พื้นที่แห่งนี้ของโลก ไม่มี ‘สิ่งมีชีวิต’

(ภาพ-Afrikit Via Pixabay)

ทีมวิจัยจากศูนย์เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส (เอฟเอ็นซีเอสอาร์) นำโดย พูริฟิกาชิโอน โลเปซ-การ์เซีย ผู้อำนวยการแผนกวิจัยของ เอฟเอ็นซีเอสอาร์ เผยแพร่ผลการสำรวจที่ยืนยันว่า พื้นที่บางจุดในบริเวณน้ำพุร้อนดัลลอล (dallol) ทางตอนเหนือของประเทศเอธิโอเปีย เป็นพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจนถึงขณะนี้เป็นพื้นที่เดียวเท่านั้นที่พบว่า ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เลย เนื่องจากสภาพของพื้นที่ไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตแม้จะมีองค์ประกอบสำคัญคือ “น้ำ” อยู่ก็ตาม

ดัลลอล เป็นพื้นที่แอ่งน้ำพุร้อนที่เกิดจากความร้อนภายในเปลือกโลก ถูกยึดถือมาเป็นเวลานานว่าเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมสุดโต่งที่สุดเท่าที่มีบนโลกในเวลานี้

โลเปซ-การ์เซีย ระบุว่าในหลายพื้นที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมสุดโต่งทั้งหลายบนโลก ล้วนปรากฏสิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวอยู่รอดได้ในสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบากสูงสุดเหล่านั้น อาทิ ร้อนจัดระดับซุปเปอร์ฮอต, มีสภาพความเป็นกรดสูงสุด หรือมีสภาพความเค็มจัดที่สุด เป็นต้น แต่ถ้านำเอาสภาพสุดโต่งทั้ง 3 อย่าง คือ มีอุณหภูมิสูงจนร้อนจัด พร้อมกับมีค่าความเป็นกรดสูง แถมยังมีความเค็มจัดอยู่ด้วย จะยังมีสิ่งมีชีวิตปรากฏอยู่หรือไม่?

เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ทีมวิจัยของเอฟเอ็นซีเอส อาร์เดินทางไปเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ดัลลอล เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต โดยจำแนกตัวอย่างที่เก็บมาตรวจวิเคราะห์ตามสภาวะของแหล่งดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ตัวอย่างกลุ่มแรกที่เก็บมาจากแอ่งน้ำเค็มจัดจำนวนหนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีปริมาณเกลือเข้มข้นสูงมาก, ตัวอย่างที่เก็บจากพื้นที่ซึ่งมีความร้อนพร้อมๆ กับที่มีความเค็มและมีความเป็นกรดอยู่ในระดับสูงสุด และสุดท้ายคือตัวอย่างที่เก็บมาจากพื้นที่ซึ่งร้อนจัดและเค็มจัด แต่ไม่เป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไป

Advertisement

หลังจากนั้นจึงนำตัวอย่างทั้งหมดมาวิเคราะห์หาวัตถุทางพันธุกรรมในตัวอย่างแต่ละกลุ่ม เพื่อจำแนกว่ามีสิ่งมีชีวิตใดอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมไหนได้บ้างหรือไม่

ผลปรากฏว่า ในสภาวะแวดล้อมที่สุดโต่งที่สุด คือ มีความเป็นกรดสูง ร้อนจัดและยังเต็มไปด้วย

เกลือแม็กนีเซียม ทีมวิจัยตรวจสอบไม่พบดีเอ็นเอใดๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อาศัยอยู่ได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมสุดโต่งถึงขีดสุดดังกล่าว โปเปซ-การ์เซีย ระบุว่า เมื่อขยายตัวอย่างออกไปมากจริงๆ จึงจะสามารถมองเห็นดีเอ็นเอจำนวนเล็กน้อยปรากฏอยู่ ซึ่งทีมวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าเกิดจากการปนเปื้อนจากแอ่งน้ำใกล้เคียงที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ หรือไม่ก็เป็นการนำพามาของนักท่องเที่ยวหรือของกระแสลมมากกว่า

Advertisement

ในส่วนที่มีสภาพแวดล้อมสุดโต่งน้อยลงมาอีก 2 กลุ่มตัวอย่างนั้น ทีมวิจัยกลับพบว่า มีจุลชีพที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากปรากฏอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนใหญ่เป็น อาร์เคีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแบคทีเรีย แต่มีความแตกต่างกันที่เยื่อหุ้มเซลล์ อาร์เคียพบมากในสภาวะแวดล้อมที่สุดโต่งหรือเลวร้ายมากๆ เรียกรวมๆ ว่ากลุ่มโพรคาริโอต ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บริเวณดัลลอลมีสีเหลืองส้มนั่นเอง

“ความหลากหลายของคาร์เคียในกลุ่มตัวอย่าง จากดัลลอลนี้ใหญ่มากๆ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับทีมวิจัยอย่างมากด้วยเช่นเดียว” โลเปซ-การ์เซีย

ระบุ โดยทีมวิจัยตรวจพบอาร์เคียชนิดที่รู้จักกันดีในพื้นที่มีความเข้มข้นของเกลือสูงหรือมีความเค็มจัดนั่นเอง ในขณะที่ในบางพื้นที่ซึ่งมีความเค็มต่ำมากก็ยังมีอาร์เคียบางชนิดปรากฏอยู่ ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่คิดว่ามันจะสามารถอยู่รอดในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบหลายอย่างของสภาวะแวดล้อมที่สุดโต่งนั้นมีเพียงบางลักษณะเท่านั้นที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตปรากฏอยู่ในขณะที่ อีกบางลักษณะนั้นสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ เป็นเสมือนคำเตือนกลายๆ ต่อการแสวงหาแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตในจักรวาล ซึ่งเดิมมีแนวความคิดว่าขอเพียงแต่ให้มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้น้ำคงสถานะความเป็นของเหลวได้ก็จะปรากฏสิ่งมีชีวิตอยู่ได้แล้ว

เพราะสภาพแอ่งน้ำที่ไร้สิ่งมีชีวิตในดัลลอล ทางตอนเหนือของเอธิโอเปีย “อาจแสดงให้เห็นว่า แม้น้ำจะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการมีสิ่งมีชีวิต แต่การมีน้ำเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต” นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image