3ตัวยาผสม ช่วยลดความชรา?

ผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ยาผสมที่เกิดจากตัวยา 3 ชนิด สามารถเปลี่ยนแปลง “มาร์คเกอร์” หรือเครื่องหมายที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะสูงอายุในดีเอ็นเอของมนุษย์ให้กลับคืนสู่สภาพเยาว์วัยลงได้

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เอจจิง เซลล์ เจอร์นัล เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา เป็นงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบยาของบริษัท อินเทอร์วีน อิมมูน ในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่ให้บริการด้านชีวแพทย์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำกัดเพียงแค่ 9 คน ทั้งหมดเป็นชายผิวขาว อายุระหว่าง 51-65 ปี โดยไม่มีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มควบคุมในการทดลองแต่อย่างใด

กลุ่มตัวอย่างที่อาสาสมัครเข้ารับการทดลองครั้งนี้ ได้รับตัวยาผสมซึ่งได้จากการผสม โกรทฮอร์โมน, ยาสำหรับบำบัดเบาหวาน, และอาหารเสริมฮอร์โมน โดยแต่ละคนถูกกำหนดให้รับประทานยาดังกล่าวนี้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน 1 ปี หลังจากนั้นทีมวิจัยจึงตรวจสอบดีเอ็นเอของกลุ่มตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของกลุ่มเดียวกันที่จัดเก็บไว้ก่อนหน้า

สิ่งที่ทีมวิจัยมองหาคือเครื่องหมายจำเพาะที่เกิดขึ้นจากสารเคมีบนเกลียวดีเอ็นเอ ซึ่งจะสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุของคนเราเพิ่มสูงขึ้น และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอ่านอายุทางชีวะของคนจากดีเอ็นเอได้

Advertisement

สิ่งที่ทีมวิจัยพบก็คือ ผู้เข้าร่วมในการวิจัยทั้ง 9 คน สามารถลบร่องรอยการสะสมเครื่องหมายดังกล่าวลงไปได้เทียบเท่ากับปริมาณที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 2.5 ปีโดยเฉลี่ย

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เครื่องหมายบนเกลียวดีเอ็นเอของผู้ทดลองแสดงให้เห็นว่าอายุของผู้เข้าร่วมการทดลองจะอ่อนเยาว์ลง 2.5 ปี แต่เนื่องจากการทดลองใช้ระยะเวลา 1 ปีเต็ม

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าอายุของคนเหล่านั้นลดลง 1.5 ปี

Advertisement

เกรกอรี ฟาฮาย นักชีวชราภาพวิทยา (biogerontologist) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์และผู้ก่อตั้งร่วมบริษัท อินเทอร์วีน อิมมูน ระบุว่า ดีเอ็นเอของคนเราเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะสะสมเครื่องหมายทางเคมีไว้บนเกลียวของดีเอ็นเอ เครื่องหมายทางเคมีดังกล่าวนี้รวมทั้งสารเคมีในกลุ่ม เมธิล ซึ่งประกอบขึ้นจากคาร์บอนและไฮโดรเจน ซึ่งจะติดอยู่กับดีเอ็นเอ และเป็นตัวการปรับเปลี่ยนค่าที่เซลล์ในร่างกายอ่านส่วนจำเพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อมูลทางพันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงจากสารเคมีเหล่านี้ว่า “เอปิเจเนติค เชนจ์” ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องวัดอายุทางชีวภาพ ทำให้เรียกกันอีกอย่างว่า “เอปิเจเนติค คล็อก” หรือนาฬิกาที่อยู่บนพันธุกรรมนั่นเอง

เอปิเจเนติค คล็อก นี่เองที่ถูกทำให้หายไป 2.5 ปี ด้วยตัวยาผสมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เกรกอรี ฟาฮาย หัวหน้าทีมวิจัยเองยอมรับว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ยังเป็นเพียงเบื้องต้นมากเกินไป และขนาดของการทดลองยังเล็กเกินไปจนไม่สามารถสรุปได้ว่า หากนำไปใช้กับผู้อื่นจะให้ผลแบบเดียวกันหรือไม่

ซารา ฮากก์ นักระบาดวิทยาระดับโมเลกุล จากสถาบัน

แคโรลินสกา ในเมืองโซลนา ประเทศสวีเดน ยืนยันเช่นกันว่างานวิจัยนี้เป็นเพียงขั้นเริ่มต้นและไม่ได้บ่งบอกว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุของการที่ร่องรอยทางเคมีบนดีเอ็นเอของผู้ทดลองหายไป ที่สำคัญก็คือ การขาดกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในความควบคุม ซึ่งไม่ได้รับยา และการที่ไม่มีการควบคุมพฤติกรรมอื่นๆ ตั้งแต่การกิน การออกกำลังกาย เป็นต้น เป็นจุดอ่อนสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้

จำเป็นต้องมีการทดลองที่จริงจังและมีขนาดใหญ่โตกว่านี้มากจึงสามารถบอกได้ว่าตัวยาเหล่านี้มีผลต่อการลดความชราภาพได้จริงหรือไม่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image