ฝรั่งเศสสวมบทบาทผู้นำในการต่อสู้ป้องกัน โรคระบาดใหญ่แบบเดียวกับโรคโควิด-19 ในอนาคต

ฝรั่งเศสสวมบทบาทผู้นำในการต่อสู้ป้องกัน โรคระบาดใหญ่แบบเดียวกับโรคโควิด-19 ในอนาคต

เวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลเพื่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยนักวิจัยจากทั่วโลก ได้เตือนว่า หากไม่มีการทำอะไรเลย โรคระบาดใหญ่ในอนาคตจะเกิดบ่อยขึ้น จะแพร่กระจายเร็วขึ้น จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และจะคร่าชีวิตผู้คนมากขึ้นกว่าโรคโควิด-19

ในช่วง 50 ปีมานี้ การเกิดขึ้นของวิกฤตอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ร้อยละ 75 ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในคนที่มีสัตว์เป็นแหล่งรังโรคมีสาเหตุมาจากความกดดันที่ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับ วิกฤตอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเชื้อที่พบในค้างคาวชนิดหนึ่ง ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตผู้คน ระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม การป้องกันโรคระบาดใหญ่ในลักษณะนี้จึงเป็นความท้าทายสำคัญ

ปัจจุบัน การศึกษาด้านสาธารณสุขจะต้องทำแบบองค์รวมมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยบูรณาการเรื่องสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า หลักสุขภาพหนึ่งเดียว (ONE HEALTH) ซึ่งเป็นแนวทางเดียวที่จะช่วยให้เราเตรียมการรับมือและต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว ในระหว่างการประชุม One Planet Summit เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ณ กรุงปารีส จึงได้มีการเปิดตัวโครงการ PREZODE (Prevent emerging zoonotic risks and pandemics) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มระหว่างประเทศ (international initiative) โครงการแรก ที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่จากสัตว์สู่คนและโรคระบาดใหญ่

Advertisement

โครงการ PREZODE เป็นความริเริ่มของประเทศฝรั่งเศสร่วมกับประเทศเยอรมนี ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยฝรั่งเศส 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันวิจัยแห่งชาติเพื่อการเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม (INRAE) ศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนา (CIRAD) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (IRD) ซึ่งร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆ อีก 10 กว่าแห่ง มีนักวิจัยเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 1,000 คน จาก 50 ประเทศใน 5 ทวีปรวมถึงประเทศไทย โครงการดังกล่าวจะบูรณาการโครงการวิจัยและการดำเนินการเชิงปฏิบัติการในระดับระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน

หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลของโครงการนี้ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หรือมีความประสงค์จะติดต่อนักวิจัยในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โปรดติดต่อฝ่ายข่าวและการสื่อสาร สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ที่อีเมล์นี้ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image