เมื่อกูเกิลเลิกทำแท็บเล็ต?

(AP Photo/Jeff Chiu, File)

เมื่อกูเกิลเลิกทำแท็บเล็ต?

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า กูเกิล กิจการในเครืออัลฟาเบท อิงค์. ของสหรัฐอเมริกา ตรงไปตรงมาเป็นพิเศษ เมื่อออกมายืนยันข่าวเล่าลือที่ปรากฏครั้งแรกในคอมพิวเตอร์เวิลด์ กับ บิซิเนส อินไซเดอร์ ว่า บริษัทไม่เพียงยกเลิกโครงการวางจำหน่ายแท็บเล็ต 2 อีก 2 ตัวในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ไปแล้วเท่านั้น ยังจะวางมือจากธุรกิจการผลิตแท็บเล็ตทั้งหมดไปด้วยพร้อมๆ กัน

ถึงขั้น ริค ออสเตอร์โลห์ รองประธานอาวุโสแผนกฮาร์ดแวร์ ของกูเกิล ลงทุนออกมายืนยันเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเองผ่านทวิตเตอร์ เมื่อ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา

แต่เนื้อหาของทวีตดังกล่าวของออสเตอร์โลห์ ทำให้บางคนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ที่ต้องออกมายืนยันอย่างเป็นทางการดังกล่าว เป็นเพราะต้องการใช้โอกาสนี้ ยืนยันเอาไว้ด้วยว่า “แอนดรอยด์ และโครม โอเอส ทีมจะยังคงยึดมั่นในพันธกิจทำงานเพื่อหุ้นส่วนธุรกิจของเราบนแท็บเล็ตต่อไป 100 เปอร์เซ็นต์” ในทุกเซ็กเมนต์ของตลาด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของคอนซูเมอร์หรือในส่วนของเอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นอาทิ

เพราะนั่นคือ กังวลสำคัญของผู้บริโภคและผู้ผลิตแท็บเล็ตทั่วไป ที่อาศัยแอนดรอยด์ โอเอส ซึ่งกูเกิลพัฒนาขึ้นสำหรับเป็นพื้นฐานระบบปฏิบัติการของตน

Advertisement

ในเวลาเดียวกัน ผู้ที่นิยมหรือถือหาง แอปเปิล อิงค์. ก็กระพือข่าวดังกล่าวนี้ทันที ภายใต้ข้อสรุปง่ายๆ ที่ว่า ในที่สุดผลของสงครามแท็บเล็ตก็ปรากฏชัด กูเกิล แพ้อีกแล้ว กูเกิลแท็บเล็ตแพ้ไอแพดอีกครั้ง คราวนี้ราบคาบหมดจดเสียด้วย

ทำไมกูเกิลถึงทำแท็บเล็ตสู้แอปเปิลไม่ได้ ผู้ที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีระหว่างประเทศให้คำอธิบายอยู่หลายอย่างด้วยกัน

ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ เหตุผลส่วนใหญ่นั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กูเกิล “ทำตัวเอง” ทั้งสิ้น ซึ่งชวนให้คิดอย่างมาก เพราะหากพูดถึงแท็บเล็ตแอนดรอยด์ที่ผ่านมา มีแท็บเล็ตดีๆ อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากค่ายซัมซุง รวมทั้งกาแล็กซี แท็บ เอส 4 ที่บางคนบอกว่าเป็นแอนดรอยด์แท็บเล็ตที่ดีที่สุดของปีนี้ หรือแม้แต่เอ็กซ์พีเรีย แซด 4 แท็บเล็ตบางระดับซุปเปอร์ของโซนี เป็นอาทิ

Advertisement

กูเกิล เริ่มต้นพัฒนาแท็บเล็ตจากการร่วมมือกับโมโตโรล่า พัฒนา “ซูม” ออกมาด้วยกัน หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนา “เน็กซัส” เรื่อยมาจนถึง “พิกเซล สเลท” ที่เริ่มต้นด้วย แอนดรอยด์ โอเอส ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “โครม โอเอส” ก่อนที่จะยุติลงในที่สุด

คนที่รู้จักแท็บเล็ตของกูเกิลดียืนยันว่าจริงๆ แล้ว กูเกิล ทำแท็บเล็ตที่ดีออกมาได้เหมือนกัน แต่ที่น่าเสียดายก็คือ แม้จะดีแล้วก็ยังไม่ดีถึงที่สุด ไม่ดีพอที่จะยกขึ้นมาเทียบเคียงกับไอแพด ได้แบบสูสีด้วยซ้ำไป

ปัญหาถ้าไม่อยู่ที่ฮาร์ดแวร์ก็มักเกิดขึ้นกับซอฟต์แวร์ สิ่งที่ชัดเจนอย่างหนึ่งสำหรับแอนดรอยด์ โอเอส ก็คือ มันเป็นระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดหนึ่งในสองระบบเท่าที่มีอยู่ แต่ไม่ใช่สำหรับแท็บเล็ต

ข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นชัดจากความเห็นของหลายต่อหลายคนที่ยืนยันว่า ในบรรดาแท็บเล็ตที่กูเกิลทำออกมา เน็กซัส 7 คือแท็บเล็ตที่ดีที่สุด แต่นั่นเป็นเพราะเน็กซัส 7 แทบจะไม่เป็นแท็บเล็ต แต่เป็น “แฟ็บเล็ต” ตัวแรกๆ ของวงการ ก่อนที่โลกจะก้าวมาถึงยุคของสมาร์ทโฟนจอใหญ่เท่านั้นเอง

ผู้รู้บางคนเชื่อว่า ปัญหาของกูเกิลก็คือ ความไม่เอาจริงเอาจังต่อแท็บเล็ตเท่าที่ควรของกูเกิลมาตั้งแต่ไหนแต่ไร อย่างน้อยก็ไม่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับมันเท่ากับที่แอปเปิลให้ความสำคัญกับการพัฒนาไอแพดและระบบแวดล้อม หรือแม้แต่ไมโครซอฟต์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแท็บเล็ตผสมโน้ตบุ๊กของตนเอง

ข้อเท็จจริงที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ก็คือ กูเกิล มีแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมาให้กับแท็บเล็ตโดยตรงน้อยมาก ถ้าหากยังมีอยู่บ้าง ในขณะที่นักพัฒนาแอพพ์ส่วนใหญ่ เริ่มต้นจากการพัฒนาแอพพ์แอนดรอยด์บนสมาร์ทโฟนกันทั้งสิ้น ผลก็คือ แอพพ์ที่รันบนแท็บเล็ตแอนดรอยด์ คือ แอพพ์สมาร์ทโฟนเท่านั้น

ยิ่งกูเกิลพยายามปรับเปลี่ยนระบบปฏิบัติการให้กลายเป็นโครม โอเอส ยิ่งทำให้ผู้ใช้รู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาอีกมากจากปัญหาสะดุดชะงัก ในทันทีที่ถอดคีย์บอร์ดออก หรือไม่ก็เปลี่ยนจากโหมดโน้ตบุ๊กเป็นแท็บเล็ต

อีโคซิสเต็ม หรือระบบแวดล้อม ทำให้ไอแพดประสบผลสำเร็จ เพราะไม่ได้ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่า ยังคงใช้สมาร์ทโฟนอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่มีหน้าจอใหญ่ขึ้นได้สำเร็จ ในขณะที่กูเกิลไม่สามารถทำได้เช่นนั้น

การสร้างแอพพลิเคชั่น อีโคซิสเต็ม สำหรับอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งขึ้นมา เป็นเรื่องลำบากสาหัส มีบริษัทน้อยรายที่ประสบความสำเร็จ และเติบใหญ่อย่างต่อเนื่องได้

โจทย์มีตั้งแต่เรื่องของการทำให้ผู้พัฒนาแอพพ์เชื่อมั่น จนตั้งอกตั้งใจพัฒนาแอพพลิเคชั่นเฉพาะแท็บเล็ตออกมาให้ดีกว่าได้ เรื่อยไปจนถึงการสร้างฐานผลิตภัณฑ์ให้ได้มากพอต่อการรองรับการก่อเกิดรายได้ของผู้พัฒนา นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องมีเครื่องมือซึ่งต้องดีพอ ง่ายพอ และต้องไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ หรือไม่ก็จำเป็นต้องมีเงินรายได้ล่อใจได้เพียงพอ หรือต่อเนื่องได้นานพอ ฯลฯ

ที่ผ่านมา กูเกิลพยายามหลายๆ ทาง แล้วก็กลายเป็นการทำให้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี รวนเร เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยูไอ (ยูสเซอร์อินเตอร์เฟซ) เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก, ฟอร์ม แฟกเตอร์ก็เปลี่ยน แท็บเล็ตใหญ่ขึ้น แล้วก็เล็กลง แล้วก็ถูกลง แต่แล้วก็กลับแพงขึ้นมาอีกครั้ง แพงในระดับ “พรีเมียม” แต่ เพอร์ฟอร์แมนซ์ กลับเหมือนอุปกรณ์ “เบตา” ยังไงยังงั้น

สำหรับบางคนเชื่อว่า การที่กูเกิลเลิกล้มการผลิตแท็บเล็ต กลับจะเป็นผลดีในทางเศรษฐกิจต่อบริษัทเองด้วยซ้ำไป ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่สำหรับผู้บริโภคแล้วกลับเป็นตรงกันข้าม

ผู้บริโภคที่ใช้งานแท็บเล็ตแอนดรอยด์อยู่ในเวลานี้ มีแต่จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เกี่ยวกับอนาคตของระบบปฏิบัติการของตนเองในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image