หอยทากเกราะเหล็ก ยังไม่รอดน้ำมือมนุษย์

(ภาพ-Chong Chen)

หอยทากทะเล ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ชีวิตอยู่ใกล้กับปล่องน้ำร้อนใต้ท้องทะเลลึกลงไปหลายพันฟุตจากพื้นผิวมหาสมุทรวิวัฒนาการผิวเปลือกและบริเวณที่เป็นเหมือน “ตีน” ของมันให้กลายเป็นเกล็ดเหล็ก เพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรูในบริเวณที่มันอยู่อาศัย โดยการหยิบยืมเอาแร่เหล็กมาจากปากปล่องระบายความร้อนจากลึกลงไปภายในพื้นผิวโลกนั่นเอง

หอยทากทะเลตีนเกล็ด (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysomallon squamiferum) หรือที่บางคนเรียกกันว่า ลิ่นทะเล (ซี แพงโกลิน) เป็นที่รู้กันในหมู่นักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาว่า มีถิ่นอาศัยอยู่เพียง 3 จุดเท่านั้น ใกล้กับปากปล่องน้ำร้อนใต้ทะเลของมหาสมุทรอินเดีย ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2003 ที่พื้นที่อาศัยจำกัดเพียงแค่เท่าๆ กับสนามอเมริกันฟุตบอล 2 สนาม ที่ระดับความลึก 2,900 เมตร

(ภาพ-Chong Chen)

ในผลงานวิจัยที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ระบุว่า เกล็ดเหล็กที่พัฒนาเพื่อเป็นเกราะหุ้มนั้น ทำหน้าที่เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าอื่นๆ รวมทั้งหอยทากทะเลด้วยกัน ในรายงานการศึกษาชิ้นใหม่ของนักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ที่เผยแพร่เมื่อ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เปลือกของทากทะเลมี 3 ชั้น ชั้นในสุดเป็นชั้นหินปูน ถัดมาชั้นกลางเป็นชั้นชีวภาพ ด้านนอกสุดถึงจะเป็นไอร์ออน ซัลไฟด์ ทั้งยังระบุด้วยว่า หอยทากตีนเกล็ดนี้มีหัวใจขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดตัว อาจเป็นเพราะจำเป็นต้องใช้กักออกซิเจน ที่จำเป็นสำหรับแบคทีเรียซึ่งเป็นสัตว์ ซิมไบโอติค (สัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสัตว์พาหะโดยต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน) ที่มีชีวิตอยู่ในร่างกายของหอยทากชนิดนี้ และทำหน้าที่จัดหาสารอาหารที่หอยทากต้องการให้เป็นการตอบแทน

ในทางวิชาการแล้วหอยทากทะเลชนิดนี้ยังมีการศึกษาวิจัยกันน้อยมาก ในขณะที่ สหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) จัดให้มันเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

Advertisement

ถือเป็นสัตว์ทะเลสายพันธุ์แรกสุดที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำ “เหมืองในทะเล” ของมนุษย์เรานั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image