งานวิจัยใหม่ล่าสุด 2 ชิ้นเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซาร์ส-โคฟ-2 ซึ่งเป็นตัวการก่อโรคระบาดโควิด-19 ที่แพร่ระบาดออกไปทั่วทุกทวีป ทุกภูมิภาคของโลก ยกเว้นแอนตาร์กติกา อยู่ในเวลานี้นั้น แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของตัวเชื้อร้ายนี้ว่า เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และอาจทำให้ความพยายามในการควานหาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อนี้ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น
ในขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นจากประเทศฝรั่งเศส สะท้อนให้เห็นความสามารถในการอยู่รอดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ ที่สามารถคงอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมยากลำบากได้เกินกว่าที่มนุษย์เราคาดเอาไว้มาก เพราะมันสามารถทนความร้อนในระดับที่สามารถฆ่าเชื้อส่วนใหญ่ได้ แต่ไม่สามารถยับยั้ง ซาร์ส-โคฟ-2 ได้แต่อย่างใด
การกลายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ
รายงานวิจัยชิ้นแรกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา เป็นของทีมวิจัยของไต้หวันและออสเตรเลียซึ่งตรวจสอบพบว่าเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยรายหนึ่งที่อินเดีย มีการกลายพันธุ์ที่อาจทำให้การพัฒนาวัคซีนที่กำลังเร่งรีบกันอยู่ทั่วโลกในเวลานี้ไร้ความหมายไปในทันทีเพราะใช้ป้องกันไวรัสสายพันธุ์นี้ไม่ได้ผล
งานวิจัยดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเผยแพร่ก่อนการตีพิมพ์ในเว็บไซต์ไบโอซิฟ และยังไม่มีการตรวจสอบจากเพื่อนนักวิชาการด้วยกัน ดำเนินการโดยทีมวิจัยนำโดย หวัง เว่ย ล้ง นักวิจัยด้านไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติจางฮั่วของไต้หวัน ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเมอร์ดอคในประเทศออสเตรเลีย ระบุเอาไว้ว่า การกลายพันธุ์ที่ตรวจพบนี้เป็นการกลายพันธุ์ชนิดที่มีนัยสำคัญเป็นครั้งแรก ซึ่งคุกคามต่อการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นี้
ข้อสังเกตที่ได้จากการวิจัยหนนี้ก็คือ ซาร์ส-โคฟ-2 หรือไวรัสก่อโรคโควิด-19 สามารถกลายพันธุ์ทำให้มีลักษณะของเอปิโทป (พื้นผิวปฏิสัมพันธ์ที่แอนติบอดีสามารถเข้าไปเกาะจับ) ของไวรัสแตกต่างออกไปหลากหลายได้ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้วัคซีนป้องกันที่กำลังพัฒนากันอยู่ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการอาจไม่ได้ผล
ทั้งนี้ เชื้อตัวอย่างซึ่งนำมาตรวจจนพบการกลายพันธุ์ดังกล่าว พบครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติ ในอินเดีย ซึ่งต่อมามีการนำเผยแพร่ ผลการจำแนกพันธุกรรมเต็มรูปแบบให้กับสังคมวิชาการทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยรายที่เป็นเจ้าของตัวอย่างดังกล่าวคือ นักศึกษาแพทย์รายหนึ่งในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น แต่ต่อมาเมื่อทีมวิจัยนำมาเปรียบเทียบแล้ว พันธุกรรมจากตัวอย่างไวรัสดังกล่าวนี้ไม่ได้ใกล้เคียงกับบรรดาสายพันธุ์ย่อยทั้งหลายในอู่ฮั่น รวมทั้งแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังระบาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกอีกด้วย
การกลายพันธุ์สำคัญนี้เกิดขึ้นกับตุ่มโปรตีนหรือหนามของไวรัส โดยการกลายพันธุ์เข้าไปเปลี่ยนแปลงส่วนที่เรียกว่า รีเซปเตอร์-ไบน์ดิง โดเมน (อาร์บีดี) ซึ่งไวรัสใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกตัวเข้าไปเกาะตัวเองกับ แอนจิโอเทนซิน คอนเวิร์ตติง เอนไซม์-2 (เอซีอี-2) ซึ่งเป็นสารเอนไซม์ในร่างกายและพบมากในปอดมนุษย์ซึ่งส่งผลให้โควิด-19 โจมตีปอดของคนเราอย่างรุนแรงนั่นเอง
แต่การกลายพันธุ์นี้จะส่งผลให้พันธะของไฮโดรเจนในตุ่มหรือหนามของซาร์ส-โคฟ-2 หายไป ทำให้ไวรัสไม่สามารถเกาะกับเซลล์ที่มีเอนไซม์เอซีอี-2 ได้ จึงอาจแพร่ในร่างกายด้วยวิธีการอื่นแทน
ในขณะที่วัคซีนส่วนใหญ่ที่พัฒนาการกันอยู่ ใช้หลักการป้องกันไม่ให้อาร์บีดี ของไวรัสเข้าไปเกาะจับกับเอซีอี
นั่นหมายความว่า หากเกิดการกลายพันธุ์เช่นนี้ขึ้นจริง วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างเร่งรีบเอาเป็นเอาตายก็อาจไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงนั่นเอง
นักวิจัยส่วนใหญ่แม้จะชี้ว่ารายงานการวิจัยครั้งนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบทางวิชาการอีกครั้ง เพื่อประเมินข้อเท็จจริง แต่ยอมรับด้วยว่าโคโรนาไวรัสนั้นเป็นกลุ่มไวรัสที่มีอาร์เอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมสายเดี่ยว เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่ายมากและกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา
ทำให้การพัฒนาวัคซีนกลายสภาพเป็นเหมือนการยิงเป้าหมายที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ยากที่จะตรงเป้าได้
ศูนย์ชีววิทยาสารสนเทศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นซีบี) ซึ่งติดตามกลายกลายพันธุ์ของไวรัสนี้ที่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ตลอดเวลาพบว่า มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นแล้ว 3,500 ครั้ง นับตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์ที่สำคัญเช่นนี้มาก่อน
นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ในกรุงปักกิ่งซึ่งติดตามการกลายพันธุ์ของซาร์ส-โคฟ-2 ระบุว่า กำลังติดตามการอุบัติขึ้นของสายพันธุ์จากอินเดียอย่างใกล้ชิดอยู่ในเวลานี้
โควิดทนร้อนได้ถึง 60 องศา
งานวิจัยถัดมาเป็นผลงานของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเอกซ์-มาร์กเซย์ ในเมืองมาร์กเซย์ ตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่ผลการทดลองสภาพทนความร้อนของเชื้อไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบาดโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์ไบโออาร์ซิฟ เมื่อวันที่ 12 เมษายน ระบุว่า เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ยังคงหลงเหลือความสามารถในการแบ่งตัวเพื่อแพร่เชื้อระลอกใหม่ได้หลังจากใช้ความร้อนสูงถึง 60 องศา เป็นเวลา 1 ชั่วโมงแล้วก็ตามที ทีมวิจัยต้องเพิ่มความร้อนขึ้นจนถึงระดับ 92 องศา หรือเกือบถึงจุดเดือดของน้ำ จึงสามารถฆ่าเชื้อได้หมด
ศาสตราจารย์เรมี ชาร์เรล หัวหน้าทีมวิจัยผลการวิจัยครั้งนี้เป็นการเตือนถึงอันตรายของไวรัสนี้ต่อนักวิจัยที่ทำงานวิจัยหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับไวรัสชาร์ส-โคฟ-2 โดยเฉพาะ ว่าควรจะสวมชุดป้องกันเชื้อเต็มรูปแบบ หรือแฮซแมท ทุกครั้งเมื่อทำงาน และเมื่อทำงานศึกษาวิจัยเสร็จในแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องกำจัดเชื้ออย่างถูกต้องทั้งหมดก่อนเริ่มขั้นตอนต่อไป
โดยแนะนำด้วยว่า การฆ่าไวรัสซาร์ส-โคฟ-2 ควรใช้ “สารเคมี” ในการกำจัดเชื้อจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้ความร้อนฆ่าเชื้อมาก
ทีมวิจัยในฝรั่งเศสใช้การฉีดไวรัสที่ยังมีชีวิตซึ่งได้จากผู้ป่วยรายหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ใส่เซลล์ไตของลิงแอฟริกัน ซึ่งเป็นตัวทดลองมาตรฐานสำหรับการทดลองไวรัสมีชีวิต จากนั้นนำเซลล์ของสัตว์ทดลองที่ติดเชื้อใส่หลอดทดลอง 2 หลอด ซึ่งจำลองสภาวะแวดล้อมในความเป็นจริง 2 แบบคือแบบที่สะอาดและสกปรก (เช่นในช่องปากของมนุษย์เป็นต้น)
หลังจากผ่านการให้ความร้อน 60 องศา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เชื้อในหลอดทดลอง “สะอาด” ถูกกำจัดจนหมด แต่ในหลอดทดลอง “สกปรก” แม้ว่าฤทธิ์ของเชื้อจะลดลงอย่างชัดเจน แต่ก็ยังคงมีชีวิตอยู่และสามารถเริ่มต้นการแพร่เชื้อรอบใหม่ได้
ทั้งนี้ ที่อุณหภูมิ 60 องศา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง นั้นเป็นระเบียบวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการที่สามารถยับยั้งไวรัสอันตรายได้หลากหลายชนิด รวมทั้งไวรัสอีโบลา แต่ใช้ไม่ได้ผลกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทีมวิจัยต้องเพิ่มอุณหภูมิเป็น 92 องศา เป็นเวลา 15 นาที จึงฆ่าไวรัสได้ทั้งหมด
งานวิจัยดังกล่าวนี้สอดคล้องกับผลงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า สภาพภูมิอากาศไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อขีดความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด
โดยในงานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ จามา เน็ตเวิร์ก โอเพ่น เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ ทีมนักวิจัยชาวจีนรายงานว่า พบการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนในที่อาบน้ำสาธารณะในเมืองฮ่วยอัน มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของประเทศจีน หลังจากที่ผู้ติดเชื้อรายหนึ่งมาใช้บริการแหล่งอาบน้ำสาธารณะและอบเซานาเมื่อวันที่ 18 มกราคม หลังจากนั้นก็แพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ ในแหล่งอาบน้ำเดียวกันถึง 8 ราย รวมทั้งพนักงานประจำแหล่งอาบน้ำในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
แหล่งอาบน้ำดังกล่าว ให้บริการอาบน้ำอุ่นที่อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา โดยมีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์
แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการแพร่ระบาดของซาร์ส-โคฟ-2 ไม่ได้ลดทอนลงเพราะความร้อนและความชื้นแต่อย่างใดนั่นเอง