ศูนย์เอ็มเทคที่คณะแพทยศาสตร์ มช. เครื่องมือจากซิสโก้ สู่ระดับสากล

เทคโนโลยีในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ได้อย่างมาก ทั้งในชีวิตประจำวันและภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ด้านการสาธารณสุข ที่เรียกได้ว่า มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาให้เลือกใช้มากมาย ช่วยทำให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงหใม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำ ระดับมาตรฐานสากลของไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ จึงได้ทำการพัฒนา “สมาร์ท คอนเน็กเต็ด เฮลธ์แคร์” (Smart Connected Healthcare) ผ่าน “ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแพทยศาสตรศึกษา” หรือเอ็มเทค (Medical Technology Education Center – MTEC) ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุด้านเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลระดับสากล

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีพันธกิจที่ต้องสร้างสรรค์งานวิจัย และการบริการสุขภาพมาตรฐานระดับสากล มีความวางใจในคุณภาพเทคโนโลยีและการให้บริการของซิสโก้ รวมถึงให้คำปรึกษาและแนวทางต่างๆ พร้อมการสนบสนุนเครื่องมือและโซลูชั่นที่หลากหลาย ทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำงานได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ผู้ป่วยที่มาใช้บริการก็สามารถสื่อสารและขอรับบริการต่างๆ ของโรงพยาบาลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งพื้นฐานสำคัญที่จะก้าวสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลระดับสากล และคอนเน็กเต็ด เฮลธ์แคร์ อย่างแท้จริง

Advertisement

โดยโซลูชั่นต่างๆ ที่อยู่ภายในศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแพทยศาสตรศึกษา ประกอบไปด้วย 1.เทเล-เอดูเคชั่น ซึ่งเป็นในส่วนของเรียนรู้ และการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบจัดการสื่อดิจิทัล ระบบการเรียนการสอนทางไกล ที่รองรับการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์อย่างครบวงจร เพื่อให้นึกษาาแพทย์ทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหา บทเรียน ประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรค รวมไปถึงการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

2.เทเล-เมดิซีน เป็นระบบแพทย์ทางไกล และการปรึกษาอาการเจ็บป่วยทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากโรงพยาบาลศูนย์ ผ่านระบบวิดีโอคอลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งการเห็นและการได้ยิน เสมือนได้ปรึกษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยตรง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเอง ช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ขณะเดียวกันก็ได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำ

ซึ่งระบบนี้ จะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา แต่เบื้องต้นจะเปิดรับเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น คือกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับสมอง ที่ต้องการการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วที่สุด หลังจากให้คำปรึกษาเบื้องต้นไปแล้ว ก็จะมีการส่งรถพยาบาลพร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด ซึ่งทางญาติผู้ป่วยสามารถติดต่อกับแพทย์ได้ผ่านทางเว็บ หรือแอพพลิเคชั่น

3.เทเล-เทรนนิ่ง / เทเล-อาร์แอนด์ดี เป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ทางการแพทย์ ร่วมกับสถาบันการแพทย์ต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนแพทย์และสถาบันการแพทย์ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการแพทย์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

4.ไลฟ์ เซอร์เจอรี หรือการถ่ายทอดหัตถการทางการแพทย์ จากห้องผ่าตัด และห้องฝึกหัตถการจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะส่งสัญญาณภาพและเสียง ที่สมบูรณ์แบบจากห้องผ่าตัดออกไป ไปยังโรงพยาบาลร่วมสอน สถาบันการศึกษาและสถาบันการแพทย์ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เห็นมุมมองการทำงาน การใช้อุปกรณ์การแพทย์ และยังสามารถตอบโต้กันได้ 2 ทาง เพราะเป็นการถ่ายทอดแบบเรียลไทม์

และ 5.ดิจิทัล เมดิคัล มีเดีย เป็นแหล่งผลิตและเผยแพร่สื่อดิจิทัลทางการแพทย์ เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์ ให้แก่นักศึกษา บุคลากรการแพทย์ และประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาสำหรับการเรียนรู้ทางการแพทย์ตลอดชีวิต

สำหรับภายในเอ็มเทคนั้น จะมีห้องระดับที่เป็นห้อง “คลาสรูม” 2 ห้อง และห้อง “มีทติ้งรูม” 3 ห้อง และห้อง “เพอซันนัลรูม” อีก 3 ห้อง แต่ละห้องก็สามารถนำไปปรับใช้ได้แล้วแต่ความเหมาะสม และมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน

ทั้งนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาศัยแนวคิดด้านการเรียนการสอนแบบ Asynchronous learning ที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่จำเป็นต้องพบกันตามเวลาในตารางที่กำหนดไว้ แต่สามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา โดยใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และสถานที่ ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหน เวลาใดก็ได้ ตามความต้องการและความสะดวกของผู้เรียน โดยอาศัยการสื่อสารระยะไกล (Telecommunication) แต่ใกล้เคียงกับการเรียนในระบบห้องเรียน หรือการเรียนการสอนที่ผู้สอนกับผู้เรียนได้พบหน้ากัน (Face – to – Face Learning)

ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ขยายขอบเขตการถ่ายทอดการเรียนการสอนไปยังโรงพยาบาลอีก 6 แห่งในภาคเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลลำพูน โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลแม่สอด โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเหล่านั้นเพื่อแลกเปลี่ยนทักษะ เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางการแพทย์

ทั้งนี้ โซลูชั่นการทำงานร่วมกัน (Intelligent Video Collaboration) ของซิสโก้ ถือเป็นโซลูชั่นสื่อสารที่มีความครบถ้วน ซึ่งเป็นการรวมเอาเทคโนโลยีการสื่อสาร ข้อมูล เสียง ภาพเคลื่อนไหว และเว็บ (Data, Voice, VDO และ Web) มาเชื่อมโยงให้เป็นระบบเดียวกัน ช่วยให้เกิดการประสานความร่วมมือในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมากขึ้น ทำให้แพทย์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นในกรณีที่แพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยหรือบอกค่าผลตรวจต่างๆ กับผู้ป่วย ขณะที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการดำเนินงานได้ในเวลาเดียวกัน

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า จอห์น แชมเบอร์ส อดีตซีอีโอของซิสโก้ เคยกล่าวไว้ว่า เทคโนโลยีจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องความเท่าเทียมกัน และความเสมอภาคกันในชีวิตคนเราที่ต้องมี คือ เรื่องการศึกษาและเรื่องการรักษาพยาบาล และซิสโก้เอง ก็มีความภูมิใจ ที่เป็นมีส่วนร่วมใน 2 เรื่องนี้ โดยในปัจจุบัน ผู้คนต่างมีอายุยืนยาวมากขึ้น และกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นเรื่องการรักษาพยาบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามาตอบโจทย์ด้านประสบการณ์ของผู้ป่วยที่ต้องการความสะดวกสบายได้เป็นอย่างดี ขณะที่ตัวผู้ให้บริการก็จะได้เครื่องมือที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น

“หลายประเทศได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอทีเข้ากับการแพทย์และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะที่ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการร่างแผนยุทธศาสตร์ อีเฮลธ์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดัน ดิจิทัล เฮลธ์แคร์ ให้ก้าวไปสู่การแพทย์ที่เข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในทุกพื้นที่

“ซิสโก้สนับสนุน คอนเน็กเต็ด เฮลธ์ โดยนำเทคโนโลยีไอทีมาเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลเพื่อให้บริการแบบครบวงจรโดยไร้ข้อจำกัดของการบริการสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่เป็นผู้รับบริการปลายทาง ช่วยให้แพทย์สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือเข้าถึงผู้ป่วยได้ก่อนที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตนเองมากขึ้น ซิสโก้มีความยินดีที่เทคโนโลยีของเราช่วยสนับสนุนให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางการแพทย์เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน การรักษาที่ทันสมัย โดยไม่มีข้อจำกัด ส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลสำหรับการเรียนรู้ทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 21” นายวัตสันกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image