ซิสโก้ จับมือ ม.อ. สร้างโมเดลเมืองอัจฉริยะ

ซิสโก้ จับมือ ม.อ. สร้างโมเดลเมืองอัจฉริยะ

สมาร์ทซิตี้ หรือ เมืองอัจฉริยะ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง และมีหลายเมืองที่มีความพยายามในการพัฒนาเพื่อไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ แต่ละเมืองก็อาจจะมีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป เป้าหมายหลักก็เพื่อการทำให้ประชาชนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ตามนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการให้คำนิยามเมืองอัจฉริยะว่า หมายถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง การลดค่าใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากร การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง โดยต้องดำเนินการภายใต้แนวเมืองน่าอยู่ และกำหนดรูปแบบของเมืองอัจฉริยะต้นแบบ ประกอบด้วย 6 สาขาอัจฉริยะ ได้แก่ เศรษฐกิจอัจฉริยะ, ระบบขนส่งและการสื่อสารอัจฉริยะ, พลังงานและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ, ระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ, พลเมืองอัจฉริยะ และการดำรงชีวิตอัจฉริยะ

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ซิสโก้ ผู้นำด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตระดับโลก และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จึงได้ร่วมมือกันสร้างโมเดลเมืองอัจฉริยะขึ้น ภายในพื้นที่เขตของ ม.อ. เพื่อเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะสำหรับผู้ที่สนใจมานำไปใช้ได้ต่อไป

ภายในพื้นที่ของ ม.อ.ที่มีทั้งหมดราว 1,800 ไร่ ถูกเติมเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่มาช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่อยู่ใน ม.อ.

Advertisement

เริ่มตั้งแต่การเข้าไปในเขตพื้นที่ของ ม.อ. จะมีการติดตั้งกล้องและระบบตรวจสอบผู้ที่ผ่านเข้าออกอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ที่บริเวณประตูทั้ง 4 ประตู โดยผู้ที่เข้า-ออก เป็นประจำ จะต้องมีบัตรประจำตัวสำหรับการแสดงตน ที่จะใช้ระบบ RFID long range ในการตรวจสอบ หรือหากเป็นบุคคลทั่วไป ก็สามารถแสดงเป็นบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตก็ได้ และจะมีการบันทึกภาพของคนที่เข้าออก รวมไปถึงยานพาหนะที่ใช้ ซึ่งระบบในการตรวจสอบคนและรถยนต์เหล่านี้ จะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ควบคู่กันไปด้วย

โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่คอยเฝ้าดูหน้าจอที่แสดงผลจากกล้องวงจรปิดตลอดเวลา

Advertisement

อีกส่วนหนึ่งที่มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ คือ สมาร์ทฟาร์ม ที่ร่วมกับทางคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการเกษตรแบบประณีต ซึ่งได้มีการปรับพื้นที่เปล่าให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทดลองปลูกพืชโดยการอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยี เพื่อให้ได้ผลผลิตการเกษตรอย่างแม่นยำ อย่างเช่นการปลูกเมลอน องุ่น ที่อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย กรณีของเมลอน จะมีการติดตั้ง “เวท เซ็นเซอร์” ที่จะทำให้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเมลอนมากขึ้น อย่างปริมาณน้ำในเมลอน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ย ที่จะมีเซ็นเซอร์ในการวัดปริมาณน้ำ ความเข้มข้นของปุ๋ย และวัดความเป็นกรดเป็นด่าง ซึ่งทั้งหมด มนุษย์จะเป็นคนควบคุม แล้วค่อยจัดการผสมปุ๋ย ส่งต่อไปยังแปลงเมลอน เพื่อให้น้ำให้ปุ๋ยที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งหมดนี้ยังสามารถดูได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนมือถือด้วย และเราก็จะสามารถสั่งงานทั้งหมดนี้ผ่านทางมือถือได้เลย

มาถึงเรื่องของการขนส่งมวลชน ภายในมหาวิทยาลัยจะมีบริการรถรับ-ส่ง อยู่ ซึ่งบุคลากรทั้งหมดในมหาวิทยาลัยสามารถโหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อดูว่ารถจะมาถึงจุดรับ-ส่ง เวลาใด

นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่เรียกว่า สมาร์ทโพล ซึ่งจะเป็นเสาไฟฟ้าอัจฉริยะ ประกอบไปด้วย ไวไฟ, ป้าย, กล้อง, เซ็นเซอร์ตรวจสภาพอากาศ, เซ็นเซอร์ตรวจฝุ่น, ที่ชาร์จรถไฟฟ้า และปุ่มฉุกเฉิน

พร้อมกันนี้ก็ยังมีจุดจอดรถอัจฉริยะ ซึ่งจะติดตั้งเซ็นเซอร์และระบบเอาไว้ เพื่อแสดงจุดจอดรถที่ยังว่างในพื้นที่วิทยาเขต ทำให้สะดวกในการหาที่จอดรถ ช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานในการวนหาที่จอดรถ

และที่ห้องควบคุม ที่เป็นศูนย์บัญชาการและควบคุมกลาง จะเชื่อระบบทั้งหมดของ “สมาร์ท” เข้าสู่การติดตาม สั่งการ จะสามารถดูข้อมูลจากกล้องวงจรปิด รวมไปถึงระบบการเข้า-ออก ภายใน ม.อ. สามารถวิเคราะห์ทะเบียนรถ ตรวจจับใบหน้า วิเคราะห์ท่าทีของผู้คนว่ามีพิรุธต้องสงสัยหรือไม่

และระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ที่จะมีการติดตั้งระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ ตรวจวัดความชื้น ลม น้ำ ซึ่งมีการร่วมมือกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ติดตั้งระบบเฝ้าระวังลุ่มน้ำและแก้มลิงโดยรอบเมืองเอาไว้ รวมถึงภายในเทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อใช้เตือนภัยในฤดูฝน

ผู้ช่วยศาสตราจาย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ซิสโก้มาร่วมเป็นพันธมิตร ช่วยผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรากฐานและเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาต่อยอด การสร้างสมาร์ทโซลูชั่นต่างๆ โดยทางซิสโก้จะเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาในการออกแบบต่างๆ

ด้าน นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวถึงเรื่องของเมืองอัจฉริยะว่า ขอเรียกว่าเป็น “สมาร์ท แอนด์ คอนเน็กเต็ดซิตี้” คือเมืองอัจฉริยะและการเชื่อมต่อ ซึ่งเหตุผลของการเกิดเมืองอัจฉริยะ เป็นเพราะการเคลื่อนตัวของคนจากชนบทสู่ตัวเมืองมากขึ้น ผู้คนก็เข้ามาใช้ทรัพยากรในเมืองมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเกิดเมืองอัจฉริยะขึ้น

อย่างเช่น ในแต่ละวันเราต้องใช้เวลาในการหาที่จอดรถนานแค่ไหน แทนที่จะใช้เวลาเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ โซลูชั่นที่นำมาใช้ในเมืองอัจฉริยะก็จะช่วยแก้ปัญหาในการหาที่จอดรถได้ ตามคอนเซ็ปต์ของเมืองอัจฉริยะ ที่จะต้องนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน

“ซิสโก้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหลายประเทศ เรามีความเชื่อมั่นในการนำเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน หรือคอร์ เน็ตเวิร์ก และดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ออกแบบเพื่อการใช้งานเอไอ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาต่อยอดสมาร์ทโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นต่างๆ พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยแบบเอ็นด์ทูเอ็นด์มาช่วยในการตอบโจทย์การสร้าง

สมาร์ทซิตี้อย่างสมบูรณ์” นายวัตสันกล่าว และว่า สมาร์ทซิตี้จะขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วไม่ได้ หากขาดซึ่งบุคลากรที่เข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทางซิสโก้จึงได้มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรของ ม.อ.อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการซิสโก้ เน็ตเวิร์ก อคาเดมี ที่ให้ความรู้เบื้องต้นด้านไอโอทีและเดฟเน็ต ซึ่งให้ความรู้เฉพาะทาง ด้านเน็ตเวิร์กจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถด้านเน็ตเวิร์กด้วยเทคโนโลยีของซิสโก้

โดยทางซิสโก้ได้จัดการอบรม แบ่งปันความรู้และทักษะให้กับบุคลากรของ ม.อ. เพื่อรองรับความต้องการของโลกดิจิทัลในอนาคต

สุดท้าย สำหรับสมาร์ทซิตี้ที่ ม.อ.นั้น เป้าหมายก็คือต้องการให้เป็นตัวอย่างสำหรับที่อื่นที่ต้องการสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้น จะได้ไม่ต้องไปนับ 1 ใหม่ สามารถมาดูโมเดลจากที่ ม.อ.นี้ได้เลย ผสานกับโครงการสร้างบุคลากรต่างๆ ก็จะทำให้เกิดเป็นเมืองอัจฉริยะขึ้นมาได้ และโครงการของที่ ม.อ.ก็จะดำเนินต่อไป เพื่อสร้างโมเดลของเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image