งานวิจัยชี้ไวรัส โควิด-19 อาจแพร่อยู่ในคนมานานแล้ว

ภาพตัดขวางแสดงภายในไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2 ขดสีเหลืองภายในคืออาร์เอ็นเอที่บรรจุพันธุกรรมของไวรัส ยอดสีชมพู, เหลือง และเขียว คือหนามโปรตีนของไวรัส สีแดงคือเปลือกหรือเอนเวโลปของไวรัส (ภาพ-scientificanimations.com/Wikimedia Commons, CC BY-SA)

งานวิจัยชี้ไวรัส โควิด-19 อาจแพร่อยู่ในคนมานานแล้ว

โควิด-19 – ทีมนักวิจัยระดับแถวหน้าของโลก เผยแพร่ผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับไวรัส ซาร์-โคฟ-2 ซึ่งระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ ไวรัสร้ายตัวนี้อาจแพร่จากสัตว์มาสู่มนุษย์ และระบาดอยู่นานหลายปีแล้ว ก่อนการตรวจพบที่อู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตอนกลางประเทศจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น และศูนย์กลางการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกในเวลานี้

ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการด้านระบาดวิทยาและไวรัสวิทยาชั้นนำของโลก ที่ล้วนมีประสบการณ์ทางด้านนี้สูงมาก ทั้ง คริสเตียน แอนเดอร์เสน จากสถาบันวิจัยสคริปส์ ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา, แอนดรูว์ รัมโบท์ จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระในสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร, เอียน ลิปกิน จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก, เอ็ดเวิร์ด โฮล์มส์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย และ โรเบิร์ต การ์รีย์ จากมหาวิทยาลัยทูเลน ในนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานผลการศึกษาวิจัยไว้ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ เมดิซีน เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา

เชื้อในค้างคาวที่ชายแดนพม่า-จีน

ในเดือนธันวาคม ทีมแพทย์ในอู่ฮั่น เริ่มสังเกตพบว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบซึ่งไม่รู้ที่มาเพิ่มสูงมากขึ้นผิดปกติ เมื่อทดสอบหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเชื้ออื่นๆ ก็ไม่ปรากฏร่องรอย หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการจำแนกทางพันธุกรรมไวรัสตัวใหม่ออกมา พบว่าเป็นโคโรนาไวรัสชนิดใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนว่าระบาดในคน

Advertisement

ทีมสำรวจวิจัยทางไวรัสวิทยา ของสถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology) นำโดยศาสตราจารย์ สือ เจิ้งลี่ แกะร่องรอยของไวรัสใหม่ตัวนี้เพื่อหาต้นตอของมัน ไปพบค้างคาวกลุ่มหนึ่งในถ้ำบนเทือกเขาที่กั้นเป็นแนวชายแดนธรรมชาติระหว่างจีนกับพม่าว่า มีโคโรนาไวรัสที่คล้ายคลึงกันเหลือเกิน

ไวรัสใหม่ที่อู่ฮั่นกับไวรัสในค้างคาวที่พรมแดน มียีนหรือหน่วยพันธุกรรมเหมือนกันถึง 96 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาคือ ไวรัสในค้างคาวติดต่อมาสู่คนไม่ได้ เพราะมันไม่มียอดโปรตีนแหลมๆ ที่โผล่ออกมารอบตัว

Advertisement

โคโรนาไวรัส สายพันธุ์เดียวกัน แต่มีหนามโปรตีนที่ว่านี้ พบในเวลาต่อมาในสัตว์อีกชนิด นั่นคือ “แพงโกลิน มาลายัน” ในเมืองไทยเรียกว่า “ลิ่นซุนดา” หรือ “ลิ่นมลายู” ทีมที่ค้นพบเรื่องนี้เป็นทีมวิจัยจากกวางโจวและฮ่องกง

นั่นทำให้เกิดข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่า ไวรัสนี้กระโดดจากค้างคาวมาสู่แพงโกลิน รวมพันธุกรรมเข้าด้วยกัน แล้วจึงกระโดดมาสู่มนุษย์

“หนามโปรตีน”ของซาร์ส-โคฟ-2

ทีมวิจัยนานาชาติที่นำโดยศาสตราจารย์ แอนเดอร์เสน ตรวจสอบพันธุกรรมของ “ซาร์ส-โคฟ-2” พบว่า มันมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเป็นพิเศษ ในส่วนของสายพันธุกรรมที่เรียกว่า “โพลีเบสิค คลีเวจ ไซท์” (polybasic cleavage site) ซึ่งไม่พบว่ามีอยู่ในพันธุกรรมของไวรัสชนิดเดียวกันทั้งในค้างคาวและในแพงโกลิน

การกลายพันธุ์นี้ ทำให้มันสามารถสร้างหนามโปรตีนใหม่ ขึ้นมาให้มี “โครงสร้างพิเศษ” ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ในโปรตีนของหนาม ทำให้โปรตีนดังกล่าวสามารถทำปฏิกิริยากับ “ฟูริน” (furin) เอ็นไซม์ชนิดหนึ่งในร่างกายมนุษย์ซึ่งกระจายตัวอยู่มากมาย

ปฏิกิริยาที่ว่านี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นตัวจุดชนวนทำให้เปลือกของไวรัสสามารถผสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ เมมเบรน หรือส่วนผนังนอกสุดของเซลล์ของมนุษย์

ทำให้ไวรัสแทรกเข้าไปพิชิตหรือยึดครองเซลล์ของมนุษย์ได้ หรือทำให้มนุษย์ติดโรคได้นั่นเอง

คลีฟเวจ ไซท์ ทำนองเดียวกันนี้ มีอยู่ในไวรัสโคโรนาที่ระบาดในคนได้ตัวอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เอชไอวี/เอดส์ หรือ อีโบลา

เป็นไปได้ว่า การกลายพันธุ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติในไวรัสที่อยู่ในสัตว์ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือ ไวรัสก่อโรคซาร์ส และ เมอร์ส ซึ่งมาจากค้างคาวแต่กลายพันธุ์จนถึงตายได้ใน “ชะมด” และ “อูฐ”

ในการจำแนกพันธุกรรมมาเปรียบเทียบกัน นักวิจัยพบว่า ไวรัสซาร์ส/เมอร์ส ที่ได้จากตัวคนนั้น มีความคล้ายคลึงกับที่ได้จากชะมดกับอูฐถึง 99 เปอร์เซ็นต์

แต่ทีมวิจัยของแอนเดอร์เสนตรวจสอบไม่พบร่องรอยการกลายพันธุ์แบบเดียวกันนี้ใน ซาร์ส-โคฟ-2

ผลของการเปรียบเทียบพบว่า ไวรัสซาร์ส-โคฟ-2 ในคนนั้น มีช่วงห่างจากที่พบในสัตว์มากจนเกินไป

ทางเลือกใหม่ “กลายพันธุ์ในคน”

นั่นนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นทางเลือกอีกทาง

“เป็นไปได้ว่า ต้นตระกูลของ ซาร์ส-โคฟ-2 กระโดดมาสู่คนมาระยะหนึ่งแล้ว จนในที่สุดก็ (กลายพันธุ์) จนได้คุณสมบัติเชิงพันธุกรรมอย่างที่อธิบายได้ข้างต้นด้วยการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม ระหว่างที่มันระบาดจากคนสู่คนอยู่โดยที่ไม่มีใครตรวจสอบพบ” ทีมวิจัยของศาสตราจารย์แอนเดอร์เสนระบุเอาไว้ในรายงาน ก่อนจะสรุปเอาไว้ว่า

“เมื่อได้คุณสมบัติใหม่นี้แล้ว การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในมนุษย์ของมันสามารถส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่กลายเป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากพอที่จะทำให้ระบบเฝ้าระวังของคนตรวจจับมันได้ในที่สุด”

ทั้งยังชี้เอาไว้ด้วยว่า ด้วยองค์ความรู้ในปัจจุบันเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสของมนุษย์ ต่อให้ใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลมหาศาลเพียงใด ก็ยังไม่สามารถ “สร้าง” คุณลักษณะพิเศษของโปรตีนในหนามของไวรัสเช่นนี้ขึ้นมาได้

จง หนานซาน ที่ปรึกษาคณะทำงานควบคุมการแพร่ระบาดของทางการจีน เคยกล่าวเอาไว้หลายครั้งก่อนหน้านี้ว่า

“การที่โควิด-19 ปรากฏขึ้นที่อู่ฮั่นเป็นครั้งแรก ไม่ได้หมายความว่ามันกำเนิดขึ้นที่อู่ฮั่น”

และ นายแพทย์ผู้หนึ่งเชื่อว่า การตรวจสอบย้อนหลังเมื่อทุกอย่างสงบลงแล้ว สามารถเปิดเผยเงื่อนงำมากขึ้นได้

“คงมีสักวันที่เรื่องทั้งหมดจะกระจ่างออกมา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image