ส่องทิศทางแอนิเมชั่นไทย โกอินเตอร์ได้อย่างไร

“สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” (depa) เผยผลสำรวจมูลค่าธุรกิจ “ดิจิทัลคอนเทนต์” ในไทยปี 2560 ครอบคลุม 3 สาขาหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแอนิเมชั่น อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ มีมูลค่ารวมกันประมาณ 25,040 ล้านบาท แบ่งเป็น อุตสาหกรรมแอนิเมชั่น มีมูลค่ารวม 3,799 ล้านบาท, อุตสาหกรรมเกม 19,281 ล้านบาท, อุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ มูลค่ารวม 1,960 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มูลค่าธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในไทย เพิ่มขึ้นเป็น 28,000 กว่าล้านบาท และคาดการณ์ปี 2562 จะมีมูลค่ากว่า 31,000 ล้านบาท โดยประเมินจากปริมาณงานที่ผู้ประกอบการกำลังผลิต รวมทั้งแนวโน้ม และปัจจัยบวกต่างๆ ของตลาด และความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อช่วยกันผลักดัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการขายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์

ปัจจุบันฝีมือการสร้างสรรค์ “ดิจิทัลคอนเทนต์” ของคนไทย พัฒนาไปไกลมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก บวกกับความสนใจในสื่อดิจิทัลของผู้คนในปัจจุบัน ที่มีการแชร์ส่งต่อผ่านสื่อออนไลน์กันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ชื่อเสียงในงานต่างๆ จากฝีมือคนไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจ “ดิจิทัลคอนเทนต์” เติบโต และขยายไปในตลาดต่างประเทศได้ในที่สุด

ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เปิดเวที “Thailand Animation Pitching Workshop 2 (TAP)” หนึ่งในกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content Cluster) และเชิญวิทยากรระดับอินเตอร์ทั้งจากญี่ปุ่น ACALI Inc. และฝั่งอเมริกา ค่ายการ์ตูนเน็ตเวิร์ก มาร่วมแชร์มุมมองและการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทย พร้อมด้วยมุมมองจากผู้ประกอบการไทย

แนะแอนิเมเตอร์ไทยปรับกลยุทธ์

Advertisement

มุมมองสำคัญจากผู้ประกอบการระดับอินเตอร์ อย่าง ยูกะ มัตสึโมโตะ ซีอีโอ บริษัท ACALI Inc. เปิดเผยว่า วิธีการและกลยุทธ์แบบตะวันตกเป็นการขายของ (ไอเดีย) ก่อนการผลิต หรือตั้งแต่อยู่ในขั้นตอน Pre-Production ซึ่งเทียบได้กับแนวคิดการขายไอพี ในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นที่กำลังเป็นเทรนด์ที่ต้องไป โดยผู้สร้างสรรค์งาน (Creator) ควรเริ่มต้นด้วยการมองหาพันธมิตรและสื่อ เพื่อเชื่อมต่อไปถึงผู้ซื้อ (Buyer) ก่อน หลังจากขายไอเดียได้ มีผู้ตกลงซื้อแน่นอนจึงเริ่มการผลิตและส่งมอบผลงาน การที่มีผู้ซื้อก่อน ทำให้รู้ว่าแอนิเมชั่นเรื่องนั้นๆ ขายได้แน่นอน และอาจได้รับเงินทุนมาใช้จ่ายในขั้นตอนการผลิต แต่จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับอุตสาหกรรมสื่ออย่างเช่น Cartoon Network เพื่อหาว่าเขากำลังมองหาอะไร จากนั้นกลับมาบอกนักสร้างสรรค์งานที่สตูดิโอ แล้วก็จะนำไอเดียไปเสนอลูกค้า ซึ่งถ้าไอเดียนั้นได้รับอนุมัติก็หมายความว่าไอเดียนั้นขายได้ ไอพีของ

สตูดิโอขายไปสู่ขั้นตอนการผลิตแล้ว

ส่วนวิธีการดีที่สุดสำหรับการขายไอพี ในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น เพราะหมายถึงการที่ไม่ต้องรอผลิตเสร็จแล้วค่อยขาย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าค่ายแอนิเมชั่นบางแห่งของญี่ปุ่น จึงยังคงเลือกแนวทางสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาก่อน เพราะการรอคอยคำตอบจากผู้ซื้ออาจนานมาก รวมทั้งบางส่วนมีการสร้างเป็นชุมชนผู้ผลิตแอนิเมชั่นญี่ปุ่น เป็นเครือข่ายในการทำตลาดในประเทศ ก่อนจะขยายสู่ตลาดโลกต่อไป อย่างไรก็ตาม แนวทางการทำตลาดไอพีสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับวงการแอนิเมชั่นในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยด้วย

Advertisement

ทั้งนี้ เห็นว่านักสร้างแอนิเมชั่นและสตูดิโอของไทย มีทักษะและศักยภาพในการบุกตลาดโลกไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการผลิต และตัวนักสร้างสรรค์ (Creator) มีคำกล่าวว่า คนไทยโตมากับแอนิเมชั่นญี่ปุ่น ดังนั้นพวกเขาน่าจะรู้จักแอนิเมชั่นของญี่ปุ่นดีกว่าตนเอง ซึ่งเติบโตในสหรัฐอเมริกา

ชี้แอนิเมชั่น-การ์ตูนเด็กเติบโต

นายไซลัส ฮิกคีย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาและผลิตแอนิเมชั่น บริษัท เทอร์เนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำเอเชียแปซิฟิก เผยต่อว่า สำหรับภาพรวมตลาดแอนิเมชั่นสำหรับเด็กหรือการ์ตูนเด็ก เป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลและมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับธุรกิจเกี่ยวกับเด็กที่แนวโน้มยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดแอนิเมชั่นสำหรับเด็กยังมีปัจจัยการเติบโตจากการแพร่กระจายของแพลตฟอร์มดิจิทัลอีกด้วย ถึงแม้ว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าสู่สังคมสูงวัยในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยว่าจะส่งผลให้การเติบโตของแอนิเมชั่น “สะดุด” หรือไม่ ค่ายการ์ตูน เน็ตเวิร์ก ระบุชัดว่าจากประสบการณ์ในธุรกิจนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณความน่ากังวลข้อนี้ พร้อมยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปแล้ว แต่แอนิเมชั่นก็ยังคงได้รับความนิยม และวงการนี้ยังเติบโต ตัวอย่าง แอนิเมชั่นเรื่องดังอย่าง Batman ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี ผู้ชมทุกเพศทุกวัยทั่วโลก ยังคงเฝ้าติดตามไม่ว่าจะมีการสร้างงานออกมาในรูปแบบไหน เช่น มีทั้งการผลิต เวอร์ชั่นสำหรับเด็ก จนมาถึงวัยผู้ใหญ่ก็มี Batman ที่เป็น Dark Version ออกมาให้ชม มีหลากหลายสำหรับผู้ชมให้ดูได้ทุกกลุ่ม (mix audience) นี่คือตัวอย่างชัดเจนว่า แอนิเมชั่นที่ได้รับความนิยม จะยังคงทำเงินได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยระยะเวลา เราเรียกว่าเป็น Elastic Property (สินทรัพย์ที่มีความยืดหยุ่น) มีคนแทบทุกช่วงวัยยังสนุกกับการติดตาม Batman

จุดแข็ง-จุดอ่อนของไทย

นายศศพิชญ์ รุจิรัตน์ โปรดิวเซอร์แอนิเมชั่น บริษัท ทรู คอร์ป เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมของ แอนิเมชั่นในไทย ตลอดช่วงมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการรับงานจากต่างประเทศเยอะขึ้นมากๆ ในส่วนการเอาต์ซอร์ส เช่น

วิชวล เอฟเฟ็กต์ จากฮอลลีวู้ด อย่างที่คุณไซลัสพูดไปนิดนึงว่า มันอาจจะไม่ใช่การผลิตคอนเทนต์โดยตรง แต่ช่วยทำให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีทักษะที่สามารถพัฒนาเพิ่มขึ้น รวมทั้งคุณภาพงานที่เราจะสร้างเข้าไปในระดับมาตรฐานของฮอลลีวู้ดได้ สตูดิโอไทยสามารถผลิตงานที่ตลาดโลกต้องการได้ หากวิเคราะห์และมองในภาพรวมขณะนี้ด้านคุณภาพมองว่าไม่มีปัญหา จะมีในส่วนของการคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ หรือเรียกว่า pre-production ยังเป็นจุดอ่อน ตรงนี้อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งเอกชนใหญ่ๆ หรือภาครัฐบาล เพราะเป็นการทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ (skill creative) ของบุคคล ดังนั้น อาจมองว่าไม่ใช่จุดอ่อนก็ได้ แต่มองว่าเป็นจุดแข็ง คือ ใครก็ตามไม่จำเป็นต้องจบด้านแอนิเมชั่น ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มากมาย แต่ต้องมีไอเดียสร้างสรรค์ (creative idea) ก็สามารถทำตรงนี้ขึ้นมาได้

“นี่เป็นจุดแข็ง ไม่ใช่จุดอ่อน คือ สิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องพึ่งภาครัฐ แต่เมื่อจะข้ามไปถึงขั้นตอน production, เข้า post-production จุดนี้อยากจะให้ภาครัฐ หรืองบจากเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาสนับสนุน”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมแอนิเมชั่นในไทยยังคงเห็นสัญญาณบวกต่อเนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการรับงานจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะทำกับหลายๆ แห่งจนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในคุณภาพงาน ทั้งจากอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ประเทศอย่าง อินเดียกับมาเลเซีย ก็ใช้วิธีเดียวกัน คือรับงานจากต่างประเทศเป็นเวลาหลายๆ ปี จนกระทั่งมีความสามารถทำงานได้มาตรฐานเดียวกัน รวมถึงเมื่อได้เห็นงาน ก็รู้ว่างานที่ดีต้องเป็นอย่างนี้

ในส่วนภาพรวมของไทย น่าจะเป็นการรับงานจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่วิธีที่แปลก เป็นวิธีการที่หลายประเทศทำกัน การรับงานจากต่างประเทศ ทำให้เราได้งบมาใช้ในการผลิตโปรเจ็กต์ของเราเองขึ้นมาได้ เป็นวิธีสากลปกติ

การที่ได้ออกไปข้างนอกดูงานในระดับโลกภาครัฐให้การสนับสนุนที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการได้ไปออกอีเวนต์ ออกบูธในงานต่างๆ เช่น ที่เมืองคานส์ ที่ลาสเวกัส เป็นต้น สิ่งนี้ภาครัฐได้ดำเนินการช่วยผู้ประกอบการมานานแล้ว แต่อาจจะไม่สามารถเห็นผลเป็น KPI เป็นตัวเงินได้ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดเป็นรูปธรรมอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าตลาดโลกเป็นอย่างไร ทิศทางที่เราจะต้องไปเป็นยังไง และยังได้พบกับว่าที่ลูกค้าในอนาคต ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสร้างเครือข่ายและคอนเน็กชั่นได้เลย

สิ่งที่ประเทศเรายังสู้ประเทศอื่นไม่ได้ ก็คือเรื่องการสนับสนุนเรื่องภาษี เรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ เข้าใจว่าถ้าเป็นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มมีแล้ว แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น กำลังพยายามร่วมผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งส่วนนี้จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้ไกลยิ่งขึ้นรวมถึงยังสามารถสร้างเม็ดเงินรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย ข้อมูลจากคุณไซลัส ที่ได้เข้าไปลงทุนประเทศมาเลเซียคือสามารถขอคืนภาษีได้เกิน 50% ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับที่ในหลายประเทศโดยรอบทำอยู่ และหากไทยไม่มีแล้ว เมื่อนักลงทุนจะต้องเลือก ก็จะตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าราคาจะเท่ากัน แต่พอมีเรื่องของภาษีนักลงทุนก็ไปตรงนั้น เพราะว่าตอนนี้คุณภาพก็เท่าๆ กัน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญก็คือ เรื่องภาษา ประเทศอื่นก็จะได้เปรียบและชนะประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image