‘ไหยักษ์’ แห่ง ‘ทุ่งไหหิน’ มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร?

ทีมสำรวจโบราณคดีร่วมระหว่างลาวกับออสเตรเลียค้นพบแหล่งที่ตั้งไหหินใหม่ที่เชียงของอีกราว 15 แหล่ง ส่วนใหญ่พบในป่าและบนภูเขา (ภาพ-Plain of Jars Archaeological Project)

‘ไหยักษ์’ แห่ง ‘ทุ่งไหหิน’ มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร?

ทีมสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีร่วมระหว่างออสเตรเลียและลาวเดินทางเข้าไปสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่แขวงเชียงขวง หรือเชียงขวาง ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อค้นหาร่องรอยทางโบราณคดีเพิ่มเติมหลังการสำรวจครั้งแรกซึ่งมีขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 สำหรับไขคำตอบปริศนาที่ว่า ไหหินขนาดยักษ์ที่บางลูกสูงถึง 3 เมตรนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด และเหมืองหินที่ใช้สร้างไหหินเหล่านี้อยู่ที่ใด

โครงการสำรวจนี้ถูกขนานนามว่า โครงการโบราณคดีทุ่งไหหิน (เพลน ออฟ จาร์ส อาร์คิโอโลจิคอล โปรเจ็กต์) แต่การสำรวจนั้นมีการตรวจสอบลึกเข้าไปนอกเหนือจากบริเวณทุ่งไหหินเดิมที่รู้จักกันดีซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวไปทางเหนือราว 320 กิโลเมตร เพื่อบันทึกหลักฐานทางโบราณคดีทั้งแหล่งที่ตั้งไหหินเดิมที่รู้จักกันอยู่แล้ว และค้นหาแหล่งที่ตั้งไหหินใหม่ๆ และหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ด้วย การสำรวจเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมา และในต้นปีนี้มีขึ้น 2 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม

นอกเหนือจากทุ่งไหหินเดิมที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวางแล้ว ทีมสำรวจยังตรวจสอบต่อเนื่องไปตลอดระยะทางหลายกิโลเมตรลึกเข้าไปในป่าทึบ เส้นทางทุรกันดารและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือในแขวงเชียงขวาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเขตแดนติดต่อกับเวียดนาม นอกจากนั้นยังต้องอาศัยคำบอกเล่าเส้นทางจากชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อหลีกเลี่ยงระเบิดที่ตกค้างมาจากสมัยสงครามเวียดนาม ที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดคลัสเตอร์ลงใส่พื้นที่ประเทศลาวราว 270 ล้านลูก โดยทางการลาวระบุว่า แม้จะผ่านการเก็บกู้ไปแล้วเป็นจำนวนมากแต่ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 80 ล้านลูกกระจายกันอยู่ทั่วไป รวมทั้งในพื้นที่แขวงเชียงขวางอีกด้วย

Advertisement

ทีมสำรวจพบว่ามีแหล่งที่ตั้งอีกมากกระจายกันอยู่ทั่วพื้นที่สำรวจ รวมเป็นแหล่งที่ตั้งใหม่อีก 15 แหล่ง มีจำนวนไหหินโบราณที่คาดกันว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 2,500 ปี รวมแล้วมากถึง 137 ลูก หลุยส์ ชีแวน นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำโครงการสำรวจครั้งนี้ ระบุว่า ในขณะที่ทุ่งไหหิน แหล่งที่ตั้งเดิมใกล้กับเมืองโพนสะหวันนั้น มีไหหินอยู่ราว 400 ลูก และบางลูกมีขนาดใหญ่ สูงถึง 3 เมตร หนักมากกว่า 9,000 กิโลกรัม แหล่งที่ตั้งไหหินที่พบใหม่แต่ละแหล่ง มักมีไหหินอยู่ไม่ถึงแหล่งละ 60 ลูก ที่ตั้งที่ค้นพบมีทั้งที่อยู่ในสภาพเป็นป่าทึบและอยู่บนภูเขาที่รายล้อมอยู่โดยรอบ ทุ่งไหหิน ที่โพนสะหวันนั้นเอง โดยกระจายกันตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งกินอาณาบริเวณหลายพันตารางกิโลเมตรทีเดียว

ชีแวนระบุว่า ไหหินที่ค้นพบใหม่นี้รูปลักษณะเหมือนกับที่ค้นพบที่ทุ่งไหหิน แต่มีบางลูกที่ใช้หินต่างชนิดออกไป มีบ้างเช่นกันที่มีลักษณะรูปร่างต่างออกไปเล็กน้อย รวมทั้งวิธีการทำบริเวณริมขอบของไหหินก็ต่างออกไปเช่นกัน

ซากโครงกระดูกที่พบในการขุดค้นที่แหล่ง MIVP Cave2 (ภาพ-Plain of Jars Archaeological Project)

ตามตำนานในท้องถิ่นระบุว่า ไหหินเหล่านี้เป็นของยักษ์ สำหรับใช้เป็นภาชนะบรรจุและหมักเครื่องดื่มประเภทเบียร์จากข้าวสำหรับเก็บไว้ใช้เพื่อการฉลองชัยชนะจากการทำศึกสงคราม แต่นักโบราณคดีมีความเห็นแตกต่างออกไป โดยเชื่อว่าไหหินเหล่านี้อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง ถูกทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับบรรจุศพผู้เสียชีวิตทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยแล้วจึงนำส่วนโครงกระดูกมาชำระล้าง จนสะอาดจึงนำไปกลบฝังตามประเพณีต่อไป

Advertisement

ในจุดที่ตั้งไหหินบางจุด นักโบราณคดีชุดนี้พบว่ามีหลุมฝังศพที่กลบฝังอย่างพิถีพิถันอยู่ไม่น้อย แต่ไม่แน่ใจนักว่าไหหินถูกสร้างขึ้นเป็นส่วนประกอบของการฝังศพเหล่านั้น หรือไหหินถูกสร้างขึ้นไว้ก่อนแล้วจึงมีการกลบฝังศพเหล่านั้นไว้ใกล้ๆ บริเวณที่ตั้งของไหหินกันแน่

ในการขุดค้นเมื่อปี 2016 มีการเปิดเผยว่า ไหหินบางลูก มีหลุมสำหรับฝังกระดูกจำนวนมากปรากฏอยู่โดยรอบ นอกจากนั้นไหหินบางลูกยังมีหลุมฝังศพซึ่งมีหินสลักเป็นรูปจานทรงกลมปิดอยู่ เชื่อว่าเป็นหินสลักที่ใช้เป็นเครื่องหมายกำหนดตำแหน่งของหลุมฝังศพนั่นเอง

ข้อมูลและภาพถ่ายที่ได้จะนำมาประกอบกันขึ้นในคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพเสมือนจริง 3 มิติ (ภาพ-Plain of Jars Archaeological Project)

ในการขุดค้นหลังสุดนี้ ก็พบแผ่นหินทรงกลมแบบเดียวกันนี้ พร้อมกับสิ่งของอื่นๆ ฝังร่วมอยู่ด้วย แผ่นหินสลักทรงกลมรูปจานนี้บางชิ้นมีการแกะลวดลายสวยงามอยู่ด้านหนึ่ง มีทั้งที่เป็นรูปร่างคน และสัตว์ต่างๆ และที่แกะเป็นลายวงกลม ที่น่าสนใจก็คือ แผ่นหินเหล่านี้มักฝังโดยหันส่วนที่แกะสลักลวดลายลงดินเสมอ

ดูกัลด์ โอเรียลี นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) หนึ่งในหัวหน้าที่สำรวจขุดค้นในโครงการนี้ ระบุว่า การสลักลวดลายตกแต่งนั้นไม่ค่อยพบนักตามแหล่งที่ตั้งไหหิน และทีมสำรวจยังไม่สามารถบอกได้เช่นกันว่า ทำไมลวดลายที่แกะสลักไว้บางชิ้นเป็นรูปสัตว์ แต่บางชิ้นกลับเป็นรูปทรงเรขาคณิต

ในการขุดค้นโดยรอบไหหินบางลูก พบชิ้นส่วนวัตถุที่เป็นเซรามิกที่มีลวดลายประดับประดา, มีลูกปัดแก้ว, เครื่องมือเหล็ก, รวมถึงแผ่นเครื่องประดับ สำหรับใช้เป็นต่างหู และกระสวยสำหรับทอผ้า นอกจากนั้นยังพบไหดินเผาจำลองขนาดเล็กลงมา แต่มีรูปทรงเหมือนไหหิน ที่ถูกใช้ฝังร่วมกับผู้ตายอีกด้วย

ทีมสำรวจวิจัยครั้งนี้เตรียมป้อนข้อมูลและภาพถ่ายของแหล่งไหหินที่ค้นพบใหม่ทั้งหมดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างพื้นที่ที่พบแหล่งที่ตั้งไหหินทั้งหมดเข้าด้วยกันด้วยโปแกรมเสมือนจริงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยโมนาช ของออสเตรเลีย

สำหรับให้นักวิชาการด้านโบราณคดีทั่วโลกสามารถเข้าตรวจสอบรายละเอียดได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image