เฟซบุ๊กร่วม’สะมาริตันส์-เชอิล’ เล่าเรื่องอาสายับยั้ง’ฆ่าตัวตาย’

10 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวัน “ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” โดยกรมสุขภาพจิตเผยรายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทย ว่ามีการพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน ในจำนวนนี้ทำสำเร็จถึง 4,000 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมากและทำให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นอันดับที่ 32 ของโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คนต่อปี ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที

ปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคม ที่หลายหน่วยงานก็พยายามที่จะหาทางช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้

เฟซบุ๊กเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานในประเทศไทยมากถึง 55 ล้านคนต่อเดือน และยังเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อผู้ใช้งานอยู่ไม่น้อย ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความพยายามในการช่วยเหลือคนกลุ่มที่พยายามจะฆ่าตัวตาย

สโนว์ไวท์ สเมลเซอร์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของเฟซบุ๊ก (Facebook) เปิดเผยว่า เป้าหมายของเฟซบุ๊กคือการให้ผู้คนมีอำนาจในการแบ่งปันและทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมต่อกัน อีกทั้งต้องการให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยในการใช้ “เฟซบุ๊ก”

Advertisement

สำหรับกรอบการทำงานของเฟซบุ๊กนั้น อย่างแรกคือเรื่องของ “นโยบาย” คือมีมาตรฐานชุมชนเป็นตัวกำหนดในเรื่องของความปลอดภัย 2.เครื่องมือที่มอบให้คนที่มาใช้เฟซบุ๊กเพื่อใช้สำหรับการควบคุม 3.ทรัพยากรสำหรับความช่วยเหลือด้านต่างๆ ในทุกจุดของผู้ใช้ 4.พาร์ทเนอร์ชิป คือการทำงานร่วมกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญ และ 5.ฟีดแบ๊ก คือข้อมูลตอบกลับเกี่ยวกับการใช้งานเพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป

สำหรับนโยบายเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองนั้น สเมลเซอร์บอกว่า เป้าหมายในเรื่องนี้ของเฟซบุ๊กคือการทำให้เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัย, ป้องกันการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง และป้องกันพฤติกรรมลอกเลียนแบบ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เพื่อการกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง อย่างเช่น เมื่อก่อนนี้ ทางเฟซบุ๊กอนุญาตให้แชร์ภาพของการทำร้ายตัวเอง เนื่องจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมองว่าการให้แชร์ภาพเหล่านั้นได้ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ

Advertisement

แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ให้คำแนะนำว่า ไม่ควรจะมีการแชร์เนื้อหาเหล่านั้น เพราะอาจจะทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ ทางเฟซบุ๊กจึงเปลี่ยนนโยบายเป็นการไม่ให้โพสต์เลย

การทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับประเทศไทย เฟซบุ๊กก็ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย

ซึ่งหลักการทำงานเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายของเฟซบุ๊ก จะใช้ทั้ง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือเอไอ ร่วมกับ “มนุษย์” เพื่อใช้สำหรับการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่ผู้ใช้จะฆ่าตัวตาย ในกรณีทั้งการดพสต์และการไลฟ์สด และจะมีแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือบุคคลนั้นๆ รวมไปถึงการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลต่อไป

โดยตัวจากจากเฟซบุ๊กทั่วโลก พบว่าตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กสามารถนำเนื้อหาที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองลงได้ถึง 1.5 ล้านเนื้อหา ในจำนวนนี้ เป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจจับได้โดยเฟซบุ๊กก่อนที่จะได้รับรายงานจากผู้ใช้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอินสตาแกรม มีถึง 8 แสนเนื้อหา และนำเนื้อหาออกได้ก่อนรับรายงานถึง 77 เปอร์เซ็นต์

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย และเนื่องในโอกาสวัน “ป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย และเชอิล ประเทศไทย กับแคมเปญ The Story of Anonymous Samaritans เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก ซึ่งจะเป็นวิดีโอสั้นพร้อมภาพวาดประกอบแบบเคลื่อนไหวฝีมือของนักวาดภาพประกอบไทย จั๊ก ปรีดิ์ จินดาโรจน์ บอกเล่า 10 เรื่องราวของอาสาสมัครจากสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้บริการฮอตไลน์ เป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้ที่มีความทุกข์หรือความคิดฆ่าตัวตาย

โดยแคมเปญเล่าเรื่องประสบการณ์ภารกิจในการช่วยชีวิตผู้คนผ่านคลิปเสียงของอาสาสมัคร 10 คนจากสะมาริตันส์ โดยอาสาสมัครเหล่านี้มีประสบการณ์ทำงานมามากกว่า 30 ปี และเป็นการทำงานโดยไม่เปิดเผยตัวตนตามนโยบายของสมาคม และเป็นการทำงานแบบจิตอาสาโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ โดยแคมเปญคลิปวิดีโอ 10 เรื่องดังกล่าวเป็นแคมเปญที่ปล่อยบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ผ่านทางเพจของสมาคมสะมาริตันส์ https://www.facebook.com/Samaritans.Thailand/ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรเอเยนซี่โฆษณาระดับโลกนำทีมโดยสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายครีเอทีฟ เชอิล ประเทศไทย และสนับสนุนโดย เฟซบุ๊ก ประเทศไทย สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย

นายตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย บอกเล่าถึงการทำงานของสะมาริตันส์ว่า เป็นการทำงานของอาสาสมัครทั้งหมด และเงินที่นำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นเงินที่ได้มาจากการบริจาค สมัยก่อนก็จะรับสายทางโทรศัพท์เป็นหลัก แต่ปัจจุบัน ใช้วิธีการแชตผ่านทางสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยคนที่คิดจะฆ่าตัวตายได้ หากแต่ปัญหาที่มีคือเรื่องของอาสาสมัครที่ยังมีไม่มากพอกับงานที่มี และเวลาที่จำกัดของแต่ละคน อีกทั้งยังเรื่องของเงินที่จะต้องใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งถือว่าสูงอยู่พอสมควร

“ในปี 2561 ที่ผ่านมา เราได้รับข้อความกว่า 3,000 ข้อความ จากคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงเท่าตัว และใน 6 เดือนแรกของปี 2562 นี้ เราก็ได้รับข้อความมากกว่า 3,000 ข้อความผ่าน Messenger ซึ่งเราเห็นว่าวัยรุ่นหรือคนวัยหนุ่มสาวสะดวกใจที่จะส่งข้อความผ่านทางแอพพ์ มากกว่า โซเชียล มีเดียในมุมมองนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนได้เข้าถึงความช่วยเหลือได้โดยตรง เพราะหลายคนยังติดที่ความรู้สึกว่าไม่กล้าโทรหรือรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะโทรศัพท์เข้ามาคุยกับอาสาสมัคร” นายตระการกล่าว

นายสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายครีเอทีฟ เชอิล ประเทศไทย กล่าวว่า “ได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับทางสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และรู้สึกชื่นชมกับความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของทางสมาคมเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของเพื่อนมนุษย์ให้ดีขึ้น จึงรู้สึกสนใจในการช่วยสนับสนุนมากยิ่งขึ้น เมื่อได้พูดคุยกับทางสมาคมอย่างจริงจังจึงได้เข้าใจว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ไม่มีงบด้านโฆษณา การขาดแคลนอาสาสมัคร รวมถึงยังไม่มีช่องทางการติดต่อที่ตอบรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ เราจึงพยายามให้ความช่วยเหลือทางสมาคมอย่างเต็มที่เท่าที่เราจะสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำแคมเปญต่างๆ รวมถึงการสร้างเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก ให้กับทางสมาคม เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีช่องทางสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต”

“ส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาหลักของประเทศของเรา และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ช่วยโปรโมตและยกย่องการทำงานที่ยอดเยี่ยมของอาสาสมัครของสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยในแต่ละวัน สำหรับกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ในการใช้ภาพวาดประกอบการเล่าเรื่องราวของอาสาสมัครของทางสมาคมนั้น มาจากวัตถุประสงค์ที่เราต้องการใช้วิธีการสื่อสารที่เรียบง่าย แต่มีพลังมากที่สุด เราเชื่อว่าการฟังเรื่องราวจากประสบการณ์ของอาสาสมัคร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคงนึกภาพเองไม่ออก จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่คิดฆ่าตัวตายได้ยิ่งขึ้น และยังได้เรียนรู้ว่าการกระทำง่ายๆ อย่างการรับฟังปัญหาของผู้คนเหล่านั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้จริงๆ” นายสาธิตกล่าวเสริม

สำหรับรายละเอียดของผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครของสมาคมสะมาริตันส์นั้น จะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดี เพื่อผลัดเปลี่ยนกันมารับสายผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย ด้วยหลักการที่ยึดเป็นแนวทางฉุดรั้งอารมณ์ชั่ววูบของปลายสาย คือ “การรับฟังโดยไม่ตัดสิน”

เพราะสะมาริตันส์เชื่อว่า ปัญหาไม่ใช่เหตุผลเดียวในการคิดสั้น แต่ยังรวมถึงความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เหลือใคร ต้องสู้กับปัญหาตามลำพังต่างหาก ที่ทำให้คนหมดหวัง

ดังนั้น การใช้ “ใจฟัง” จะช่วยทำให้ปลายสายรู้สึกว่ามีคนเคียงข้าง จนเกิดกำลังใจพอจะฮึดสู้อีกครั้ง และหาทางออกที่เหมาะสมให้ตัวเอง

การทำหน้าที่เป็นอาสามัครของสะมาริตันส์จึงถือว่าเป็นงานท้าทายอย่างยิ่ง อีกทั้งยังต้องผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น กว่าจะได้เป็นอาสาสมัคร

ใครที่สนใจและคิดว่ากายพร้อม ใจพร้อม ก็สามารถเข้าไปสมัครกันได้เลย เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป อาจหมายถึง “ลมหายใจ” ที่หายไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image