งานวิจัยใหม่ยืนยัน ไม่มี “พันธุกรรมเกย์”

(AP Photo/Rick Bowmer)

งานวิจัยใหม่เกี่ยวกับภาวะรักร่วมเพศ ที่ถือเป็นงานวิจัยที่มีขอบเขตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มา ยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มียีนหรือหน่วยพันธุกรรมจำเพาะอันหนึ่งอันใดที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นเกย์ หรือเลสเบียน ก็ตาม แม้ว่าจะพบพันธุกรรมที่แปรผัน (genetic varients) หลายพันแบบที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้อง หรือแสดงปฏิกิริยาต่อปัจจัยซึ่งไม่ได้รับจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมี 5 แบบที่ได้รับความสนใจเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากไม่เคยมีการค้นพบว่าเชื่อมโยงกับความโน้มเอียงเชิงเพศสภาพมาก่อนในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ก่อนหน้านี้ก็ตาม

งานศึกษาวิจัยครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของนักจิตวิทยา, นักสังคมวิทยา,และนักสถิติศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร,ยุโรปและออสเตรเลีย ทำการศึกษาวิจัยโดยใช้แผนที่พันธุกรรม (จีโนม) ทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเปรียบเทียบจำนวนเกือบ 500,000 คน

ทีมวิจัยพบ ลักษณะการแปรผันทางพันธุกรรม 5 แบบที่ไม่เคยตรงสอบพบมาก่อนในการศึกษาก่อนหน้านี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการนิยมรักร่วมเพศ โดยพบการแปรผันนี้เป็นการทั่วไปมากกว่าในกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่า เคยมีคู่รักเป็นเพศเดียวกัน ทั้งที่เป็นผู้ที่มีคู่รักเป็นเพศเดียวกันเท่านั้น และคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบปกติเป็นส่วนใหญ่แต่ก็เคยมีคู่รักเป็นเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังพบพันธุกรรมที่แปรผันอีกหลายพันรูปแบบที่มีแนวโน้มว่าอาจเกี่ยวข้องหรือแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบกับปัจจัยต่างๆ ที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม แต่ไม่มีหน่วยพันธุกรรมใดสามารถเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมโน้มเอียงเชิงเพศสภาพ หรือช่วยให้สามารถทำนายได้ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะเป็นเกย์หรือไม่

Advertisement

การแปรผันทางพันธุกรรมที่พบนั้นพบทั้งในเพศชายและหญิง รูปแบบการแปรผัน 2 อย่างเกิดขึ้นใกล้กับยีนซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นคนศรีษะล้านในเพศชาย และยีนเกี่ยวกับการรับกลิ่น ซึ่งทำให้เกิดข้อสังเกตน่าคิดขึ้นตามมาว่า กฏของฮอร์โมนเพศและกลิ่นอาจมีอิทธิพลต่อพฤตกรรมการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน

เบนจามิน นีล นักพันธุกรรมเชิงจิตวิทยาจากสถาบันบรอดในสังกัดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา ผู้เขียนร่วมของรายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า ผลที่ได้จากการวิจัยนั้น ชี้ชัดเจนว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายพฤติกรรมทางเพศของบุคคลจากจีโนมของบุคคลนั้นๆ อิทธิพลทางพันธุกรรมต่อพฤติกรรมทางเพศมีน้อยกว่าครึ่ง แม้ว่าจะยังคงเป็นส่วนที่สำคัญอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยอมรับเอาไว้ในรายงานด้วยว่า ผลการวิจัยครั้งนี้มีข้อจำกัดอยู่บางประการ เช่น กลุ่มตัวอย่างเพียงถูกถามเกี่ยวกับความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศเท่านั้น แต่ไม่ได้ถามเรื่องความโน้มเอียงทางเพศสภาพของกลุ่มตัวอย่าง ทำให้การวิจัยมุ่งเน้นไปเพียงเรื่องพฤตกรรมทางเพศ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการโน้มเอียงหรือการแสดงออกทางเพศสภาพว่าเป็นเกย์หรือเลสเบียน

Advertisement

งานวิจัยนี้ทำให้ ต้นกำเนิดของพฤติกรรมรักร่วมเพศยังคงไม่แน่ชัดต่อไป ก่อนหน้านี้มีหลักฐานบ่งชี้ชัดถึงการเชื่อมโยงกับพันธุกรรมจากการศึกษาเพศสภาพในคู่แฝดเหมือน อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า สภาวะทางสังคม, วัฒนธรรม, ครอบครัว,และปัจจัยเชิงชีววิทยาอื่นๆ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ในขณะที่นักการศาสนาส่วนใหญ่เชื่อและยึดถือว่าพฤตกรรมนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ในบทความแสดงความคิดเห็นซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ประกอบรายงานการวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า ลักษณะการผันแปรทางพันธุกรรม 5 อย่างที่พบใหม่ในการศึกษาครั้งนี้มีการเชื่อมโยงน้อยมากกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ

ทำให้ การใช้ผลงานวิจัยนี้เพื่อ ทำนาย, แทรกแซงพฤติกรรม, หรือ ใช้ในการรักษาพฤติกรรม เป็นไปไม่ได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image