คอลัมน์ เมาธ์มอยเทคโนโลยี กับคุณหนุ่ยศรี : เหยื่อ ‘แฮก’ ทวิตเตอร์ เมื่อความโลภครอบงำ

(FILES) (Photo by Alastair Pike / AFP)

สัปดาห์นี้ มีเรื่อง “ระดับโลก” มาเมาธ์กัน เป็นเรื่องที่ “ทวิตเตอร์” ไมโครบล็อกยอดนิยม ถูก “แฮก” จ้า!

ตอนแรก เราก็จะงงว่า เค้าจะแฮกเอาบัญชีทวิตเตอร์ไปทำอะไรกัน

ที่สุดแล้ว ก็ได้ความว่า คนที่แฮกเข้าไปในบัญชีทวิตเตอร์ใดๆ แล้วก็หลอกว่า ให้โอนให้เป็นเงินดิจิทัลไปให้ โอนให้เท่าไหร่ ได้กลับไป 2 เท่า แต่ต้องโอนภายใน 30 นาทีนี้เท่านั้นนะ

ถ้าเป็นบัญชีของตาสีตาสาทั่วๆ ไป ก็คงไม่ค่อยมีใครโอนให้ อย่างถ้าเป็นเรา เห็นทวีตแบบนี้ของเพื่อน เราก็คงคิดว่า “แกล้อเล่นใช่ไหม?”

Advertisement

แต่นี่คนที่ถูกแฮก ก็มีคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งนั้น อย่างเช่น อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท เทสลา, เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของแอมะซอน, โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต, บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ, บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์

หรือแม้แต่บัญชีขององค์กรใหญ่ๆ อย่างเช่น แอปเปิล หรืออูเบอร์ ก็ถูกแฮกด้วย

พอคนร้ายสามารถเข้าถึงหน้าทวิตเตอร์ของคนเหล่านี้ได้แล้ว ก็ทวีตข้อความออกไปเลยจ้า

Advertisement

ปรากฏว่าเมื่อเป็นบัญชีของบรรดามหาเศรษฐี หรือองค์กรใหญ่ๆ ถ้าเขียนข้อความดีๆ หน่อย ออกแนวเชิญชวน แบบอยากแจกเงิน ก็มีคนโอนเข้าไปให้จริงๆ ด้วย

เบ็ดเสร็จแล้ว มีรายงานว่า มีคนโอนเข้าไป คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณกว่า 3.67 ล้านบาท

ก็เรียกว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

จริงๆ เหตุการณ์ลักษณะนี้ บ้านเราเอง ก็เคยเจอกันมากมาย อย่างกรณีที่เฟซบุ๊กถูกแฮก แล้วเอาบัญชีของเรา ส่งข้อความไปยืมเงินคนอื่น ให้โอนเงินมาให้

ก็มีคนหลงเชื่อ โอนเงินให้คนพวกนี้มาเยอะแล้วเหมือนกัน แม้ว่าจะมีข่าวคราวออกมาตลอดเวลา

คำเตือน! คือ ถ้ามีการส่งข้อความประเภทให้โอนเงินให้เมื่อไหร่ ขอให้ยกหูโทรศัพท์ไปหาเจ้าตัวก่อนเลยดีกว่าว่า “จะยืมเงินจริงๆ เหรอ?” เพื่อคอนเฟิร์มว่า เราจะไม่โอนเงินไปให้ใครก็ไม่รู้

อันนี้จริงๆ ก็มีการเตือนกันมาหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า อย่าหลงเชื่อคำขอยืมเงินบนโลกโซเชียลเด็ดขาด ถ้ามันขาดเงินจริงๆ ก็คงต้องโทรมาหาเราแหละ

แต่ในกรณีของทวิตเตอร์นี่ ก็ดูรุนแรงเหลือเกิน หลอกกันถึงขั้นให้โอนเงินเป็นสกุลดิจิทัล เพื่อยากต่อการติดตาม และไม่ต้องห่วงเลย เพราะคงไม่ได้คืนอย่างแน่นอน

ส่วนบัญชีทวิตเตอร์ที่ถูกแฮกไปนั้น เห็นว่าทางทวิตเตอร์ก็ซ่อมแซม ปรับปรุงจนสามารถกลับมาใช้กันได้ตามปกติแล้ว

เรียกได้ว่าเป็นกลวิธีที่แสนแยบยล จนน่ากลัวว่าถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้นอีกในอนาคต เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังถูกหลอก

เอาง่ายๆ เรื่องข้อความขอให้โอนเงินผ่านโซเชียล ไม่ว่าจะกรณีไหน อย่าเพิ่งไปไว้ใจ ให้ตั้งคำถามเอาไว้ก่อน อย่าเห็นว่าเป็นชื่อ อีลอน มัสก์ หรือ บิล เกตส์ แล้วจะดูน่าเชื่อถือ

กรณีทวิตเตอร์ ต้องเรียกว่ามีความโลภเข้ามาเกี่ยวด้วย เพราะคิดว่าโอนให้ไปแล้วจะได้กลับมา 2 เท่า

ถ้าเขาอยากทำแบบนั้น ก็โอนให้มาเลยก็แล้วกัน ทำไมจะต้องให้เราโอนให้ก่อน

จริงไหม!?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image