ไมโครซอฟท์กับการ “อัพสกิล-รีสกิล” เพื่อการอยู่รอดยุคโควิด

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

ไมโครซอฟท์กับการ “อัพสกิล-รีสกิล” เพื่อการอยู่รอดยุคโควิด

จากเมื่อปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ ได้เน้นแนวคิดเรื่อง Tech Intensity หรือการขับเคลื่อนศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กร มาในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโลกและพฤติกรรมมนุษย์ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จนเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ไมโครซอฟท์จึงได้ยกแนวความคิด Resiliency หรือ ความสามารถในการปรับตัวและยืนหยัดรับมือคลื่นความเปลี่ยนแปลง ให้เป็นกรอบแนวคิดสำคัญ

โดยนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงธุรกิจในช่วงยุคโควิด-19 ว่า จากการสำรวจของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) พบว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างตัวเลขของผู้ตนงานที่เพิ่มมากขึ้นเป็น 7.1 เปอร์เซ็นต์ จากปกติ ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

โดยเหตุผลที่ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากธุรกิจบริการ และท่องเที่ยว

สำหรับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบนั้น ได้แก่ กลุ่มคนวัยทำงานเริ่มต้น ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบจากการตกงาน

Advertisement

แต่ขณะเดียวกันนั้น ก็มีโอกาสในเรื่องงานเกิดขึ้น อย่างตัวเลขของงานที่เกี่ยวกับดิจิทัล ในประเทศไทย ที่น่าจะมีถึง 3 ล้านตำแหน่ง ทั้งด้านซอฟต์แวร์ นักพัฒนา และคลาวด์ เนื่องจากทุกองค์กรเองมีความต้องการด้านดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลที่มากขึ้น ทั้งนักพัฒนา เพื่อเอาเทคโนโลยีไปสนับสนุนธุรกิจของตัวเองในยุคโควิด

นายธนวัฒน์กล่าวว่า ในแต่ละประเทศ ไมโครซอฟท์ก็มีโครงการที่จะเข้าไปร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และโฟกัสลงไปในแต่ละเซ็กเมนต์ แต่ประเด็นสำคัญคือเรื่องของการ “อัพสกิล” หรือกระบวนการในการพัฒนาทักษะ และ “รีสกิล” หรือกระบวนการเรียนรู้ทักษะใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องมี

โดยทางไมโครซอฟท์เอง มีโครงการต่างๆ อยู่แล้ว อย่างเรื่องการสอบประกาศนียบัตรต่างๆ ทางไมโครซอฟท์ก็จะเข้าไปสนับสนุน มีการเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอนเสร็จแล้ว เรียนเสร็จแล้ว ก็จะได้ใบรับรอง ก็เป็นการสร้างมาตรฐานขึ้นมา พอมีใบประกาศนียบัตร ก็จะบอกได้ผ่าน ผ่านอะไรมา คนที่เรียนเพื่อ รีสกิล และอัพสกิล ก็สามารถไปต่อยอดได้

Advertisement

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ได้ประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ระดับโลกเพื่อเสริมสร้างทักษะแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลเพิ่มเติมให้กับผู้คนจำนวนกว่า 25 ล้านทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้

สำหรับในประเทศไทย ไมโครซอฟท์พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีและหลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Learn, LinkedIn Learning การสอบประกาศนียบัตร Microsoft Office Specialist และอื่นๆ มาปรับใช้ภายใต้ความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรในภาคเอกชน

นอกจากนี้ ยังสามารถรีสกิล และอัพสกิล ทุกคน ด้วย เพาเวอร์ แอพพลิเคชั่น ที่เป็น โลว์โค้ด โนโค้ด ถ้าเรียนสักหลายชั่วโมงเสร็จ จะสามารถพัฒนาโมบายล์แอพพ์ได้ง่ายๆ

ถือเป็นโอกาสให้ผู้ใช้งาน ในการเอาเครื่องมือเหล่านี้ ไปประกอบใช้ ไปรีสกิล ซึ่ง เพาเวอร์ แอพพ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมา โดยเพาเวอร์ แอพพ์ เป็นแค่ส่วนเดียวของเพาเวอร์แพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์

ไมโครซอฟท์ มีโปรดักติวิตี้คลาวด์ ที่เป็น ออฟฟิส 365 มีอาชัวร์ เป็นคลาวด์หลัก มีบิสเนส แอพพลิเคชั่นคลาวด์ และ เพาเวอร์ แพลตฟอร์ม และในเพาเวอร์ แพลตฟอร์ม มีเพาเวอร์ แอพพ์, เพาเวอร์ ออโตเมต และเพาเวอร์ บีไอ หรือการออโตเมต ด้วยการเอาพวกโรโบติกมาช่วย อยู่ใน ออฟฟิส 365

สิ่งเหล่านี้ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มทักษะการทำงานได้

“วันนี้ เวลาเราพูดถึง อัพสกิล รีสกิล เราไม่ได้พูดถึงเฉพาะคนไอที เราพูดถึงทุกคน เป็นโอกาสให้ตอนนี้ หลายๆคนที่กำลังจะตกงาน หรือถูกดิสท์รับ ด้วยโควิด สามารถรีสกิล อัพสกิล แล้วกลับมามีโอกาสอีกครั้งหนึ่ง” นายธนวัฒน์ กล่าว

ในส่วนเรื่องของ Resiliency หรือ ความสามารถในการปรับตัวและยืนหยัดรับมือคลื่นความเปลี่ยนแปลง ให้เป็นกรอบแนวคิดสำคัญ นายธนวัฒน์กล่าวว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา ถือเป็นการทดสอบที่ดีสำหรับทุกองค์กร ว่า จะอยู่รอดได้อย่างไร หลายองค์กร มีการตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้น หลายองค์กรอยู่ในช่วงฟื้นฟู หลายองค์กรอยู่ในช่วง Re-imagine หรือ ปรับทิศทางของธุรกิจ รูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้แตกต่าง พร้อมรับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป

นี่คือสิ่งที่ทุกองค์กรจะต้องมีศักยภาพ หรือความสามารถที่จะต้องตอบสนอง หรือปรับเปลี่ยน เป็น resiliency (ความยืดหยุ่น) ที่จะทำให้อยู่รอดได้

นายธนวัฒน์กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ เล็งเห็น เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด คือ เรื่องของ New way of work and life,Virtual century,Hyper automation,Accelerating digital และ Business model revamp

โดยเรื่องของ New way of work ช่วงหลังโควิด 3 เดือน จำนวนผู้ใช้ ไมโครซอฟท์ ทีม โตเกือบ 10 เท่า หรือ 936 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีการนำไปใช้งานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเอาเทคโนโลยีไปใช้ เพื่อสร้างไฮบริด เวิร์กเพลส ในช่วงล็อกดาวน์

ไมโครซอฟท์เองนั้น ได้ให้คนใช้ออฟฟิส 365 ฟรี 6 เดือน เพื่อให้ทุกคนได้มีเครื่องมือเพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคนที่ลงทะเบียน มากกว่า 2,000 องค์กร ที่ลงทะเบียนเข้าไป

แต่ในวันนี้ ถูกถามว่า หลังจากที่ได้ใช้กันแล้ว ก็เริ่มเห็นประโยชน์แล้ว ว่าเพิ่มประสิทธิผลอย่างไร จึงมีคำถามว่า แล้วถ้าจบโควิดแล้ว เค้าจะทำอย่างไรต่อ เพราะว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ออฟฟิศ ที่เคยมี พอเราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม มันอาจจะบรรจุคนได้ไม่เท่าเดิม เพราะต้องมีการเว้นระยะห่างกันมากขึ้น ทำให้จุคนได้น้อยลง

และพวกเราก็ต้องห้ามการ์ดตกเป็นอันขาด เพราะมีหลายประเทศที่กลับมามีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

นายธนวัฒน์ ยังได้ขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ที่ร่วมกับไมโครซอฟท์ และช่วยให้เราผ่านโควิดมาด้วยกัน สิ่งที่ทำด้วยกันคือ การแถลงข่าวในแต่ละวัน จะใช้ข้อมูลต่างๆ จากทีมไมโครซอฟท์ ร่วมกับ ศบค. และ สาธารณสุข เพราะมีมากกว่า 1,000 โรงพยาบาล และมีข้ามหน่วยงานด้วยเก็บข้อมูลจาก ศูนย์กักตัว และ จากกระทรวงมหาดไทย เพราะทุกคนที่บินเข้ามาจะไปอยู่ที่ศูนย์กักตัว หรือแม้แต่จากสนามบิน จากทุกๆที่ เราต้องรวบรวมข้อมูลพวกนี้ เพื่อที่จะตอบโจทย์ ที่เราต้องการรู้ข้อมูล แม้กระทั่งว่า ข้อมูลของหน้ากากที่มีตอนนี้ มีเหลือพอหรือไม่ เราต้องการรู้ว่า เตียงที่ว่างนั้น ว่างอยู่ที่ไหน ถ้าพบผู้ป่วยจะได้ส่งไปได้

เป็นการเอาข้อมูลมาบูรณาการ เกิดเป็น “New way of work” หรือการทำงานในแบบใหม่ขึ้นมา

สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ ทำอย่างไร ที่จะมีการบูรณาการข้อมูล ไปใช้กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นอยู่แล้วว่า การเอาข้อมูลมาใช้มันมีผลอยู่มาก

การทำครั้งนี้ ไม่ได้มีซุปเปอร์ฮีโร่ แต่ทุกคนตัดสินใจจาก “ดาต้า” หรือข้อมูลที่มีอยู่

สำหรับ Virtual century หรือ โลกเสมือนจริงนั้น นายธนวัฒน์ ฃกล่าวว่า เมื่อทุกคนถูกล็อกดาวน์ ทุกคนเข้าสู่ออนไลน์ จะสั่งซื้อของ ซื้ออาหาร ช้อปปิ้ง เรียนหนังสือ ดูหนัง ทำงาน นี่คือเทรนด์ ที่ทุกอย่าง รีโมต ทุกอย่าง

แต่การเอาทุกอย่างขึ้นรีโมต สิ่งที่เราต้องคำนึงถึง คือเรื่องของประสบการณ์ของลูกค้า เวลาเราอยุ่บนโลกจริงๆ ถ้าเราอึดอัดกับใคร เราก็ต้องทน แต่โลกดิจิทัล ทุกคนถ้าเปิดยูทูบ เราก็ทนไม่ได้กับโฆษณา นี่คือประสบการณ์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน

ทำให้เราต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา เพราะฉะนั้น ประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าเป็นเรื่องที่สำคัญ

ในส่วนของ Hyper automation นายธนวัฒน์กล่าวว่า ได้มีการทำพาร์ทเนอร์ กับกลุ่มโรงพยาบาล ตอนมีโควิด ทุกคนไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะมีโอกาสติดโควิด ทำอย่างไร เราจึงได้คุยกับโรงพยาบาลนั้น ทำแชตบอตขึ้นมา ทำเรื่องการประเมินโรคโควิด-19 ขึ้นมา สอนแชตบอต ตั้งคำถามขึ้นมา แล้วให้คนเข้าไปตอบคำถามเหล่านั้น พอตอบเสร็จ เราใช้เอไอ ในการประมินผลว่า คนที่เข้ามาตอบ หลังอินพุต ที่ให้มา มีความเสี่ยงที่จะเป็นโควิด สูง กลาง หรือต่ำ ถ้าเป็นสูง ก็จะมีคำแนะนำ ให้ไปโรงพยาบาลเลย

ถ้าเป็นกลางกับ ต่ำ จะทำให้มีช่องทางในการไปหาหมอ ผ่านทาง ไมโครซอฟท์ บุกกิ้ง ในออฟฟิศ 365 เพื่อนัดหมายเวลา แล้วใช้ ไมโครซอฟท์ ทีม ทำเวอร์ช่วล มีตติ้ง ระหว่างหมอ กับคนไข้ โดยโรงพยาบาลคิดเงินประมาณ 700 บาทต่อเคส ถ้ามีอะไร ก็สามารถส่งยาไปให้คนไข้ได้เลย หรือถ้าคุยแล้ว มีโอกาสที่จะเป็น ก็จะกลับมาที่โรงพยาบาล

สิ่งเหล่านี้ เราพัฒนาขึ้นมาในสถานการณ์ที่วิกฤตมากๆ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น เป็นการรีสกิล บิสเนส

ฃส่วนของ Accelerating Digital คือเมื่อการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลต้องเร่งความเร็ว เพื่อรองรับการปรับตัวขององค์กรให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และ Business Model Revamp การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจทั้งระบบ เพื่อตอบโจทย์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ทางสังคม

โดยทั้ง 5 เทรนด์นี้ ต้องมีรากฐานอยู่บน Trust หรือความไว้วางใจในเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในทุกขั้นตอน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทางไมโครซอฟท์ยึดถือมาโดยตลอด

ในปีนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้จัดตั้งทีมงาน Customer Success Unit (CSU) เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความพอใจสูงสุดในการใช้งานเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในฐานะพันธมิตรที่ก้าวสู่ความสำเร็จไปพร้อมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image