คนเหมืองขุดอัญมณี เจอฟอสซิล “โมซาซอร์”

คนงานเหมืองบริษัท เอนแฮนซ์ ดีไซน์ส ที่ขุดหาฟอสซิลของเปลือกหอยล้านปี “แอมโมไนต์” หอยทะเลยุคโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหอยวงนอติลัสที่วิวัฒนาการมาและมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะแปรสภาพเป็นหินหลากสีสัน คล้ายคลึงกับโอปอล จนสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอัญมณี “แอมโมไลต์” ราคาแพงได้ ในแหล่งขุดที่แบร์พอว์ ฟอร์เมชั่น ในรัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ผิดหวังไม่น้อยที่แทนที่จะได้แอมโมไนต์ กลับกลายเป็นซากฟอสซิลโครงกระดูกของสัตว์ขนาดใหญ่ขึ้นมาแทน

แต่คนที่ดีอกดีใจกับการขุดพบครั้งนี้มากที่สุดกลับเป็นบรรดานักบรรพชีวินวิทยาทั้งหลาย รวมทั้ง โดนัลด์ เฮนเดอร์สัน ภัณฑารักษ์ด้านไดโนเสาร์จาก พิพิธภัณฑ์บรรพชีวิต รอยัล ไทร์เรลล์ ในเมืองดรัมเฮลเลอร์ รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ที่ได้รับมอบซากฟอสซิลโครงกระดูกดังกล่าวมาไว้ในครอบครอง เพราะนั่นคือฟอสซิลของ “ปีศาจแห่งท้องทะเล” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โมซาซอร์” สิ่งมีชีวิตในยุคโบราณเมื่อประมาณ 70 ล้านปีมาแล้ว ขณะที่ไดโนเสาร์ยังครองโลก ในสภาพที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดซากหนึ่งเท่าที่เคยมีการขุดค้นพบมา

(ภาพ-Art by Julius T. Csotonyi; Courtesy of the Royal Tyrrell Museum of Palaeontology in Drumheller, Alberta)

“เราได้ทุกอย่างมาครบถ้วน ตั้งแต่หัวไปจนเกือบถึงส่วนปลายหางเลยทีเดียว” เฮนเดอร์สันระบุ แม้จะยอมรับว่าส่วนที่เป็นครีบหรือฟลิปเปอร์จะเน่าเปื่อยเสียหายไปตามกาลเวลาหรือไม่ก็ถูกกัดไปแล้วก็ตาม

ฟอสซิลดังกล่าวถูกฝังอยู่ในบริเวณชั้นหินตะกอนสีดำอ่อนนุ่ม ดังนั้น การขุดเพื่อจัดเตรียมซากจึงไม่ยากลำบากมากนัก เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า โมซาซอร์ ที่พบขนาดอยู่ระหว่าง 6-7 เมตร เฮนเดอร์สันบอกว่าถือว่ามีขนาดใหญ่เลยทีเดียว แต่โดยปกติ โมซาซอร์ก็ถือว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่อยู่แล้วเพราะจำเป็นต้องมีชีวิตรอดอยู่ในยุคนั้น

Advertisement

โมซาซอร์ เป็นสัตว์นักล่าที่อยู่ส่วนบนสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ใช่ไดโนเสาร์ ซากฟอสซิลที่พบมีรวมถึงส่วนที่เป็นกระเพาะอาหาร และซากสัตว์อื่นๆ ที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งแสดงให้เห็นว่า อาหารโปรดของมันคือ สัตว์จำพวกเต่า ปลา แอมโมไนต์ และแม้กระทั่ง โมซาซอร์ ด้วยกันเอง

สิ่งที่เป็นอาวุธสำคัญในการล่าของมันก็คือ ฟันด้านบนที่ติดกับเพดานปาก ที่นอกจากจะมีขนาดใหญ่แล้วยังโค้งงอเข้าด้านใน เฮนเดอร์สันสันนิษฐานว่า ในทันทีที่มันงับเหยื่อได้ ฟันบนจะทำหน้าที่เหมือนกับดัก ยึดตัวเหยื่อไว้ไม่ให้ดิ้นหนีออกทางด้านหน้า หลุดจากปากของมันไป

“หนทางเดียวที่จะหลุดจากฟันแหลมคมนั้นได้คือการไถลตัวเข้ามาด้านใน ซึ่งเท่ากับหลุดเข้าไปในลำคอของมันนั่นเอง”

Advertisement

สำหรับพื้นที่บริเวณ แบร์พอว์ฟอร์เมชั่น ในรัฐอัลเบอร์ตา นั้นเมื่อราว 70 ล้านปีมาแล้ว ยังคงอยู่ภายใต้ผืนน้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลปิดภายในทางตะวันตกของทวีปอเมริกา ที่กินอาณาเขตตั้งแต่บริเวณอ่าวเม็กซิโกในปัจจุบัน ขึ้นไปจนจรดทะเลอาร์กติก ทำให้ในปัจจุบันกลายเป็นแหล่งที่มีการขุดพบซากฟอสซิลของสัตว์ทะเลในยุคบรรพกาลอยู่เป็นประจำ อย่างน้อยก็ 1-2 ซากทุกๆ ปี

แต่ไม่มีครั้งไหนที่ซากฟอสซิลที่พบจะแทบครบถ้วนสมบูรณ์มากเท่านี้มาก่อนเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image