คืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ปลายปีนี้-ต้นปีหน้า!?

REUTERS

คืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ปลายปีนี้-ต้นปีหน้า!?

สมาพันธ์เพื่อ นวัตกรรมการเตรียมพร้อมรับมือการระบาด หรือเซปิ (The Coalition for Epidemic Preparedness Innovations-CEPI) ให้การสนับสนุนทางการเงินและทางวิชาการแก่โครงการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังอาละวาดทำลายชีวิตมนุษย์อยู่ทั่วทุกมุมโลกอยู่ในเวลานี้

เซปิคาดหวังว่า อย่างน้อย 1 ใน 8 โครงการดังกล่าวนี้ จะประสบความสำเร็จสามารถผลิตวัคซีนออกมาป้องกันโรคนี้ ยุติฝันร้ายของมนุษยชาติหนนี้ลงได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

8 โครงการดังกล่าว รวมถึงโครงการของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สถาบันวิชาการระดับโลกในประเทศอังกฤษ กับ ทีมวิจัยของ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย สถาบันปาสเตอร์ ในฝรั่งเศส และโมเดอร์นา บริษัทเวชการของสหรัฐอเมริกา เจ้าของยา เรมเดซิเวียร์

ในเวลาเดียวกันยังมีอีก 41 หน่วยงานทั้งของรัฐบาลและเอกชน เร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อการนี้อยู่อย่างขะมักเขม้นในหลายๆ ประเทศ ตั้งแต่ออสเตรเลีย ไปจนถึงอินเดีย และอิสราเอล

Advertisement

วัคซีนของโมเดอร์นา และแคนซิโน ที่ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพแห่งปักกิ่ง ของจีน กำลังอยู่ระหว่างการทดลองระยะแรกในคนแล้วด้วยซ้ำไป

ในขณะที่หลายบริษัทยังเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่นั่นคือ ขาดเงินทุน สำหรับการวิจัยและทดลอง

นั่นทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า ความหวังที่จะได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมาใช้ป้องกันโรคโควิด-19 อยู่ที่ไหนและทำไมถึงอยู่ที่นั่น

หลายวิธีการสร้างวัคซีน

วัคซีน 44 ตัวสำหรับต่อต้านไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 นั้น ใช้กรรมวิธีในการสร้างแตกต่างกันออกไป แม้ว่าเป้าหมายจะเป็นอย่างเดียวกัน นั่นคือ การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็นในการต่อต้านเชื้อที่ผ่านเข้าไปในร่างกายได้นั่นเอง

นิโคลา สโตนเฮาส์ ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยลีดส์ แจกแจงหลากหลายวิธีการสร้างวัคซีนเอาไว้ว่า มีตั้งแต่เทคนิคดั้งเดิม ด้วยการสร้างเชื้อซาร์ส-โคฟ-2 ขึ้นมาแล้วนำมาหาวิธีการทำให้มันคลายฤทธิ์ลง โดยอาจปิดกั้นการทำงานของสารเคมีบางตัวในเชื้อไวรัส จนทำให้มันสามารถเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ กระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันขึ้น แต่ไม่ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนล้มป่วย

ในกรณีนี้ เท่ากับเป็นการฉีดไวรัสที่มีชีวิตเข้าไปในร่างกายนั่นเอง เพียงเป็นเวอร์ชั่นของไวรัสที่อ่อนแอกว่าที่อาละวาดอยู่ในธรรมชาติในยามนี้

วิธีนี้รับประกันว่าได้ผลแน่นอน แต่สิ้นเปลืองเวลานานหลายปี ตั้งแต่การหาทางเพาะเชื้อ หาวิธีการเสื่อมฤทธิ์โดยไม่ทำให้มันตาย และยังมีปัญหาอายุการใช้งานและการเก็บรักษาวัคซีนอีกด้วย

สถาบันซีรัมแห่งอินเดีย กำลังพัฒนาวัคซีนตามวิธีนี้ แต่ลัดขั้นตอนโดยอาศัยวัคซีนวัณโรคที่มีอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน จึงเริ่มทดลองในมนุษย์ได้

วัคซีนจากโปรตีนของเชื้อ

อีกเทคนิคหนึ่งเป็นการใช้บางส่วนของเชื้อไวรัส อย่างเช่นส่วนโปรตีนของเชื้อมาใช้เป็นตัวการในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาตอบสนอง เรียกกันว่า “รีคอมบิแนนท์ วัคซีน”

วัคซีนชนิดนี้สร้างง่ายกว่า เพราะโปรตีนของไวรัสสามารถสร้างขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการทดลอง ไม่จำเป็นต้องมาเพาะเชื้อไวรัส “เป็นๆ” ขึ้นมาแต่อย่างใด

วิธีนี้เชื่อกันว่า ใช้ได้ผลดีในกรณีของไวรัสซาร์ส-โคฟ-2 เนื่องจากมันมี “สไปค์ โปรตีน” คือส่วนที่คล้ายหนามแหลมๆ ขึ้นมารอบพื้นผิวตัวไวรัส ที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย “รู้จัก” ได้ง่าย

นอกจากนั้น ไวรัสซาร์ส-โคฟ-2 นี้ยังใกล้เคียงกันอย่างยิ่งกับไวรัส “ซาร์ส-โคฟ” ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน หรือซาร์ส ทำให้หลายบริษัทซึ่งเคยผลิตวัคซีนโรคซาร์สมาก่อนหน้านี้ นำเอาวัคซีนดังกล่าวมาเป็นพื้นฐานแล้ว “เปลี่ยนวัตถุประสงค์” ของวัคซีนให้ป้องกันโรคโควิด-19 ได้เท่านั้นเอง

ซาโนฟี บริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกจากฝรั่งเศสใช้วิธีในการผลิตวัคซีนโควิด-19 เช่นเดียวกับ โนวาแวกซ์ บริษัทยาอเมริกัน ที่เตรียมจะทดลองในคนระยะแรกในราวเดือนพฤษภาคมนี้

วัคซีนซ่อนพันธุกรรม

ทีมวิจัยของ แคนซิโน บริษัทจากฮ่องกง ใช้เทคนิคที่แตกต่างออกไป วิธีการที่ทีมวิจัยนี้ใช้ก็คือ การนำเอารหัสพันธุกรรมในโปรตีนของ ซาร์ส-โคฟ-2 ไปซ่อนไว้ในไวรัสชนิดอื่น (ที่มีชีวิต) แต่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ (สำหรับให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ตอบสนองและจดจำ) เพื่อสร้างวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขึ้นมา

ในกรณีของการทำวัคซีนโควิด-19 นี้ ทีมวิจัยใช้ไวรัสอะดิโน ซึ่งก่อให้เกิดโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มาใช้เป็นตัวซ่อนพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด-19

วิธีการแบบเดียวกันนี้ เคยใช้ได้ผลมาแล้วในการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันการระบาดของเชื้ออีโบลา

‘อาร์เอ็นเอวัคซีน’ความหวังใหม่

“อาร์เอ็นเอวัคซีน” หรือวัคซีนที่ใช้อาร์เอ็นเอของไวรัสมาเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ส่วนของอาร์เอ็นเอที่ใช้คือ “แมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ” (เอ็มอาร์เอ็นเอ) ซึ่งเป็นโมเลกุลของกรดนิวคลีอิคจำเพาะชนิดหนึ่งที่พบในสายอาร์เอ็นเอที่เป็นส่วนใช้บรรจุพันธุกรรมของไวรัสซาร์ส-โคฟ-2

เอ็มอาร์เอ็นเอ เมื่อเข้าไปในร่างกายจะก่อให้เกิดโปรตีนที่เป็นแอนติเจนหรือสารที่จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเราขึ้น

อาร์เอ็นเอวัคซีน พัฒนาได้ง่ายและเร็วกว่าวัคซีนแบบคลาสสิกที่อินเดียใช้อยู่ เพราะไม่จำเป็นต้องเพาะเชื้อไวรัสจำนวนมากขึ้น (ในสัตว์เพาะเชื้อ ทำนองเดียวกับที่เราเพาะเชื้อในวัวเพื่อให้ได้วัคซีนฝีดาษ)

อย่างไรก็ตาม อาร์เอ็นเอวัคซีน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นวิธีใหม่เอี่ยม ยังไม่เคยมีการใช้ในการพัฒนาวัคซีนใดๆ มาก่อน ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ สโตนเฮาส์ ถึงได้ระบุว่า ยังไม่มีใครรู้ว่าวิธีนี้จะได้ผลหรือไม่ และปลอดภัยหรือไม่

โมเดอร์นา ใช้เทคนิคนี้ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และเริ่มนำมาทดลองในคนแล้วเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา

เป็นไปได้ว่า วัคซีนโควิด-19 ตัวแรกที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เป็นการทั่วไปได้ อาจได้มาจากวิธีการนี้นี่เอง

กระนั้น โอกาสดีที่สุดที่จะได้วัคซีนด้วยวิธีการนี้ที่ได้ผลและปลอดภัยก็คงต้องรออีกอย่างน้อย 1 ปี

ย่นเวลาด้วยการทำงานหนัก

อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน สถาบันวิชาการด้านการแพทย์เลื่องชื่อของอังกฤษอีกราย ใช้วิธีง่ายๆ คือการระดมสรรพกำลังเข้ามาทำงานวิจัยวัคซีนให้ประสบผลเร็วที่สุด ทีมวิจัยของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ใช้เทคนิคอาร์เอ็นเอ พัฒนาวัคซีนของตนขึ้นมา ทดลองใช้ในหนูทดลองแล้วได้ผลดี และกำหนดจะทดลองในคนได้ในราวเดือนพฤษภาคมนี้เช่นกัน หากการทดลองในสัตว์ทดลองยังคงได้ผลและมีเงินทุนสนับสนุนให้ดำเนินการต่อ

กระนั้น โรบิน แชทท็อค หัวหน้าทีมวิจัยยอมรับว่า อย่างเร็วที่สุดที่วัคซีนนี้จะใช้ได้ทั่วไปก็คงเป็นต้นปีหน้า

วัคซีนโควิด-19ในเดือนกันยายน?

วิธีการที่เร็วที่สุดในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ อาจเป็นวิธีการที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดใช้อยู่ นั่นคือ การหยิบเอางานพัฒนาวัคซีนโรคเมอร์ส แต่เดิม มา “เปลี่ยนวัตถุประสงค์” เสียใหม่ ด้วยเหตุที่ว่า เมอร์สและโควิด-19 ก็เป็นโรคที่เกิดจากโคโรนาไวรัสเช่นกัน และมีพันธุกรรมใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง

ศาสตราจารย์สโตนเฮาส์ ระบุว่า วิธีนี้สามารถประหยัดเวลาได้มาก เพราะขั้นตอนหลายขั้นตอนทีมพัฒนาเคยผ่านกันมาแล้วทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหายังคงอยู่ที่ว่า วัคซีนเมอร์สในกรณีของออกซ์ฟอร์ด หรือซาร์ส ในกรณีของซาโนฟี (ที่ใช้คนละเทคนิคกัน) ต่างก็ไม่เคยผ่านขั้นตอนการอนุมัติให้ใช้ และยังไม่มีใครแน่ใจว่าใช้ได้ผลหรือไม่ (เนื่องจากโรคระบาดทั้งสองสงบลงก่อนวัคซีนพัฒนาได้สำเร็จ)

ออกซ์ฟอร์ดเองยังไม่รู้เลยว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมานั้นใช้ป้องกันเมอร์สได้หรือไม่ อย่าว่าแต่จะนำมาใช้กับโควิด-19 เลย

อย่างไรก็ตาม ซาราห์ กิลเบิร์ต ศาสตราจารย์ด้านวัคซีนวิทยาของออกซ์ฟอร์ด หนึ่งในทีมวิจัยและพัฒนาวัคซีนในเวลานี้ ยืนยันว่า ในความเห็นส่วนตัว จากการคลุกอยู่กับการพัฒนานี้มาตั้งแต่แรก เธอมั่นใจ “80 เปอร์เซ็นต์” ว่าวัคซีนที่ออกซ์ฟอร์ดพัฒนาขึ้นมาจะ “ได้ผล”

ศาสตราจารย์กิลเบิร์ตระบุว่า ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า วัคซีนของออกซ์ฟอร์ดจะเริ่มต้นการทดลองระยะแรกในคน

เธอบอกว่า “ถ้าทุกอย่างเป็นไปโดยสมบูรณ์แบบแล้วละก็ เป็นไปได้ที่เราจะมีวัคซีนโควิด-19 ให้ใช้กันในเดือนกันยายนนี้”

อีก 5 เดือนเท่านั้นโลกกำลังจะมีเกราะป้องกันโควิด-19 แล้ว!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image