‘เกรเตอร์ เอเดรีย’ ทวีปที่หายสาบสูญไป

ดาวว์ ฟาน ฮินสแบร์เกน นักวิชาการด้านเปลือกโลกและนักโบราณภูมิธรณีวิทยา ประธานสถาบันเปลือกโลกและโบราณภูมิธรณีวิทยา ในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์โลก ของมหาวิทยาลัยอูเทรชท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยของทีมวิจัยของสถาบันผ่านทางนิตยสาร ไซนซ์ เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุถึงตำแหน่งและรายละเอียดของแผนภูมิพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นทวีปขนาดใหญ่ที่หายสาบสูญไปหลังปรากฏอยู่เมื่อราว 240 ล้านปีก่อน เรียกว่า “เกรเตอร์ เอเดรีย”

ตามข้อสรุปจากงานวิจัยที่ใช้เวลาต่อเนื่องนานถึง 10 ปีระบุว่า เกรเตอร์ เอเดรีย คือแนวแผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่ที่ซุกอยู่ใต้พื้นที่ซึ่งเป็นเทือกเขาแอลป์ในเวลานี้ ต่อเนื่องไปจนถึงประเทศอิหร่าน โดยที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของทวีปโผล่ขึ้นมาอยู่เหนือน้ำเลย ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้มากว่า อาณาบริเวณที่เป็น เกรเตอร์ เอเดรีย นี้อาจประกอบด้วยเกาะ และหมู่เกาะจำนวนมาก ซึ่งเหมาะกับการดำน้ำท่องโลกใต้ทะเลแบบสคูบา เป็นอย่างมาก

ฮินสแบร์เกน กับทีมวิจัยใช้เวลานานปีดังกล่าวในการคำนวณและวิเคราะห์ชนิด ลักษณะของหินซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของทวีปโบราณแห่งนี้ แนวเทือกเขาซึ่งพบหินจากเกรเตอร์ เอเดรียนเหล่านี้ต่อเนื่องกันอยู่เป็นแถบยาวครอบคลุมพื้นที่อาณาเขตของประเทศต่างๆ ถึง 30 ประเทศ

“ทุกๆ ประเทศ มีการสำรวจทางธรณีวิทยาของตนเอง, มีแผนที่ของตัวเอง, และมีทวีปเป็นของตัวเอง แต่ผลของงานวิจัยหนนี้เป็นการนำเอาสิ่งที่เคยกระจัดกระจายกันอยู่ทั้งหมดนั้นมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันให้กลายเป็นภาพรวมใหญ่ขึ้นมา” ฮินส์แบร์เกนระบุ

Advertisement

ตามรายงานของฮินส์แบร์เกน เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน แผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่หลายแผ่นปรากฏอยู่บนโลกต่างเคลื่อนที่เข้าหากันและกัน เกรเตอร์ เอเดรีย นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกที่เรียกกันว่า “แอฟริกัน เทคโทนิค” (ซึ่งไม่ใช่ทวีปแอฟริกา เพราะระหว่าง ทวีปแอฟริกากับแอฟริกันเทคโทนิค เพลท นั้นมีมหาสมุทรมหึมาคั่นอยู่) แผ่น แอฟริกัน เทคโทนิคนี้เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ เข้าหา แผ่นเปลือกโลกใหญ่และเก่าแก่อีกแผ่นที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า “ยูเรเซียน เทคโทนิค” ซึ่งในเวลานี้คือตอนใต้ของทวีปยุโรป

เมื่อราว 100 ล้านปีถึง 120 ล้านปีที่ผ่านมา เกรเตอร์ เอเดรีย ปะทะเข้ากับทวีปยุโรป แล้วเริ่มต้นค่อยๆ มุดลงไปด้านใต้ของแผ่นยูเรเซียน แต่ด้วยเหตุที่ว่าแผ่นเปลือกโลกทั้งหลายไม่ได้มีความราบเรียบเหมือนแผ่นกระดาษ และไม่ได้มีลักษณะและความแข็งแกร่งเสมอกันทั่วทั้งแผ่น ดังนั้นแทนที่จะค่อยๆ มุดลงไปด้านใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นจนถึงส่วนที่เป็น “เนื้อโลก” (แมนเทิล) ด้านใต้แผ่นเปลือกโลก ส่วนที่นุ่มกว่าก็แตกกระจายออกจากแผ่นแอฟริกัน ในเวลาเดียวกันบางส่วนของแผ่นยูเรเซียนก็ถูกดันให้ปูดโป่งขึ้น เป็นเหมือน “รอยย่น” ที่ก่อรูปเป็นทิวเขาต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่มากมายซึ่งก็คือเทือกเขาแอลป์ในปัจจุบัน

มีหินโบราณจากแผ่นแอฟริกันบางส่วนถูกล็อกติดอยู่กับแผ่นยูเรเซียน จนทำให้นักธรณีวิทยาสามารถตรวจสอบพบได้

Advertisement

ในหินเก่าแก่เหล่านี้ มีสินแร่ขนาดเล็กจิ๋วที่เรียกว่า “แม็กเนติค มิเนอรัล” ปรากฏอยู่ มันเกิดจากแบคทีเรียยุคโบราณที่ใช้ชีวิตอยู่ตามซอกหินเหล่านี้ แบคทีเรียเหล่านี้สร้าง แม็กเนติค มิเนอรัล ขึ้นเพื่อให้มันสามารถเรียงตัวตามแนวสนามพลังแม่เหล็กโลกได้ เมื่อมันตายลง แม็กเนติค มิเนอรัล ที่สร้างขึ้นก็จะถูกทิ้งไว้ในตะกอนต่างๆ ซึ่งเมื่อผ่านกาลเวลานานก็จะกลายเป็นหิน เก็บกักแม็กเนติค มิเนอรัลไว้ในลักษณะเรียงตัวตามแนวสนามแม่เหล็กโลกเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ซึ่งทำให้นักธรณีวิทยาในปัจจุบันรู้ว่า มันเคลื่อนที่ผิดไปจากเดิมหรือไม่และถ้าเคลื่อนที่เคลื่อนไปมากน้อยเพียงใด

ทีมวิจัยของฮินสแบร์เกนพบว่า บางก้อนหมุนไปเยอะมากทีเดียว

ร่องรอยของ แม็กเนติค มิเนอรัล นี่เองที่ทำให้ทีมวิจัยของ ฮินส์แบร์เกน สามารถนำก้อนหินเก่าแก่มากมายมาปะติดปะต่อกันเข้าให้เป็นรูปร่างเดิมเมื่อกว่าร้อยล้านปีมาแล้วได้ใหม่ พบการเรียงตัวกันเป็นแนวเช่น ทิวภูเขาไฟเดิม หรือแนวปะการังเก่าแก่เป็นต้น

“เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ขนาดยักษ์นั่นเอง” ฮินส์แบร์เกนสรุป

หลังจากปะติดปะต่อแนวเหล่านั้นได้ ทีมวิจัยก็อาศัยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในการสร้างแผนที่ละเอียดของแผ่นทวีปโบราณขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และคำนวณการเคลื่อนตัวขึ้นเหนือ บิดตัวเล็กน้อย ก่อนมุดเข้าชนกับทวีปยุโรป

“เกรเตอร์ เอเดรีย” ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการยากเย็นแสนเข็ญและเปลืองเวลา พลังงานอย่างยิ่งเช่นนี้นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image