เฟซบุ๊ก เดินหน้าหนุนเอสเอ็มอี ฝ่าวิกฤตช่วง โควิด-19

เฟซบุ๊ก เดินหน้าหนุนเอสเอ็มอี ฝ่าวิกฤตช่วง โควิด-19

เฟซบุ๊ก เดินหน้าหนุนเอสเอ็มอี ฝ่าวิกฤตช่วง โควิด-19

ในช่วงที่ธุรกิจต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหาในการทำธุรกิจ ช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ได้ออกมาจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฟซบุ๊กได้จัดการแถลงข่าวผ่านทาง เฟซบุ๊กไลฟ์ เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ธุรกิจจะสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้า รวมไปถึงฝ่าฟันในช่วงวิกฤตนี้ ด้วยเครื่องมือและฟีเจอร์ใหม่ๆ จากเฟซบุ๊ก

ชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการเติบโตธุรกิจ ประจำเฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยว่า โควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งช่วงต้นที่เกิดวิกฤต ทางเฟซบุ๊กก็ได้ออกคู่มือ รวมไปถึงเคล็ดลับสำหรับเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ เพื่อให้นำไปรับใช้ได้ในทันที

จากผลวิจัยของ ยูกอฟ มีตัวเลขที่น่าสนใจว่า เมื่อเริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ทั้งการเข้าห้างสรรพสินค้าน้อยลง การใช้จ่ายหน้าร้านน้อยลง และการยกเลิกไปต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่หันไปทำกิจกรรมออนไลน์กันมากขึ้น ทั้งช้อปออนไลน์ สั่งอาหารออนไลน์ ดูเนื้อหาออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น

Advertisement

ซึ่งเฟซบุ๊กมีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย จากตัวเลขผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกมากถึงกว่า 2,600 ล้านคนต่อเดือน และไอจีอีกมากกว่า 1,000 ล้านคนต่อเดือน และผู้ประกอบธุรกิจบนเฟซบุ๊กมากกว่า 140 ล้านรายทั่วโลก ที่ใช้งานแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อกับลูกค้าของพวกเขาด้วยวิธีใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์

โดยเฟซบุ๊กจะช่วยเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ทำให้ธุรกิจอยู่รอด และอีกส่วนคือ ช่วยในการฟื้นฟูธุรกิจ

โดยในส่วนของการช่วยทำให้ธุรกิจอยู่รอดนั้น เฟซบุ๊กได้ออกศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที ช่วยให้ธุรกิจโปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น

Advertisement

อย่างกิจกรรมการพบปะร้านค้าออนไลน์ #SupportSmallBusiness เน้นให้เห็นถึงวิธีการที่ เฟซบุ๊ก ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการประกาศถึงวิธีการใหม่ๆ ให้ผู้คนได้สนับสนุนและค้นพบธุรกิจขนาดเล็ก พร้อมกับการนำเสนอเครื่องมือเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง และสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าของพวกเขาได้

กิจกรรมดังกล่าวยังรวมถึงการเปิดตัวสติ๊กเกอร์สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก “ร้านดีบอกต่อ” บนอินสตาแกรม โดยเมื่อผู้คนใช้สติ๊กเกอร์สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กบนอินสตาแกรม เนื้อหานั้นจะถูกนำไปรวมอยู่ในอินสตาแกรม สตอรี่ ที่รวมกับผู้สร้างเนื้อหาผู้อื่นที่ใช้สติ๊กเกอร์นั้น เพื่อแสดงให้ผู้ติดตามเห็น สำหรับบนเฟซบุ๊ก ผู้บริโภคยังสามารถใช้แฮชแท็ก #ร้านดีบอกต่อบน เฟซบุ๊ก เพื่อแนะนำธุรกิจหรือร้านค้าและบริการที่พวกเขาชื่นชอบได้ การเปิดตัวดังกล่าวได้มาเสริมฟีเจอร์สั่งซื้ออาหารบน อินสตาแกรม ที่เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยธุรกิจสามารถแชร์สติ๊กเกอร์สั่งซื้ออาหารผ่าน อินสตาแกรม สตอรี่ หรือเพิ่มปุ่มสั่งซื้ออาหารบนหน้าโปรไฟล์ของพวกเขาได้แล้วในวันนี้ ซึ่งจะนำผู้ใช้ไปสู่แพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ที่ธุรกิจนั้นๆ เลือกใช้ (ปัจจุบันให้บริการผ่านฟู้ดแพนด้าและแกร็บ) เพื่อการสั่งซื้ออาหารในขั้นตอนต่อไป

กิจกรรม #SupportSmallBusiness อื่นๆ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และการอัพเดตเครื่องมือสำหรับธุรกิจเพื่อให้ผู้ดูแลเพจสามารถแชร์ข้อมูลที่สำคัญได้อย่างรวดเร็ว คำแนะนำในการปรับปรุงเพจที่ตรงกับความต้องการของแต่ละธุรกิจ และกิจกรรมออนไลน์เพื่อให้ความรู้และช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงการช่วยผู้คนในการเคลื่อนย้ายธุรกิจสู่ช่องทางออนไลน์ เพื่อให้พวกเขาสามารถค้าขายต่อไปได้

ในส่วนของการฟื้นฟูธุรกิจนั้น เฟซบุ๊ก มองการช่วยเหลือไว้ 3 ส่วน ส่วนแรกคือให้เงิน ส่วนที่สองคือการเชื่อมต่อ และส่วนที่สามคือการอบรมให้ความรู้

โดยทางเฟซบุ๊กได้จัดตั้งเงินทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 30,000 รายทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดว่าจะให้อย่างไร

ส่วนของการเชื่อมต่อนั้น ตอนนี้เทรนด์ที่มาแรง คือการไลฟ์ ช้อปปิ้ง กับการใช้กรุ๊ป และเมสเซนเจอร์ ซึ่งไทยเราชอบทำไลฟ์ช้อปปิ้ง หลายธุรกิจหันมาใช้กันมากขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้า มีการสร้างกลุ่มมาร์เก็ตเพลสกันมากขึ้น เป็นการใช้เครื่องมือของเฟซบุ๊ก เพื่อใช้ทำธุรกิจผ่านโซเชียลในยุคที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

และสุดท้าย การเทรนนิ่ง หรือการอบรมให้ความรู้นั้น ทางเฟซบุ๊กเองก็ได้มีการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ได้เรียนรู้เครื่องมือการทำตลาดต่างๆ และในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็จะมีการทำเวอร์ชวล เทรนนิ่งขึ้น เปิดให้ทุกคนที่สนใจได้เข้ามาเรียน

ในการแถลงข่าวออนไลน์ครั้งนี้ ยังได้มีการนำเรื่องราวความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย ที่สามารถฝ่าฟันช่วงวิกฤตโควิด-19 มาได้ ได้แก่ เพนกวินกินชาบู (Penguin Eat Shabu) เชนร้านอาหารชื่อดัง, ออแกนิควา

(ประเทศไทย) จำกัด ร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและผลผลิตท้องถิ่น และแอดมินกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมต่อธุรกิจร้านค้าออนไลน์มากมายในช่วงวิกฤตโควิด-19

นายธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร้านเพนกวินกินชาบู กล่าวว่า ทางร้านได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่เริ่มโควิด-19 และได้รับผลกระทบมาเรื่อยๆ รายได้หายไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ เป็นดิลิเวอรี ให้พนักงานที่ร้านเป็น “ไรเดอร์” ส่งอาหาร และจัดกิจกรรมมิสเทอรี่บ็อกซ์ ให้ลูกค้าพรีออเดอร์เข้ามาทางเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ โดยไม่รู้ว่าอาหารที่ได้ไปคืออะไร ที่เรียกความสนใจจากลูกค้าได้จำนวนมาก และมีการใช้เมสเซนเจอร์ เพย์เมนต์ด้วย

โดยหลังจากที่ได้รับยอดคำสั่งซื้อถึง 350 รายการภายในเวลา 1 นาที และการจัดโปรโมชั่นที่สร้างยอดขายชาบูได้สูงถึง 2,500 หม้อ ร้านเพนกวินกินชาบูจึงเปิดตัว Bot for Messenger เพื่อช่วยตอบข้อความที่มีลูกค้าส่งเข้ามาจำนวนมาก ยอดขายเหล่านี้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กลับมาจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนให้กับพนักงานได้อีกครั้ง ซึ่งโดยปกติ ทางร้านจะใช้เฟซบุ๊กเพื่อการประชาสัมพันธ์ร้าน แต่ตอนนี้ใช้เป็นช่องทางในการทำธุรกิจมากขึ้น

ด้าน วารี แวววันจิตร กรรมผู้จัดการ บริษัท ออแกนิควา (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า สำหรับธุรกิจของบริษัทเป็นออนไลน์ล้วนๆ อยู่แล้ว เป็นการขายสินค้าเกษตรของทางภาคใต้ ผลไม้แห้งเพื่อสุขภาพ ผลไม้แปรรูป คุกกี้เพื่อสุขภาพ พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมอยู่เหมือนกัน เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้าหันมาขายสินค้าออนไลน์ที่เหมือนกันค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณออเดอร์ลดน้อยลง เพราะคนขายมากขึ้น มีการแข่งขันกันในเรื่องราคา จึงต้องมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า เร่งการออกสินค้าใหม่ให้เร็วกว่าที่กำหนด ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีมาก จนตอนนี้ก็มีออเดอร์มากกว่าปกติ 10-20 เปอร์เซ็นต์

โดยออแกนิควา ปกติก็ใช้เฟซบุ๊กกับไอจี เป็นช่องทางหลักในการขายของอยู่แล้วแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีฐานลูกค้าที่มั่นใจในแบรนด์ของเราอยู่แล้ว ช่วงโควิด-19 ที่รู้กันว่ามีลูกค้าเข้ามาในระบบออนไลน์มากขึ้น ก็ฉวยโอกาสช่วงนี้ทำให้คนเหล่านี้ได้รู้จักกับทางร้านมากขึ้น สร้างแคมเปญต่างๆ ให้ลูกค้าใหม่เข้ามารับรู้แบรนด์มากขึ้น โดยใช้เมสเซนเจอร์แจ้งโปรโมชั่นต่างๆ ให้ลูกค้าได้รับทราบ

และสุดท้าย นายปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งและแอดมินกลุ่ม “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” บอกถึงที่มาที่ไปของกลุ่มนี้ว่า มาจากการที่งานประจำไม่มีให้ทำในช่วงนี้ เลยหันไปขายอาหารและขนมที่แม่เป็นคนทำ แล้วเคยไปฝากไว้ที่กลุ่มนิติบุคคลกลุ่มหนึ่ง ปรากฏว่าขายดีมาก จึงคิดว่าอยากจะมีกลุ่มแบบนี้สำหรับขายของ ก็ได้เป็นกลุ่มจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส เพราะเห็นมีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แต่ไม่มีของจุฬาฯ จึงตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา ปรากฏว่า มีผู้คนใจเข้ามาเป็นสมาชิกถึงตอนนี้ก็กว่า 2 แสนคนแล้ว

การที่กลุ่มต่างๆ ประสบความสำเร็จนั้น ปาณพลคิดว่า การตั้งกลุ่มแบบนี้เป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน ที่มีหลากหลายรุ่น มีการแลกเปลี่ยนเรื่องราว พูดคุยกัน รุ่นพี่เจอรุ่นน้อง คือมีจุดร่วมกันอะไรบางอย่าง ทำให้กลุ่มชุมชนเหล่านี้ได้รับความนิยม

และหากว่า หลังหมดโควิด-19 ไปแล้ว ธุรกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป

นายธนพันธ์มองว่า ถ้าจะให้อยู่รอดได้ ต้องทำเหมือนว่า โควิดไม่ได้หายไป แต่อยู่กับเราไปตลอด คือเราพร้อมที่จะเจ๊งอยู่ทุกเมื่อ คิดอะไรได้ ก็ทำไปเลย ทางร้านเองก็เตรียมทำธุรกิจขาใหม่ขึ้นมา เพื่อสร้างรายได้ขึ้นมาใหม่ ถ้ามีวิกฤตเข้ามาอีก ก็จะมีรายได้ใหม่เข้ามา และต้องพร้อมปรับตัวอยู่เรื่อยๆ เราก็จะไม่ตาย

วารีกล่าวว่า จะต้องมีการปรับตัว ดูสถานการณ์ ดูว่าลูกค้าต้องการอะไร เราจะขายอะไรได้ และนายปาณพลบอกว่า ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ทุกคนมาอยู่ร่วมกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หลากหลายระดับธุรกิจ หลังจากนี้ก็อยากต่อยอดพื้นที่ตรงนี้ให้ชุมชนได้แข็งแกร่งต่อไป จากออนไลน์ก็จะไปสู่ออฟไลน์มากขึ้น ถ้าห้างสรรพสินค้าเปิด พื้นที่ตรงนี้ก็จะเป็นพื้นที่แจ้งข่าวสาร โปรโมชั่นต่างๆ ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image