เรื่องเบื้องหลัง “หงเหมิง-อาร์ค” โอเอสของหัวเว่ย

หงเหมิง

เรื่องเบื้องหลัง “หงเหมิง-อาร์ค” โอเอสของหัวเว่ย

หนังสือพิมพ์ เซาธ์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ สื่อสิ่งพิมพ์ในฮ่องกงหยิบเอาเรื่องราวตั้งแต่แรกเริ่มเรื่อยมาจนถึงเวลานี้ของ “หงเหมิง” หรือ ” อาร์ค” มานำเสนอเอาไว้เมื่อ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา มีหลายเรื่องน่าสนใจจนอดนำมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น “คุณลักษณะ” สำคัญของระบบปฏิบัติการใหม่นี้ ที่ หัวเว่ย เทคโนโลยี จำเป็นต้องนำมาใช้แทน “แอนดรอยด์” และ “ไมโครซอฟท์” อย่างช่วยไม่ได้ในอีกไม่ช้าไม่นาน

ผู้สื่อข่าวของ เอสซีเอ็มพี ที่อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อระบุเอาไว้ว่า จุดเริ่มของการพัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็นของตัวเองของหัวเว่ยนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน เมือง เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย เรียกประชุม “ลับ” ผู้บริหารระดับสูงขึ้นที่วิลลาแห่งหนึ่งริมทะเลสาบในเสิ่นเจิ้น

คำถามที่ เหริน เจิ้งเฟย ต้องการคำตอบก็คือ หัวเว่ย จะทำอย่างไร ถ้าสหรัฐอเมริกาแบนหัวเว่ยไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในอนาคต?

การหารือเป็นการลับครั้งนั้นซึ่งที่หัวเว่ยรู้จักกันในเวลานี้ในชื่อ “การสนทนาริมทะเลสาบ” ยืดเยื้อออกไปถึง 7 วัน ลงเอยด้วยการตกลงใจเห็นพ้องต้องกันว่า หัวเว่ย ควรมี โอเอส เป็นของตนเอง

Advertisement

นำมาสู่การจัดตั้งทีมงาน “ผู้ชำนัญพิเศษ” ด้านระบบปฏิบัติการขึ้นมีหัวหน้าอยู่หลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เอริค สวี จื่อจวิน หนึ่งใน 3 ประธานหมุนเวียนของหัวเว่ยในเวลานี้

หัวเว่ย กำหนดให้ทุกอย่างเป็นความลับสุดยอดเพื่อป้องกันปัญหาหลากหลายประการที่จะเกิดขึ้นตามมา ถึงกับกำหนดพื้นที่ทำงานของทีมโอเอสให้เป็นพื้นที่พิเศษ ห้ามบุคลากรอื่นเข้า ห้ามทีมโอเอสนำสมาร์ทโฟนเข้าไปด้วยซ้ำไป เป็นจุดเริ่มต้นที่กลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ “ห้องปฏิบัติการหัวเว่ย” ซึ่งรับผิดชอบงานด้านนวัตกรรมทั้งหลายของบริษัท งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

Advertisement

เรื่องนี้น่าสนใจและชวนคิดมาก เพราะปีนั้นคือปี 2012 ส่วนแบ่งการตลาดของสมาร์ทโฟนหัวเว่ยในตลาดโลก ยังไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของสมาร์ทโฟนทั้งตลาดเลยครับ

หัวเว่ยมาเจอปัญหานี้เข้าจริงๆ ตอนที่ยอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทอยู่ที่ 206 ล้านเครื่อง (ยอดชิปเมนต์เมื่อปี 2018 ตามรายงานของไอดีซี) มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของโลก แถมครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นยอดขายในตลาดต่างแดนอีกด้วย

หัวเว่ย จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “หงเหมิง” ในจีนเมื่อปีที่แล้ว และไปจดทะเบียน “หัวเว่ย อาร์ค โอเอส” กับสำนักงานสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรป เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน

“หงเหมิง” แปลเป็นไทยได้ในทำนองว่า “โลกปฐมภูมิ” ส่วนคำว่า “อาร์ค” ส่อนัยถึง “ที่หลบภัย” ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรือโนอาห์ที่นำสรรพสิ่งหลบหนีภัยน้ำท่วมโลกได้ด้วย

ริชาร์ด หยู เฉิงตง ผู้อำนวยการแผนกโมบายล์ ดีไวซ์ของหัวเว่ย เป็นคนพูดถึงระบบปฏิบัติการนี้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในการให้สัมภาษณ์สื่อเยอรมนีเมื่อเดือนมีนาคมต้นปีนี้ ก่อนที่ในราวกลางเดือนพฤษภาคม หงเหมิง หรือ อาร์ค ก็กลายเป็น “ความจำเป็นเร่งด่วน” ขึ้นมาเมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยอย่างจริงจัง

คนที่รู้เรื่องโอเอสตัวนี้ บอกกับเอสซีเอ็มพี ว่า อาร์ค โอเอส พัฒนาบนพื้นฐานที่เป็น “ไมโครเคอร์เนล” ทำให้เปลืองทรัพยากรเครื่องน้อย และตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนหรือแบทช์ไฟล์ได้ดี คนที่เคยเห็น “ยูไอ” ของอาร์ค บอกว่า เรียบ น่าเบื่อเหมือนไอโอเอส ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะทีมโอเอสศึกษาและติดตามพัฒนาการทั้งของแอนดรอยด์และไอโอเอสอย่างใกล้ชิดตลอดมา

ความท้าทายทางเทคนิคสำคัญที่สุดของทีมโอเอสในการพัฒนาอาร์คก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้มัน “คอมแพททิเบิล” กับ “แอนดรอยด์” แบบแนบเนียนไร้ที่ติได้

เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการคอมแพทกับแอนดรอยด์ได้ดี หมายความว่า ผู้ที่ใช้อาร์ค โอเอส สามารถดาวน์โหลดแอพพ์ แอนดรอยด์ทั้งหลายมาใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องให้ผู้พัฒนาแอพพ์เขียนโค้ดใหม่เพิ่มเติมอีก

ไมโครซอฟท์ เคยพยายามทำเรื่องนี้ เพื่อให้วินโดวส์สามารถใช้แอพพ์แอนดรอยด์ได้เลย ซัมซุงก็เคยเสียเวลากับความพยายามนี้เพื่อให้ ไทเซน โอเอส ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ อาร์ค โอเอส ถูกพัฒนามาให้ใช้ได้กับอุปกรณ์หลายอย่างภายในระบบนิเวศของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, โทรทัศน์ (สมาร์ททีวี) เรื่อยไปจนถึง รถยนต์และ อุปกรณ์สวมใส่ติดตัว และทุกอย่างจะคอมแพทกับแอนดรอยด์

เว็บไซต์ ออสดรอยด์ ที่เผยแพร่ภาพหลุดของยูไอของอาร์ค โอเอส ออกมา บอกว่า ในภาพ “เบลอๆ” ที่หลุดออกมานั้น มีไอคอนของแอพพ์สภาพอากาศ อยู่ พร้อมข้อความที่อ้างว่า “คอมแพททิเบิล” กับ “แอนดรอยด์ กรีน อไลแอนซ์” ซึ่งหมายถึงการใช้งานได้ราบรื่น ความเสถียร การสิ้นเปลืองพลังงาน ขีดความสามารถ ความปลอดภันและการป้องกันความเป็นส่วนตัว อยู่ในมาตรฐานของแอนดรอยด์ทั้งหมด

จริงหรือไม่จริง เล่นแอพพ์แอนดรอยด์ได้เนียนแค่ไหน ต้องวัดกันจากของจริงว่า จะเบียดแทรกไอโอเอสกับแอนดรอยด์ที่ใช้กันอยู่ในสมาร์ทโฟน 99.9 เปอร์เซ็นต์ทั้งโลกได้หรือไม่ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image