‘บราเดอร์’ กับกลยุทธ์ช่วงโควิด-19 ‘พรินเตอร์’ ยอดขายหด-‘จักรเย็บผ้า’ ยอดพุ่ง

ในช่วงที่ธุรกิจต่างๆ อาจจะมียอดขายที่ย่ำแย่ลง หากแต่ก็เป็นโอกาส ให้บางธุรกิจมียอดขายที่พุ่งเกินคาด อย่างกรณีของ “บราเดอร์” ที่เราๆ รู้จักกันดีว่า เป็นหนึ่งในผู้ผลิตพรินเตอร์รายใหญ่ แต่อีกหนึ่งสินค้าที่บราเดอร์มีอยู่ในสายการผลิตก็คือ “จักรเย็บผ้า” ที่ตอนนี้กลายเป็นว่ายอดขายพุ่งกระฉูด ชนิดที่เรียกว่ามีเท่าไหร่ก็ขายหมด

เรื่องนี้ นายธีรวุธ ศุภพันธ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากต้องรักษาระยะห่างทางสังคมในช่วง โควิด-19

นายธีรวุธได้กล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ว่า กลยุทธ์ของบราเดอร์ ในช่วงนี้ ยังคงใช้กลยุทธ์ 3C ที่กำหนดใช้ตั้งแต่ปี 2019 ถึงปี 2021 คือ Customer หรือลูกค้า, Channel Partner หรือช่องทางจำหน่าย พาร์ตเนอร์ และ Compamy หรือตัวบริษัทบราเดอร์เอง

โดยในช่วงโควิดนี้ แต่ละ C ทำอะไรได้บ้าง สำหรับ C แรก ในส่วนของลูกค้านั้น แตั้งแต่เกิดโควิด ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา บราเดอร์ก็ได้มีการเปิดตัวโปรโมชั่นสำหรับลูกค้าขึ้นมา ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่มีความห่วงกังวลว่า ตัวเองจะ “ติดหรือยัง” ติดแล้ว จะมีเงินจ่ายค่ารักษาไหม ดังนั้น จึงได้ทำโปรโมชั่น เมื่อซื้อสินค้าบราเดอร์ก็ทำประกันโควิดให้ฟรี รวมมูลค่าสูงถึง 70,000 บาท โดยโปรโมชั่นดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน และสิ้นสุดตอนปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับดีประมาณหนึ่ง

Advertisement

ในส่วนของการบริการลูกค้านั้น ตอนนี้ ห้างสรรพสินค้าก็ปิดอยู่ แต่ทางบราเดอร์เองยังเปิดให้บริการแก่ลูกค้าทุกวัน มีทั้งผ่านทางอีเมล์ แชต และทางโทรศัพท์ ซึ่งทางอีเมล์และแชตนั้น เปิดให้บริการได้ทุกวัน ตอบคำถามได้ตลอด แต่สำหรับทางโทรศัพท์นั้น เป็นการใช้โทรศัพท์ออฟฟิศ จึงเปิดให้บริการได้แค่ช่วงวันจันทร์ ถึงวันศุกร์เท่านั้น

และสิ่งที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ช่วงนี้ก็คือ ลูกค้าจะถนัดการแชตมากกว่าการส่งอีเมล์

นายธีรวุธยังได้กล่าวถึงในกรณีที่เครื่องของลูกค้าเสีย จะทำอย่างไร เพราะไม่อยากออกจากบ้านกัน และจะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม ทางบราเดอร์จึงได้ทำโครงการใหม่ “บราเดอร์ แคร์ เอ็กซ์เพรส” ขึ้นมา เพื่อรับ-ส่ง เครื่องไปซ่อม โดยเสียเงินค่าบริการเริ่มต้นที่ 400 บาท เพียงโทรเข้าไปในศูนย์ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปรับเครื่อง เพื่อนำส่งไปซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จ ก็จะนำไปส่งคืนให้ ซึ่งถ้าโทรก่อนเที่ยง ก็จะเข้าไปรับเครื่องตอนบ่าย แต่ถ้าโทรแจ้งตอนบ่าย วันรุ่งขึ้นก็จะไปรับเครื่องไปส่งให้

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงแค่โครงการนำร่อง เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เท่านั้น

ในส่วนของศูนย์บริการของบราเดอร์นั้น ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ที่อาคารรสา เชียงใหม่ หาดใหญ่ ระยอง แต่ถ้าเป็นศูนย์ซ่อมตามห้างสรรพสินค้าก็จะปิด

มาถึง C ที่ 2 channel partner ซึ่งนายธีรวุธกล่าวว่า ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน แต่ก็มีการปรับตัว ขายผ่านออนไลน์กันมากขึ้น และทางบราเดอร์เองก็ได้จัดทีมงานที่คอยสนับสนุน ปรึกษา พบปะพูดคุย ถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วช่วยหาทางแก้ไข

โดยตอนนี้ แนวทางที่ต้องปฏิบัติคือ ต้องช่วยคู่ค้าว่าทำอย่างไรให้ช่วยขายของออกไปได้ ซึ่งก็ได้มีการสร้าง “บราเดอร์ มาร์เก็ต” ขึ้นมา ผ่านทางเฟซบุ๊กของบราเดอร์ที่แต่เดิมใช้สำหรับโปรโมชั่นกลาง แต่ตอนนี้ก็นำมาใช้เป็นสื่อกลาง สำหรับคู่ค้า ใครมีโปรโมชั่นเด็ด ก็เอามาโปรโมตผ่านทางเพจของบราเดอร์ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีหลายรายส่งเข้าไปแล้ว ก็เป็นอีกช่องทางที่จะช่วยคู่ค้าขายของได้

นอกจากนี้ ก็ยังมีการส่งพนักงานของบราเดอร์เข้าไปช่วยทำไลฟ์สดให้แก่แชนเนล ผ่านทางเพจของแชนเนลเอง เพื่อแนะนำว่าสินค้าของบราเดอร์มีจุดดีจุดเด่นอย่างไรบ้าง

บราเดอร์ยังได้ตั้ง “เฮา ทู ดู ออนไลน์ บิสเนส” ขึ้น ให้แก่พาร์ตเนอร์ได้เรียนรู้วิธีการขายของผ่านออนไลน์ เพราะมีหลายรายไม่เคยทำออนไลน์มาก่อน แต่เมื่อตอนนี้หน้าร้านถูกปิด ต้องหันมาขายออนไลน์มากขึ้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทางบราเดอร์จึงจะเป็นสื่อกลางให้ ได้เข้ามาเรียน เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้

สำหรับ C สุดท้าย Company ในส่วนของตัวบริษัทบราเดอร์เองนั้นก็มีแผนหลายอย่าง อย่างแรกคือปรับปรุงวิธีการทำงานภายใน ซึ่งจริงๆ แล้ว ทำไปตั้งแต่ปี 2019 โดยปีนี้ก็ต้องทำต่อ แล้วดูว่าอันไหนที่ดำเนินการช้าไปก็จะพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น ต้องง่าย สะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง

อย่างการทำงานจากนั้น ก็เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม ตอนนั้นก็จะมีการพูดคุยกันว่า จะแบ่งงานกันอย่างไร จะทำจากบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ก็ได้ข้อสรุปว่าให้แต่ละแผนกจัดการกันเอง ว่าใครจะทำที่บ้าน ใครเข้าออฟฟิศ อย่างพวกที่ต้องใช้รถโดยสารประจำทาง ก็ให้ทำงานจากที่บ้านเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่ทางบริษัทก็จะจัดหาอุปกรณ์ในการทำงานให้ ทั้งโน้ตบุ๊ก พรินเตอร์ เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และตอนนี้ก็ได้ขยายเวลาการทำงานจากบ้าน ไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม แล้วคอยดูสถานการณ์กันต่อว่าจะเป็นอย่างไร

นายธีรวุธกล่าวว่า ช่วงนี้ ทางบริษัทใช้เทคโนโลยีต่างๆ เยอะมาก อย่างเช่น ไมโครซอฟท์ ทีม เพื่อใช้สำหรับการประชุมต่างๆ ล่าสุด ทางแผนกเซอร์วิสได้พัฒนาซอฟต์แวร์ LMS (Learning Management System) ที่เบื้องต้นทำขึ้นมาเพื่อไว้สำหรับการเทรนนิ่งศูนย์บริการและตัวแทนแต่งตั้ง แต่จากการเดินทางที่อาจจะไม่สะดวกสบาย จึงได้นำ LMS มาเป็นตัวหลักในการจัดการประชุมในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ที่สามารถรองรับคนที่เข้าร่วมได้กว่าร้อยคน และมีเพียงแค่คนที่จะเข้าห้องประชุมจริงๆ เพียงแค่คนที่ต้องพรีเซนต์งานผ่านทางห้องประชุมแค่ประมาณ 10 คนเท่านั้น และทุกคนที่ร่วมในการประชุมก็จะสามารถสอบถามเรื่องต่างๆ เข้าไปได้

ในส่วนของเป้าหมายของปีนี้นั้น นายธีรวุธกล่าวว่า จะมีการปรับลดหรือเปล่านั้น ขึ้นอยู่กับสำนักงานใหญ่ แต่ตอนนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ยังไม่จบ จึงต้องใช้เป้าเดิมไปก่อน

สำหรับยอดขายในเดือนเมษายนนั้น ยอดขายเข้าแชนเนลนั้นตกลงไป 50 เปอร์เซ็นต์ แต่จากแชนเนลไปยังเอนด์ยูสเซอร์ ต่ำกว่าปีที่แล้ว 15 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าทางแชนเนลไม่ซื้อของใหม่เข้าไป แต่พยายามขายของที่มีอยู่ออกไป ที่ถือว่าตัวเลขดีกว่าที่คิดมาก

โดยรวมแล้ว ลูกค้าที่เป็นคอนซูเมอร์หายบ้าง ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าหน้าร้านที่หายไปเพราะห้างปิด แต่ยอดขายลูกค้าออนไลน์โตขึ้น 5-6 เปอร์เซ็นต์

ส่วนของคอมเมอร์เชียล ทั้งคอร์ปอเรต และรัฐบาล เดือนเมษายน ขายได้เพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ อย่างงานราชการที่ต้องการทำเอกสารมากขึ้น และตอนนี้ แต่ละบริษัทก็จะการจัดพรินเตอร์ให้อยู่ในแต่ละแผนก ไม่ได้ใช้รวมกัน ขณะที่ลูกค้าทั่วไปก็จะซื้อไปใช้งานที่บ้านมากขึ้น ทำให้สถานการณ์พรินเตอร์ตอนนี้ ยังไม่ได้ย่ำแย่เสียเท่าไหร่

แต่ผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าขายได้ดีอย่างมากในตอนนี้ก็คือ “จักรเย็บผ้า” อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จากบราเดอร์ ที่ตอนนี้ ขายดีอย่างมาก มีเท่าไหร่ก็ขายหมด

โดยนายธีรวุธกล่าวว่า ตอนนี้จักรของบราเดอร์ขายได้ดีอย่างมาก ดีลเลอร์บางรายจากที่ขายได้เดือนละ 4-5 ตัว ตอนนี้สั่งไป 30 ตัว ขายหมดใน 3 วัน ตอนนี้สั่งมาพันตัว ก็ขายได้หมดอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากจะนำไปเย็บหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ก็น่าจะเอาไปทำอย่างอื่นเพื่อทำมาหากินด้วย

และนายธีรวุธเชื่อว่าแม้ว่าจะหมดช่วงโควิดไปแล้ว แต่ความต้องการหน้ากากผ้า ก็น่าจะยังมีอยู่ต่อไป เนื่องจากการใส่หน้ากากจะกลายเป็นนิวนอร์มอล หรือวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่ทุกคนจะต้องหันมาใส่หน้ากากผ้ากันมากขึ้น

ตอนนี้ จักรเย็บผ้าในไทยก็ไม่พอขายแล้ว ต้องไปกว้านซื้อมาจากทุกประเทศเพื่อนบ้าน เรียกได้ว่าเหมามาหมดเพื่อเอามาขาย ซึ่งนายธีรวุธกล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านก็จะงงว่า ทำไมเราถึงขายจักรเย็บผ้าดีขนาดนั้น ตอนนี้ เวียดนามเองก็เริ่มขายดีแล้วเหมือนกัน ก็เอาไปเย็บหน้ากากเช่นกัน

เมื่อถามว่า สถานการณ์โควิดตอนนี้ นายธีรวุธกล่าวว่า บทเรียนที่ได้คือ พวกเราสามารถทำงานจากที่บ้านได้ จากเดิมที่จะต้องทำที่ออฟฟิสเท่านั้น แต่ตอนนี้ เราสามารถบริหารการทำงานได้ โดยการทำงานจากที่บ้าน ไม่ต้องเข้าออฟฟิส

บทเรียนที่สอคือ เรื่องการขายของออนไลน์ เดิมมีแต่การบอกว่า การขายออนไลน์ทำให้เสียราคา แต่ตอนนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าธุรกิจจะไปต่อ ก็ต้องไปออนไลน์ ต้องปรับตัวให้ทัน

โดยเป้าหมายสำคัญสำหรับบราเดอร์ในตอนนี้คือ ต้องทำให้พาร์ตเนอร์ฟื้น ขายของได้ แม้ว่ายอดขายจะหายไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องทำให้ธุรกิจต่างๆ เดินต่อไปได้

ตอนนี้ รอเพียงให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง เพื่อการก้าวต่อไป …แล้วเราจะผ่านมันไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image