เคล็ดลับ “อายุเกินร้อยสิบ” อาจอยู่ที่ “เซลล์ภูมิคุ้มกัน”

(ภาพ-Pixabay)

งานวิจัยใหม่ของทีมวิจัยจากทีมวิจัยในญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่ยาวนานเกิน 110 ปี หรือกว่านั้นมีลักษณะของเซลล์ภูมิคุ้มกันในกระแสเลือดที่แตกต่างจากออกไปจากบุคคลทั่วไป ทำให้อาจเป็นไปได้ว่านี่คือเคล็ดลับของความมีอายุยืนเป็นพิเศษ

งานวิจัยดังกล่าวซึ่งมี โคสุเกะ ฮาชิโมโตะ, โนบุโยชิ ฮิโรเสะ และเปียโร คาร์นินชี เป็นผู้เขียนร่วม โดยคาร์นินชีและฮาชิโมโตะ เป็นนักวิจัยประจำศูนย์ ไรเคนเพื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ผสมผสานในญี่ปุ่น ส่วนฮิโรเสะ นั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์เพื่อการวิจัยทางการแพทย์ในผู้สูงอายุเกินร้อยปี (เซนเตอร์ ฟอร์ ซุปเปอร์เซนเทนาเรียน เมดิคัล รีเสิร์ช) ประจำสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยเคอิโอะ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ทีมวิจัยนี้ตั้งเป้าศึกษาวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกัน (อิมมูน เซลล์) ของผู้ที่มีอายุเกิน 110 ปี หรือซุปเปอร์เซนเทนาเรียนโดยเฉพาะ เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดศึกษาค้นคว้าข้อมูลดังกล่าวมาก่อน เพราะซุปเปอร์เซนเทนาเรียน นั้นพบได้ยากมาก แม้ในญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดก็ตามที โดยช่วงชีวิตของชาวญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยมักจะอยู่ที่ 81 ปี หรือเกินกว่านั้นเล็กน้อยสำหรับเพศชาย และเกินกว่า 87 ปีเล็กน้อยสำหรับเพศหญิงเท่านั้น

ในสำมะโนประชากรญี่ปุ่นในปี 2015 แสดงให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นที่อายุเกิน 100 ปีมีอยู่มากถึง 61,763 คนก็จริง แต่มีผู้ที่มีอายุเกิน 110 ปี หรือซุปเปอร์เซนเทนาเรียน เพียง 146 คนเท่านั้นเอง

สำหรับสถิติของผู้ที่มีอายุยืนที่สุดในโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้คือ นางยีน คาลแม็งต์ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 1997 เมื่ออายุได้ 122 ปี

Advertisement

เพราะมนุษย์ที่อายุยืนถึง 110 ปี หรือเกินกว่านั้นหาได้ยาก จึงทำให้การเก็บรวบรวมตัวอย่างเซลล์ยากลำบากตามไปด้วย ทำให้ทีมวิจัยจำเป็นต้องมุ่งการศึกษาไปที่ตัวอย่างเลือดที่มีการจัดเก็บรวบรวมไว้ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเลือดของซุปเปอร์เซนเทนาเรียน 7 คน กับตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครร่วมในการวิจัยที่ถือเป็นตัวอย่างควบคุมอีก 5 คน มีอายุตั้งแต่ 50 ปีเศษเรื่อยไปจนถึง 80 ปีเศษ

ทีมวิจัยใช้เทคนิคทันสมัยล่าสุดที่เรียกว่า “ซิงเกิล-เซลล์ ทรานสคริปโทมิคส์” เพื่อค้นหาพฤติกรรมของเซลล์ภูมิคุ้มกันแต่ละเซลล์ ด้วยการตรวจวัดและอ่านค่าจากตัวกลางซึ่งคือ อาร์เอ็นเอ ที่ทำหน้าที่แปลความหมายและส่งคำสั่งเชิงพันธุกรรมของดีเอ็นเอไปยังนิวเคลียสของเซลล์นั้นๆ ที่ทำให้นักวิจัยสามารถชี้ขาดได้ว่าพฤติกรรมของแต่ละเซลล์มีอะไรบ้างและหน้าที่ของพฤติกรรมดังกล่าวคืออะไร

จากกลุ่มตัวอย่างเลือดของซุปเปอร์เซนเทนาเรียน 7 คน ทีมวิจัยตรวจสอบพบเซลล์ภูมิคุ้มกันมากกว่า 41,000 เซลล์ และพบอีกเกือบ 20,000 เซลล์ จากกลุ่มตัวอย่างควบคุม แต่สิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบและจัดว่าโดดเด่นที่สุดจากการทำวิจัยครั้งนี้ก็คือ การที่เซลล์ภูมิคุ้มกันของซุปเปอร์เซนเทนาเรียน มีสัดส่วนที่เป็นเซลล์ “ซีดี4” (เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเรียกว่า ที เฮลเปอร์ เซลล์) ชนิด “ซีทีแอล” (cytotoxic T cells – CTL) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ฆ่าเซลล์ติดเชื้อได้โดยตรงอยู่ในปริมาณสูงมาก เพราะเซลล์ชนิดย่อยชนิดนี้ปกติแล้วพบได้ยากมาก

Advertisement

เซลล์ ซีดี4 หรือเซลล์เม็ดเลือดขาว (หรือ ที เฮลเปอร์ เซลล์) โดยทั่วไปไม่ใช่เซลล์นักสู้ เซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้สั่งการหรือผู้บัญชาการมากกว่า โดยการบอกให้เซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ ทำในสิ่งที่จำเป็น นั่นคือการปล่อยเคมีโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบที่เรียกว่า ไซโตไคน์ สำหรับทำลายเชื้อที่รุกรานเข้ามา แต่ “ซีดี4 ซีทีแอล” นี้สามารถโจมตีและทำลายเชื้อที่รุกรานเข้ามาในกระแสเลือดได้ด้วยตัวเอง

ปกติ ที เซลล์ ที่ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อได้ด้วยตัวเองจะมีสัดส่วนอยู่น้อย ในคนที่มีอายุเยาว์วัย สัดส่วนจะอยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิด เฮลเปอร์ ที เซลล์ทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่ในกระแสเลือดของผู้ที่มีอายุเกิน 110 ปี จะมีสูงกว่าหลายเท่าตัว คือราว 25 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

แม้ว่าผลการวิจัยครั้งนี้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดนี้ส่งผลโดยตรงต่อการมีอายุยืนเป็นพิเศษดังกล่าว แต่ก่อนหน้านี้เคยมีผลการศึกษาวิจัยในหนูทดลองที่แสดงให้เห็นว่า “ซีดี4 ซีทีแอล” โจมตีและทำลายเซลล์เนื้องอก และทำหน้าที่ปกป้องหนูทดลองจากเชื้อไวรัสได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ทีมวิจัยยอมรับว่าจำเป็นต้องศึกษาวิจัยบทบาทของเซลล์ดังกล่าวนี้ต่อร่างกายมนุษย์เป็นลำดับต่อไป เพื่อดูว่า “ซีดี4 ซีทีแอล” สามารถทำเช่นเดียวกันในร่างกายมนุษย์ได้หรือไม่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image