ศึก “สตรีมมิ่ง” ในเอเชีย สงครามชิงเค้ก5หมื่นล้าน!

REUTERS/Wolfgang Rattay/File Photo

ยิ่งนับวันภูมิภาค “เอเชีย” ยิ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรม “สตรีมมิ่ง” หรือที่รู้จักกันในแวดวงไอทีในชื่อแพลตฟอร์ม “โอเวอร์-เดอะ-ท็อป” (โอทีที แพลตฟอร์ม) ซึ่งบางคนเรียกขานให้เข้าใจกันง่ายๆ แต่ไม่ครอบคลุมเท่าใดนักว่า “วิดีโอ-ออน-ดีมานด์” ในระดับโลกมากขึ้นทุกที เพราะความนิยมใช้บริการนี้ในภูมิภาคเติบใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

สำคัญถึงขนาด ปูซาน อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟสติวัล เทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ไม่เพียงเพิ่มรางวัล “เอเชีย คอนเทนต์ อวอร์ดส์” ภาพยนตร์สำหรับการสตรีมมิ่งแยกออกมาเป็นการเฉพาะเท่านั้น ยังคัดเอา 4 ผลงานจากทีมโปรดักชั่นของ “เน็ตฟลิกซ์” รวมทั้ง “เดอะ คิง” ผลงานของ เดวิด มิโชด์ ผู้กำกับการแสดงชาวออสเตรเลียฉายโชว์ในเทศกาลนี้ด้วยอีกต่างหาก

ข้อได้เปรียบของภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อนำออกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ด้วยวิธีการ สตรีมมิ่งก็คือ ผู้ชมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงแค่ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ครอบคลุมในทุกอุปกรณ์ที่มีอยู่ในบ้านหรือในมือของผู้ชม ตั้งแต่เครื่องรับโทรทัศน์ซึ่งปัจจุบันนี้เพิ่มเทคโนโลยีให้เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้แล้ว เรื่อยไปจนถึงคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ท โฟน

เมื่อบวกกับความสามารถในการรับชมได้ในสถานที่ที่ต้องการ ในทุกเวลาที่ต้องการรับชม ความนิยมก็เริ่มแพร่หลายออกไปมากขึ้นตามลำดับ

Advertisement
ตัวอย่างจากซีรีส์ดั้งเดิมจากประเทศไทย “เคว้ง” ของเน็ตฟลิกซ์ (ภาพ-Netflix)

ดาราระดับแม่เหล็กของ ฮอลลีวู้ด อาทิ จูเลีย โรเบิร์ตส์, รูนีย์ มารา, แบรด พิตต์ และ วิล สมิธ กระโจนลงสู่เวทีสตรีมมิ่งด้วยเหตุนี้

วิเวก คูโต กรรมการอำนวยการ มีเดียพาร์ทเนอร์ เอเชีย กลุ่มบริษัทเพื่อการวิจัยในเอเชีย เชื่อว่า ถึงตอนนี้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็น “ตลาดสำคัญ” ที่อยู่ในแผนของแพลตฟอร์ม สตรีมมิ่ง ระดับโลกทุกรายแล้ว ด้วยเหตุที่ว่า ความนิยมใช้บริการแพลตฟอร์มนี้กำลังขยายตัวและมีแนวโน้มที่ “เติบใหญ่ได้มหาศาล” มากนักในอนาคตอันใกล้

ข้อมูลจากการวิจัยตลาดของมีเดียพาร์ท เนอร์ เอเชีย แสดงให้เห็นว่า รายได้รวมของแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งโดยหลักแล้วมาจากการบอกรับเป็นสมาชิกเพื่อรับบริการเป็นรายเดือนและรายได้จากโฆษณาในปี 2019 เพิ่มขึ้นอีก 24 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เฉลี่ยต่อปีมีมูลค่ามากถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 820 ล้านบาทแล้ว

Advertisement

อีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่ามูลค่าตลาดของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ที่น่าสนใจก็คือ รายได้ส่วนใหญ่คือราว 59 เปอร์เซ็นต์ของแพลตฟอร์ม โอทีที ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียนั้นมาจากจีน ทั้งๆ ที่จีนมีกฎเกณฑ์ในการใช้งานอินเตอร์เน็ตเข้มงวดมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก แถมยังมีแพลตฟอร์มในท้องถิ่นเป็นเจ้าตลาดอยู่ ทั้ง “ไอ้ฉีอี้” (iQIYI), “เทนเซนต์วิดีโอ” และ “หยูคู่” (Youku) อีกด้วย

ถ้าจำแนกเป็นรายๆ จะเห็นได้ว่า “ยูทูบ” ยังคงมีส่วนแบ่งรายได้เป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ผู้ให้บริการรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงอย่าง เน็ตฟลิกซ์, อเมซอนไพรม์ และแพลตฟอร์มเฉพาะในอินเดียของดิสนีย์ อย่าง “ฮอตสตาร์” ล้วนแล้วแต่มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเอเชียในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

คูโตตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทั้งหลายได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชีย ส่วนหนึ่งเกิดจาก “โลคอล คอนเทนต์” หรือเนื้อหาที่ผลิตโดยผู้ผลิตในท้องถิ่น ทั้งในอินเดีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกเหนือไปจากแรงดึงดูดจากภาพยนตร์ “ดั้งเดิม” ของแต่ละค่ายที่ผลิตโดยผู้ผลิตระดับโลกโดยดาราในระดับสากล

ผลก็คือ นอกเหนือจากการแข่งขันกันในระดับโลกแล้ว บรรดาค่ายใหญ่ๆ ทั้งหลายก็ทุ่มทุนลงมาแข่งขันกันในการสร้างโลคอล คอนเทนต์ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นตัวเพิ่มยอดบอกรับสมาชิก และดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาได้มากยิ่งขึ้นในความเห็นของคูโต

ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ปูซาน เอชบีโอ เอเชีย ค่ายใหญ่อีกค่ายถึงกับนำ “เดอะ การ์เดน ออฟ อีฟนิ่ง มิสต์ส” ที่ร่วมทุนสร้างกับผู้ผลิตในมาเลเซียออกมาฉายรอบปฐมฤกษ์ ซึ่งถึงแม้จะใช้ดาราดังจากทั้งมาเลเซีย, ญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่เป้าหมายเป็นการขายผลงานนี้ให้กับผู้ชมทั่วโลกได้ลิ้มลอง

เน็ตฟลิกซ์เอง ประกาศเปิดตัวบริษัทโปร ดักชั่นในเอเชียรวดเดียว 17 บริษัท สำหรับผลิตทั้งภาพยนตร์และภาพยนตร์ชุดแบบ ซีรีส์ สำหรับนำออกฉายผ่านเน็ตฟลิกซ์ในเอเชีย

ผลงานที่ถือเป็นประเดิมของบริษัทโปร ดักชั่นเหล่านี้คือ “เคว้ง” (The Stranded) ซีรีส์จากประเทศไทยเรื่องแรกที่จะนำออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

ในเวลาเดียวกัน เจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในท้องถิ่นก็ยังคงเชื่อมั่นว่าจะยังคงสามารถรับมือกับบรรดายักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้งหลายได้ ตัวอย่างเช่น ฮุค (HOOQ) ที่เปิดตัว 19 โปรดักชั่นเฮาส์ของตัวเองไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายใต้หลักการ “สร้างขึ้นในเอเชียเพื่อคนเอเชีย” ด้วยความมั่นใจว่า “รู้จักเอเชีย” ดีกว่า หรือ “ไอวันเดอร์”

(iwonder) ที่ผลิตสารคดีในเอเชียโดยเฉพาะ ก็กำลังขยายกิจการออกไปใน 8 ชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ตลาดที่น่าจะแข่งกันดุเดือดมากที่สุดในเอเชีย เห็นจะเป็นที่อินเดีย ที่ซึ่งมีคนราว 250 ล้านคน ดูภาพยนตร์จากสมาร์ทโฟน “อย่างสม่ำเสมอ” จนกลายเป็นตลาดมหึมา

ถึงขนาดเน็ตฟลิกซ์ ต้องดัดแปลงการนำเสนอของตนให้เป็นเวอร์ชั่น “โมบายล์ โอนลี่” สำหรับตลาดอินเดียโดยเฉพาะ

เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละท้องถิ่นนั่นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image