ทำไม “อัตราการตาย” โควิด-19 ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ?

(Photo by Bryan R. Smith / AFP)

ทำไม”อัตราการตาย”โควิด-19 ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ?

โควิด-19 – สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละประเทศ แตกต่างกันออกไป บางประเทศการระบาดเล่นงานจนแพทย์พยาบาลแทบไม่เป็นอันกินอันนอน ด้วยเหตุที่ว่ามีผู้ป่วยอาการหนักเป็นจำนวนมาก และสูญเสียชีวิตไปมหาศาล แต่บางประเทศไม่หนักหนาสาหัสถึงขนาดนั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น สถานการณ์ในเยอรมนีดูยังไม่สาหัสเท่ากับในอิตาลี หรือ สหรัฐอเมริกา

ความต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในเยอรมนี อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ที่ 1.4 เปอร์เซ็นต์ ต่ำที่สุดในโลกในเวลานี้ ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตที่อิตาลีสูงจนน่าตกใจถึง 9.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ที่ระดับสูงไม่น้อยคือ 2.7 เปอร์เซ็นต์

คำถามสำคัญก็คือ ทำไมไวรัสร้ายตัวนี้ถึงดูเหมือนว่าจะ “ร้ายกาจ” ในที่หนึ่งมากกว่าในอีกที่หนึ่ง?

Advertisement

คำตอบง่ายๆ ชัดๆ คงยังไม่มี สาเหตุสำคัญคือ ไวรัสซาร์ส-โคฟ-2 เป็นไวรัสใหม่เอี่ยม องค์ความรู้ของเราไม่มากพอที่จะบ่งชี้ไปที่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นพิเศษได้ ในเวลาเดียวกันแต่ละประเทศก็ใช้มาตรการในการตรวจหาและจัดการกับผู้ติดเชื้อแตกต่างกันมากในทำนองทำไปเรียนรู้ไป ทำให้คำตอบของคำถามนี้เป็นเพียงการประเมินจากองค์ความรู้เท่าที่เรามีต่อไวรัสตัวนี้เท่านั้น

(Photo by Jung Yeon-je / AFP)

นายแพทย์ เดเนียล ดีเคมา ผู้อำนวยการแผนกโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยไอโอวา สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่านิยามของ “อัตราการตาย” ที่แต่ละประเทศใช้ก็แตกต่างกันออกไป นักวิจัยบางคนนิยามว่า คืออัตราส่วนของผู้เสียชีวิตกับจำนวนผู้ป่วยจากการติดเชื้อที่มีอาการในระดับที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด

ในขณะที่อีกบางคนระบุว่า ควรต้องเป็นสัดส่วนของผู้ที่เสียชีวิตกับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมด รวมถึงผู้ที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยแล้วหายเองได้เท่านั้น

Advertisement

ในกรณีการระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 วิธีที่จะรู้จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้ จำเป็นต้องใช้วิธีการศึกษาวิจัยย้อนหลังที่เรียก “เซโรเซอร์เวย์” โดยการตรวจแอนติบอดี เพื่อประเมินหาปริมาณการระบาดที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ได้ภาพอัตราการเสียชีวิตที่แท้จริงได้

ซึ่งในเวลานี้ยังทำไม่ได้ และยังไม่มีใครทำ ตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกใช้ ก็เป็นการประมาณเอาว่าอยู่ที่ระหว่าง 2 เปอร์เซ็นต์ถึง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ในทางระบาดวิทยาก็มีข้อสังเกตถึงปัจจัยหลายประการที่กระทบต่ออัตราการตายที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ความเร็วในการตอบสนอง

ข้อสังเกตในทางระบาดวิทยาประการแรกคือความเร็วในตอบสนองต่อการระบาดของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นคำตอบได้อย่างหนึ่งว่าทำไมอัตราการตายในประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ถึงได้ต่ำกว่าในอิตาลี

เกาหลีใต้เริ่มระดมการตรวจตั้งแต่เดือนมกราคม พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็เพิ่มการตรวจไปถึงผู้ที่ไม่มีอาการ เปิดโอกาสให้สามารถใช้วิธีกักกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศอื่น

ตรงกันข้ามกับในอิตาลี ไม่เพียงรัฐบาลเชื่องช้าต่อการตอบสนองต่อการระบาดกว่าที่ควรจะเป็นเท่านั้น ประชาชนยังลังเล ไม่ยอมอยู่กับบ้านเพื่อป้องกันการระบาดอีกด้วย ผลก็คือเกิดการติดเชื้อแพร่ออกไปเป็นจำนวนมาก มากเกินระดับที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ นำไปสู่การเสียชีวิตมากกว่าที่ควรจะเป็น

อายุและสุขภาพของผู้ติดเชื้อ

ในเยอรมนี ทางการเชื่อว่ากลุ่มก้อนการระบาดครั้งแรกมาจากการติดเชื้อที่สกีรีสอร์ทแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ไปใช้ชีวิตในรูปแบบดังกล่าวมีแนวโน้มว่า ยังคงอายุน้อย สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงกว่า นอกจากนั้นรัฐบาลยังรีบทดสอบหาผู้ติดเชื้อและใช้มาตรการเชิงป้องกันไม่ให้การระบาดเกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุโดยเร็วอีกด้วย

ในอิตาลี เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับเชื้ออีกด้วย

ในนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา ก็เช่นเดียวกัน ประชากรของเมืองมีโรคประจำตัวอยู่หลายโรค ตั้งแต่ความดันสูง, โรคไตและโรคอ้วน ซึ่งส่งผลให้ นิวออร์ลีนส์ กลายเป็นเมืองที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมจะไม่มากเท่านิวยอร์กก็ตามที

ระบบสาธารณสุขและการเข้าถึง

การออกแบบระบบสาธารณสุขและความสามารถในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐานของแต่ละประเทศก็มีผลทำให้อัตราการเสียชีวิตแตกต่างกันออกไป ในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ระบบสาธารณสุขมักเป็นระบบสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงได้ของประชากรในทุกกลุ่มให้มากที่สุด

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพแบบนี้ ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคม, ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ส่งผลกระทบต่อการได้รับการดูแลจากระบบสาธารณสุข

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่ นายแพทย์คีเดมา ยกมาเป็นอุทธาหรณ์ก็คือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก ซึ่งพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในย่านที่อยู่อาศัยของคนยากจนสูงมากกว่าในย่านมั่งคั่ง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่อาศัยในแถบชนบทของสหรัฐอเมริกาทั่วประเทศก็กำลังหวาดกลัวโควิด-19 ไปพลางแล้วก็วิตกไปพลางว่าจะไม่มีเตียงในโรงพยาบาลสำหรับให้ตนได้เข้ารักษา หลังจากที่โดยระบบแล้วทำให้โรงพยาบาลในแถบชนบทปิดตัวไปเกือบหมดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

กรณีของนิวยอร์ก ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ว่าการรัฐแต่ละแห่งในสหรัฐอเมริกา ยังต้องแข่งขันกันเองในการแย่งชิงซื้อหาเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการรับมือกับการระบาดในรัฐของตน

นิวยอร์กเองยังต้องพึ่งการรับบริจาคและเพิ่งได้รับความช่วยเหลือส่งมอบเครื่องช่วยหายใจมาให้จากจีน

ในประเทศอย่างเยอรมนี รัฐบาลใช้มาตรการจัดรถบริการ ที่เรียกกันว่า “โคโรนาเท็กซี่” ซึ่งมีทั้งทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ ครบครัน คอยเฝ้าระวังรองรับประชาชนที่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะการนำตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในเวลาที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการชี้ขาดความอยู่รอดหรือการตายของผู้ป่วยเหล่านั้น

เยอรมนียังทดสอบหาผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวาง เพื่อนำตัวผู้ที่ติดเชื้อแยกออกห่างจากสังคม และยังบริหารจัดการระบบที่วางเอาไว้ รวมทั้งทรัพยากรด้านสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

“ถ้าหากคุณไม่มีเครื่องช่วยหายใจ หรือหากคุณจำเป็นต้องนำเอาแพทย์ทั่วไป หรือบุคลากรสาธารณสุขทั่วๆ ไป มาให้การดูแลผู้ป่วยในห้องอภิบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) หรือผู้ป่วยที่อาการเป็นตายเท่ากัน โดยที่คนเหล่านั้นไม่เคยได้รับการฝึกให้รับมือกับสถานการณ์นั้นมาก่อน

“ผลลัพธ์ที่ได้คงออกมาไม่ดีเท่าใดนัก ผู้ป่วยย่อมล้มตายมากกว่าอย่างแน่นอน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image