‘นาซา’เลือกแล้ว3บริษัท สร้างระบบลงจอดบนดวงจันทร์

REUTERS/Jon Nazca

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ประกาศเลือกบริษัท สเปซเอ็กซ์ ของนายอีลอน มัสก์, บลู ออริจิ้น ของเจฟฟ์ เบซอส และไดเนติกส์ ในการสร้างระบบลงจอดบนดวงจันทร์ เพื่อนำนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2024

โดยโครงการส่งมนุษย์กลับขึ้นไปดวงจันทร์อีกครั้งของนาซามีงบประมาณสำหรับการสร้างระบบลงจอดบนดวงจันทร์ จำนวน 967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่แน่ชัดว่าทั้ง 3 บริษัทจะได้รับเงินไปบริษัทละเท่าใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทโบอิ้งเคยเสนอระบบลงจอดให้แก่นาซาไปแล้ว แต่ไม่ได้รับเลือก

นายจิม ไบรเดนสไตน์ ผู้บริหารของนาซา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ว่า “นี่คือชิ้นส่วนชิ้นสุดท้ายที่เราต้องการเพื่อการเดินทางไปยังดวงจันทร์” พร้อมกับบอกว่า การเดินทางไปดวงจันทร์กครั้งแรกของมนุษย์เมื่อปี 1972 ถือเป็น “ประวัติศาสตร์”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม โครงการกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งของนาซาครั้งนี้ไม่เหมือนกับโครงการ “อพอลโล” ในอดีต ที่นำนักบินอวกาศไปดวงจันทร์เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน โดยครั้งนี้นาซาได้เตรียมความพร้อมบนดาวเทียมบนโลกนี้เอาไว้ระยะยาว เพื่อช่วยทำให้มนุษย์ได้ไปไกลถึงดาวอังคาร พร้อมกับทำงานร่วมกันอย่างหนักกับบริษัทเอกชน แบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการขึ้นไปสำรวจอวกาศ

ลิซา วัตสัน-มอร์แกน ผู้จัดการโครงการระบบลงจอดของมนุษย์ ของนาซา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การเลือกบริษัท 3 บริษัทครั้งนี้ทำให้นาซามีโอกาสในการเลือกมากขึ้น หากว่ามีบริษัทใดบริษัทหนึ่งประสบความล้มเหลวในการพัฒนา

Advertisement

ด้านนายอีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทสเปซเอ็กซ์ กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า ตนคิดว่าได้รับโอกาสที่น่าเหลือเชื่อสำหรับอนาคตในอวกาศบนดวงจันทร์ ในการส่งคนขึ้นไป และการได้ใช้ชีวิตที่ยั่งยืนบนดาวอังคาร

เมื่อปีที่ผ่านมา เบซอสได้เปิดตัวการออกแบบระบบลงจอดบนดวงจันทร์ “บลู มูน” ของบริษัท บลู ออริจิ้นขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการทำสัญญาเบื้องต้นกับ ล็อกฮีด มาร์ติน, นอร์ธรอป กรุมแมน และเดรเปอร์ ซึ่งบลู ออริจิ้น มีแผนที่จะเปิดตัวระบบการลงจอดของตัวเองเพื่อใช้สำหรับจรวดสำหรับยกของหนักของตัวเอง ที่มีชื่อว่า “นิว เกลนน์”

ขณะที่ บริษัท สเปซเอ็กซ์ ของมัสก์นั้น เตรียมพัฒนาระบบลงจอด “สตาร์ชิป” เพื่อส่งลูกเรือและสิ่งของน้ำหนักไม่เกิน 100 ปอนด์ ไปยังดวงจันทร์ ด้าน บริษัท ไดเนติกส์ ได้พัฒนาระบบลงจอดของมนุษย์ ขณะที่บริษัท ยูไนเต็ด ลอนช์ อัลลิแอนซ์ บริษัทร่วมทุนระหว่าง โบอิ้ง กับล็อกฮีด พัฒนาระบบลงจอดที่เรียกว่า “วัลแคน”

อย่างไรก็ตาม นาซาไม่เลือกของโบอิ้งและอีกบริษัทหนึ่งในการคัดเลือกเบื้องต้น แต่ไม่มีการแจ้งเหตุผลที่ชัดเจนเอาไว้

ก่อนหน้านี้โบอิ้งก็เพิ่งจะพ่ายแพ้ให้สเปซเอ็กซ์ในการบริการขนส่งสิ่งของไปยังสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ ซึ่งในบันทึกของนาซาระบุว่า ข้อเสนอของโบอิ้งนั้นราคาสูงที่สุด เป็นเหตุผลให้ไม่เลือกโบอิ้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image