใช่ “แอนดรอยด์โฟน” เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

ในอนาคตจะไม่มีแอพพลิเคชั่น ยอดฮิต อย่าง ยูทูบ หรือ กูเกิลแมพ อยู่ในสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยอีกต่อไป

Advertisement

ในอีกทางหนึ่งก็คือ ผู้ที่ซื้อสมาร์ทโฟนหัวเว่ยไปใช้แล้ว ยังคงสามารถใช้งานต่อไปได้ตามปกติ แต่จะไม่ได้รับการอัพเดต เพื่อปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้ทันสมัยอีกแล้ว รวมทั้งยังไม่ได้รับแพทช์ เพื่อปิดช่องโหว่หรือเพิ่มประสิทธิภาพอีกแล้ว

ประเด็นเรื่องระบบปฏิบัติการ (โอเอส) นั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมากมายนัก ในโลกนี้มีระบบปฏิบัติการอยู่มากมาย แต่สิ่งที่ทำให้โอเอสยอดนิยมหลงเหลือกันอยู่เพียง 2 รายคือ แอนดรอยด์กับไอโอเอส นั้นเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่า “อีโคซิสเต็ม” ของระบบ ที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคพร้อมสรรพในทุกๆ ด้านนั่นเอง

การสร้างโอเอสขึ้นมาใหม่ ไม่ยาก ในความเป็นจริง หัวเว่ย เองก็พัฒนา “หงเหมิง”

ระบบปฏิบัติการของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2012 แต่ยังต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะพัฒนา “อีโคซิสเต็ม” ออกมาให้เป็นที่ยอมรับและนิยมกันในระดับเดียวกับ แอนดรอยด์และไอโอเอส

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้บริโภคทั่วโลกย่อมหันเหออกไปจากการเป็นลูกค้าหัวเว่ย แน่นอน ธุรกิจสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ถึงจะไม่ถึงกับตาย ก็คงไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดเป็นอันดับ 2 ของโลกอีกต่อไป

คำถามสำคัญก็คือ หัวเว่ย น่ะ เสียหายแน่ แต่สหรัฐอเมริกา ดำเนินการอย่างนี้แล้วได้อะไรตอบแทน? ผลดีในระยะยาวที่สหรัฐอเมริกาจะได้จากการนี้มองเห็นได้น้อยมาก

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนแรกสุดก็คือ นี่ไม่ใช่ท่าทีที่คู่ค้าจะพึงปฏิบัติต่อกัน แต่เป็นการกระทำของชาติที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรู ซึ่งกันและกัน กระทำต่อกันมากกว่า

ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังได้ว่าจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การตอบโต้ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์ทรุดลงหนักข้อมากยิ่งขึ้น

สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยก็ดี อุปกรณ์สำหรับเครือข่ายไร้สายของหัวเว่ยก็ดี ไม่ได้ผลิตจากชิ้นส่วนในจีนทั้งหมด ในทางตรงกันข้าม สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่อง ใช้ชิ้นส่วนจากสหรัฐอเมริกามากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ บริษัทอเมริกันขายชิ้นส่วนเหล่านี้ให้หัวเว่ยถึงปีละ 11,000 ล้านดอลลาร์

ต่อไปนี้ หัวเว่ย จำเป็นต้องใช้ของที่ผลิตเองทั้งหมด ซึ่งถามว่าผลิตเองได้หรือไม่ คำตอบก็คือ หัวเว่ยผลิตชิ้นส่วนใช้เองมานานแล้วเพียงแต่ยังไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดเท่านั้น

ในอีกแง่หนึ่ง แอปเปิล กำลังตกที่นั่งลำบากอย่างยิ่งจากมาตรการครั้งนี้ ในทางหนึ่งนั้น ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ ทำรายได้ให้กับแอปเปิล สูงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ถูกตอบโต้เมื่อใดรายได้ก้อนนี้จะหายไปทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น แอปเปิล ยังจำเป็นต้องหาฐานประกอบไอโฟนส่วนใหญ่ของตนเสียใหม่ แทนที่จีน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำได้ในเร็ววัน

มีผู้พยายามเปรียบเปรยกรณีนี้กับกรณีของ แซดทีอี บริษัทจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำเช่นเดียวกันเพราะถูกกล่าวหาว่าขายเทคโนโลยีต้องห้ามให้กับอิหร่านและเกาหลีเหนือ

ความต่างกันอย่างสำคัญก็คือ กรณีของแซดทีอี มีจุดจบที่ชัดเจนได้ ซึ่งทำให้กรณีดังกล่าวจบได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ด้วยการยอมรับผิด จ่ายค่าปรับและดำเนินการตามเงื่อนไขต่อไป

แต่ในกรณีของหัวเว่ย ข้อกล่าวหาของฝ่ายอเมริกันไม่มีจุดยุติ หัวเว่ยต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้อีกฝ่ายเชื่อได้ว่า ในอุปกรณ์ ในระบบเครือข่ายของตนไม่มี “แบ๊กดอร์”? หนทางเดียวที่ทำให้เชื่อถือได้เด็ดขาด 100 เปอร์เซ็นต์ คือ “เลิกกิจการ” เท่านั้นเอง

การเลิกกิจการของหัวเว่ย ไม่เพียงส่งผลต่อพนักงาน 180,000 คนของหัวเว่ยเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่ซัพพลายทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งจะถูก “ลงโทษ” อย่างไม่เป็นธรรมจากสหรัฐอเมริกาไปด้วยอย่างนั้นหรือ?

หัวเว่ย ไม่มีทางเลิกกิจการ พร้อมๆ กันนั้นก็ไม่มีทางยอมอ่อนข้อต่อแรงกดดันครั้งนี้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลให้เกิด “บทเรียนตัวอย่าง’ ในอนาคตทั้งกับต่อบริษัทของจีนทั้งหมด และบริษัทของประเทศอื่นๆ ที่ทำธุรกิจร่วมอยู่กับสหรัฐอเมริกา

ที่น่าสนใจก็คือ การดำเนินการครั้งนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่หนักหนาสาหัสอยู่ก่อนแล้ว ทรุดหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งทำให้ท่าทีของจีนยิ่งแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบางคนถึงกับออกอุทานว่า “สงครามเย็น” ทางเทคโนโลยี เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image