แนวคิด “โกรว์ธ มายด์เซ็ต” สู่ยุค “นิวนอร์มอล” แบบยั่งยืน

ไลน์ (LINE) น่าจะเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ถูกจับตามองในยุคโควิด-19 ตอนนี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ดูเหมือนจะมีอัตราการเติบโตได้ดี เหตุเพราะมาตรการเว้นระยะห่างต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนต้อง “อยู่ห่างกัน” แต่เทคโนโลยีหลายอย่างก็ช่วยเข้ามาเติมเต็มได้ทั้งในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย ได้มาบอกเล่าเรื่องราวของไลน์ ในช่วงวิกฤตโควิดว่า ผลกระทบของโควิด-19 ต่อไลน์เองเป็นอย่างไร และกรณีศึกษาจากแบรนด์และองค์กรชั้นนำในการปรับตัวให้อยู่รอด รวมไปถึงเรื่องของแนวทางพลิกวิกฤตโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย หลังวิกฤตโควิด-19 สู่ยุคนิวนอร์มอลแบบยั่งยืนด้วย “โกรว์ธมายด์เซ็ต” (Growth Mindset)

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร

นายนรสิทธิ์กล่าวว่า ในยุคนิวนอร์มอลนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี หรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์ของไลน์เองนั้น ต่างก็ได้รับผลกระทบกันหมด รวมถึง “ไลน์” เองด้วย

ในแง่ของภาคธุรกิจโดยรวมทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบ อย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ก็ติดลบ ขณะที่ในแง่ของคนทำงานก็ไม่สามารถทำงานได้เหมือนปกติอีกต่อไป เพราะไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ โดยหลายธุรกิจเองก็มีรายได้ที่อ้างอิงจากการที่คนออกไปข้างนอกพบปะกัน

Advertisement

เมื่อไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ก็ทำให้ธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบที่รุนแรง และเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวหรือค้าปลีกที่ปิดบริการกันไปหลายราย

ในส่วนของไลน์เองนั้น ก็กระทบเยอะพอสมควร ได้รับผลกระทบวงกว้าง ทั้งภาคธุรกิจโดยรวม และคนทำงาน โดยพนักงานของไลน์มีอยู่เกือบ 400 คนในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่มีแค่ส่วนของสำนักงานเท่านั้น แต่ยังมีส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย

อย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือเรื่องของรายได้ที่เข้ามาจากโฆษณา ที่นายนรสิทธิ์ระบุว่า โดยรวมของสื่อตกลงอย่างน่าใจหายในทุกสื่อ ยกเว้นในสื่อออนไลน์ที่ดูเพิ่มขึ้น

Advertisement

นายนรสิทธิ์บอกว่า หลายคนอาจมองว่า เมื่อสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น ไลน์ก็น่าจะดีขึ้นด้วย แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะตัวเลขการใช้จ่ายดังกล่าวน่าจะเป็นข้อมูลก่อนช่วงโควิด จากการคุยกับหลายภาคธุรกิจ ทุกคนจะมีความรู้สึกไปในทางเดียวกันคือ “หยุด” เพื่อดูว่าผู้บริโภคมีการชะลอการใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของโฆษณานั้น ไลน์เองก็โดนผลกระทบค่อนข้างเยอะ ขณะที่เพื่อนๆ ที่อยู่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน

เรียกได้ว่า “ไม่มีใครรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้”

อย่างไรก็ตาม คนไทยเองก็พยายามปรับตัวเอาตัวรอด โดยเฉพาะบริษัทของคนไทยกันเอง ซึ่งพบว่ามีการเปิดออฟฟิเชียล แอคเคาต์ และใช้ “มายช็อป” (MyShop) สูงมาก บางรายทำธุรกิจส่งนอกอย่างเดียว ก็หันมาเปิดร้านค้าออนไลน์ ทำให้ขายดีมากขึ้น ขณะที่ลูกค้าเองก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี เพราะเป็นสินค้าระดับเกรดส่งนอก อย่างช่วงนี้ ที่ผู้คนอยู่บ้านกัน ก็จะหันมาปลูกต้นไม้กันมากขึ้น ร้านขายต้นไม้ที่เคยส่งออกนอกอย่างเดียว ก็ขายดีมากขึ้น

เรียกได้ว่า ผู้ประกอบการไทยเอง ก็ไม่ยอมแพ้ แนวคิดเหล่านี้เป็นอะไรที่น่าสนับสนุน เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะมาบอกว่า “ชีวิตนี้แย่แล้ว”

อย่างในส่วนของไลน์เองนั้น พอเห็นเทรนด์การทำงานที่บ้าน ในแง่ของระดับโกลบอล ก็มีการโยกคนที่เป็นนักพัฒนา ไปพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือฟีเจอร์เพื่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น

อย่างในส่วนของการโทรผ่านออนไลน์ ทั้งบนมือถือและพีซี ก็มีหลากหลายโซลูชั่นในตลาด ซึ่งหากไลน์ใช้งานง่ายพอ เสถียรพอ ทุกคนก็จะหันมาใช้ไลน์มากขึ้น

และล่าสุด มีการปล่อยให้ใช้วิดีโอร่วมกัน ก่อนหน้านั้น ปล่อยการแชร์หน้าจอด้วยกัน แชร์สไลด์กันได้

ในแง่ของประเทศไทย คือ คนไทยชอบค้าขาย โซลูชั่นหนึ่งที่พัฒนาในเมืองไทย คือ มายช็อป ที่ปล่อยในไทยที่แรกของโลก และมีการใช้งานมากขึ้นจนน่าตกใจ โดยผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้ ก็ครอบคลุมเกือบทุกเซ็กเมนต์ เพราะมีขายตั้งแต่สินค้าหรู ไปจนถึงสินค้าเกษตร

นายนรสิทธิ์กล่าวว่า ไลน์ได้ทุ่มทรัพยากรเพื่อการปรับตัวค่อนข้างเร็ว ด้วยทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ประมาณ 400 คน เทียบกับสิ่งที่ทำถือว่าค่อนข้างใหญ่

โดยมายด์เซ็ต หรือกระบวนการทางความคิด ของไลน์ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายคนค่อนข้างให้ความสนใจ อยากรู้ว่า ไลน์มีวัฒนธรรมการทำงานอย่างไร ทำไมการออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถึงออกมาค่อนข้างเร็ว และธุรกิจเติบโตค่อนข้างเร็ว

นายนรสิทธิ์กล่าวถึงเรื่อง “โกรว์ธ มายด์เซ็ต” หรือแนวคิดของการพัฒนา การอยากเรียนรู้ หรือการปรับตัว ด้วยความเชื่อที่ว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งไลน์เองมีคนทำงานเป็นคนรุ่นใหม่ค่อนข้างเยอะ ต้องสร้างขอบเขตของการสื่อสาร การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ทุกคนต้องรู้ว่าบริษัทจะทำอะไร มีเป้าหมายอะไร

โดยไลน์ประเทศไทยมีเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ อยากจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งไลน์จะให้แต่ละประเทศดูแลคนของประเทศตัวเอง เพราะสำนักงานใหญ่เองเชื่อว่า คนที่อยู่ในประเทศนั้นๆ จะดูแลคนในประเทศได้ดีกว่าคนประเทศอื่น ซึ่งคนที่ไลน์เองก็รู้ว่ามีหน้าที่อะไร สิ่งที่ทำได้ มีผลกระทบต่อคนไทยในหลายแง่ และยังมีเป้าหมายว่า จะต้องเป็นไลน์ที่โตเร็วที่สุด เมื่อเทียบกับไลน์ประเทศอื่นๆ

ในส่วนของการทำงานนั้น อย่างในช่วงโควิด ที่ทุกคนต้องทำงานที่บ้านแบบ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เชื่อว่าผู้บริหารหลายคนต้องคิดว่าจะวัดผลอย่างไร คนทำงานอยู่ที่บ้านอย่างไร นั่งเล่นหรือเปล่า แล้วจะเช็กชื่อกันอย่างไร ซึ่งการมองอย่างนี้ เท่ากับมองว่าคนไม่ทำงานหรือ

ขี้เกียจ ซึ่งเป็นมายด์เซ็ต ที่ไลน์ไม่ได้มองตรงนั้น แต่ไลน์มองว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานทำงานอยู่บ้านได้สะดวกที่สุด

เช่น ถ้าเก้าอี้ที่บ้านนั่งแล้วไม่สบาย ก็สามารถเอาเก้าอี้ที่ออฟฟิศไปใช้ได้ และต้องมองว่า เวลาพนักงานอยู่บ้านแล้ว เครียดเกินไปหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่ทำงานเลยเวลาโดยไม่รู้ตัว

ก็จะมีการจัดแคมเปญช่วงที่ผ่านมา คือ เปิดให้พนักงานนำเรื่องราวหลังจากงานมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงลูก หรือเลี้ยงหมา แมว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนเครียดน้อยลง มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และรู้ว่า ออฟฟิศไว้ใจให้ทำงาน

“ถ้าเราสามารถดูแลเขาได้ ในสิ่งที่เขาอยากให้เราดูแล งานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

อีกอย่างคือ การเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริง โดยไลน์มีพนักงานค่อนข้างน้อย ไม่ได้มีแผนกครบทุกแผนก ไม่เหมือนกับบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งบริษัทที่ไม่ใหญ่ส่วนใหญ่แล้ว การทำอะไรก็แล้วแต่ ค่อนข้างจะไม่เป็นระบบ ไม่ชัดเจนว่างานนี้เป็นของใคร สุดท้าย งานก็จะไม่เดิน

แต่สำหรับไลน์จะปลูกฝังพนักงานว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทของคุณ ที่ทำให้คนไทยใช้ บริการนี้จะปล่อยให้ลูกค้ารอไปอีก 2 เดือน แล้วไม่ได้ขายของเหรอ

“เราต้องให้กำลังใจและจูงใจ หลายงานที่ไม่ชัดเจน ทุกคนก็จะช่วยกันทำ ซึ่งต่างจากหลายองค์กร ที่น่าจะเคยเจอกันคือ สั่งงานแล้วไม่ค่อยเดิน เพราะไม่รู้ว่า งานนี้เป็นของใคร”

ซึ่งในส่วนของผลประกอบการของไลน์ปีนี้ แม้ช่วงโควิดก็ไม่ได้แย่ เพราะสิ่งที่ไลน์ได้นำเสนอ ทั้งโกรว์ธ มายด์เซ็ต ค่อนข้างดี ได้ผลิตผลที่ออกมาเร็ว มีการออกโปรดักต์ออกมาหลายโปรดักต์ ที่ช่วยผู้ประกอบการ

โดยเฉพาะในส่วนของ “มายช็อป” ที่เมื่อทุกคนเริ่มหันมาขายของผ่านทางไลน์กันมากขึ้น ทั้งที่เมื่อก่อน บางช่องทางก็จะไม่ขายผ่านไลน์ อย่างเช่นพวกห้าง ที่เคยคุย แล้วก็จะบอกว่า ไม่ขายผ่านไลน์ เพราะไม่มีคน แต่พอต้องปิดห้างในช่วงโควิด คนก็ว่าง ก็จะเริ่มมีการหันมาขายของผ่านช่องทางไลน์ ที่ถือว่าเป็นช่องทางนิวนอร์มอล เพื่อขายของสู่โลกออนไลน์ ที่มีตั้งแต่สินค้าเกษตร จนถึงสินค้าหรู

ในส่วนของการขายของผ่านไลน์ มีข้อดีอย่างไรนั้น นายนรสิทธิ์กล่าวว่า ไลน์เคยทำการสำรวจพบว่า ในแง่ของการไว้ใจ หรือความปลอดภัย ในการซื้อของทุกคนรู้สึกว่า การซื้อของเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องมีใครรู้ บางคนมองว่าโซเชียลมีเดียไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ เพราะข้อมูลในการซื้อของจะหลุดออกไปข้างนอกบางหรือเปล่า แต่การซื้อผ่านแอพพ์ ผ่านไลน์ ดูน่าจะปลอดภัยกว่า

พอปลอดภัยมาก ยิ่งไว้ใจมาก สนิทมาก ก็ซื้อมาก ถ้าพ่อค้าแม่ค้าบนไลน์สนิทกับลูกค้า ก็จะมีการซื้อของกันมากขึ้น ยิ่งสังคมไทยเองมีความเกรงใจค่อนข้างสูง เรียกพี่เรียกน้อง ลุง ป้า ก็รักกันแล้ว ซื้อของกันไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่า “จริงใจ”

นายนรสิทธิ์ยังเล่าถึง ไฟน์ฟู้ด (Find Food) แพลตฟอร์มกลางที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรไทย เพื่อเป็นช่องทางธุรกิจสู่การเกษตรดิจิทัลแบบเต็มตัวว่า ได้รับการตอบรับอย่างดี หลังจากช่วงโควิดไม่มีเครื่องบินบิน ทำให้ไม่สามารถส่งออกผลไม้ได้ ไฟน์ฟู้ดจึงเป็นช่องทางที่มาช่วยเกษตรกรในการขายผลไม้ ซึ่งผลไม้ที่ได้ก็จะเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพส่งออก แม้จะราคาสูงหน่อย ก็มีคุณภาพ

จากผลงานที่ไปได้สวยของไลน์ ในช่วงโควิด อันเกิดจาก “โกรว์ธ มายด์เซ็ต” การทำงานอย่างมีจุดมุ่งหมายที่น่าท้าทาย และสนุกในแง่ของการทำ เมื่อท้าทายมากๆ จะไปคิดแบบเดิมไม่ได้ ความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยไม่ได้มองว่ามาจากใคร

เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า แนวความคิดที่ดี ย่อมนำทางไปสู่การทำงานที่ดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image