อังกฤษชูยุทธศาสตร์การเงิน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต

รัฐบาลอังกฤษประกาศ “ยุทธศาสตร์การเงินสีเขียว” (Green Finance Strategy) หรือยุทธศาสตร์การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เน้นเพิ่มการลงทุนในโครงการและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืน พร้อมย้ำจุดยืนของสหราชอาณาจักรในการเป็นผู้นำลดการปล่อยคาร์บอน มุ่งบรรลุเป้าหมายตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050

นายจอห์น เกล็น รัฐมนตรีที่รับผิดชอบภาคการเงินของสหราชอาณาจักร ประกาศเปิดตัวยุทธศาสตร์การเงินสีเขียวในที่ประชุมสุดยอดด้านการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Finance Summit) ครั้งที่ 3 ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า ภาคบริการทางการเงินจะมีบทบาทสำคัญกว่าภาคอื่นๆ ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นโอกาสสร้างลอนดอนให้เป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนเพื่อ “ธุรกิจสีเขียว” ท่ามกลางกระแสโลกที่กำลังเคลื่อนไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะกำหนดแผนการเพิ่มการลงทุนในโครงการและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนจุดยืนของอังกฤษในการเป็นผู้นำด้านการลดการปล่อยคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 นอกจากนี้ยังจะพัฒนาต่อยอดผลการศึกษาของคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures) ซึ่งนำโดยไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก และมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ

Advertisement

ส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์กล่าวถึงการวางแนวทางให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเจ้าของสินทรัพย์ใหญ่ๆ เปิดเผยข้อมูลว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อกิจกรรมทางธุรกิจอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษจะร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายนี้ โดยอาจพิจารณาออกมาตรการบังคับเปิดเผยข้อมูลหากจำเป็น

นอกจากนี้ยังมีการประกาศแนวทางอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การร่วมทุนกับรัฐบาลท้องถิ่นของกรุงลอนดอน สนับสนุนสถาบันการเงินสีเขียว (Green Finance Institute) เพื่อสานความร่วมมือที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้นักลงทุน และผลักดันให้สหราชอาณาจักรเป็นศูนย์กลางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมของโลก

การจัดตั้งกองทุนการเงินเพื่อบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Home Finance) มูลค่า 5 ล้านปอนด์ เพื่อนำร่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น สินเชื่อสีเขียวเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งใช้นโยบายการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมมาสนับสนุนการใช้พลังงานในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ออกมาตรการจูงใจเพื่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Advertisement

การออกกฎเกี่ยวกับการศึกษาด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Finance Education Charter) เพื่อกำหนดให้หลักสูตรและวุฒิการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาคการเงินต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรในวิชาชีพมีความพร้อมในการดำเนินตามยุทธศาสตร์

กำหนดให้การทำงานและการออกกฎเกณฑ์ใดๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ต้องคำนึงถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย หน่วยงานกำกับดูแลเหล่านี้รวมถึง Prudential Regulatory Authority (หน่วยงานกำกับดูแลด้านความมั่นคงของผู้ประกอบธุรกิจการเงิน), Financial Conduct Authority (หน่วยงานกำกับเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการเงิน) และ Financial Policy Committee (คณะกรรมการนโยบายการเงิน)

มีบทบาทในระดับโลกด้วยการตั้งงบประมาณ 5,800 ล้านปอนด์ สำหรับการเงินที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ เพิ่มความพยายามในด้านนี้ผ่านเวทีการประชุม เช่น การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการมาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN’s Climate Action Summit) รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนในการกำหนดหลักทางการเงินเพื่อค่อยๆ ยกเลิกการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานถ่านหิน และดูแลให้สหราชอาณาจักรให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศต่างๆ ไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมายที่ระบุในความตกลงปารีส

สัปดาห์ที่แล้วสหราชอาณาจักรนับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศแรกของโลกที่ได้ผ่านกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งทำให้ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมสมัยใหม่ของอังกฤษต้องคำนึงถึงการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

ปัจจุบันสหราชอาณาจักรเป็นผู้นำด้านการตัดลดการปล่อยคาร์บอน เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเติบโตขึ้นประมาณสองในสามในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การปล่อยคาร์บอนกลับลดลงกว่า 40% ซึ่งหมายความว่าอังกฤษเป็นประเทศที่ทำผลงานด้านนี้ได้ดีที่สุดในกลุ่มประเทศจี 7 อย่างไรก็ตาม ขณะที่ธนาคารอังกฤษประมาณ 70% มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเงินประการหนึ่ง แต่กลับมีเพียง 10% เท่านั้นที่มีมาตรการระยะยาวเพื่อจัดการกับความเสี่ยงนี้

ยุทธศาสตร์ล่าสุดนี้ของอังกฤษนับเป็นการต่อยอดจาก พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกฎหมายลักษณะนี้ฉบับแรก และมีแนวทางจะนำแผนสิ่งแวดล้อม 20 ปีเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image