เนบิวลา ไอซี418 อัญมณีในอวกาศ

(ภาพ-NASA and The Hubble Heritage Team)

ภาพสีสันสวยงามดุจอัญมณีในห้วงอวกาศนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถ่ายเอาไว้และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา นำมาเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นภาพของ ไอซี 418 ดาวฤกษ์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาการขั้นตอนสุดท้าย กลายเป็น “เนบิวลาดาวเคราะห์” ที่เป็นขั้นตอนให้เกิดสีสดสวยดังในภาพ ก่อนที่จะลงเอยในบั้นปลายเป็นดาวแคระขาวในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า

“ไอซี 418” เคยเป็นดาวยักษ์แดง ดาวฤกษ์ซึ่งคล้ายกับดวงอาทิตย์ของระบบสุริยะ ก่อนที่เชื้อเพลิงไฮโดรเจนบนดาวหมดลง แกนกลางของดาวจะยุบตัว มวลของดาวในส่วนที่เป็นก๊าซและฝุ่นผงชั้นนอกจะถูกดีดออกกระจายไปในอวกาศ เมื่อหลายพันปีก่อนและต่อไปก็จะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับการก่อตัวของดาวเคราะห์และระบบดาวอื่นๆ ในอนาคต

“ไอซี 418” อยู่ห่างจากโลกไปราว 2,000 ปีแสง บนเส้นทางระหว่างโลกกับกลุ่มดาว เลปัส นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า นับตั้งแต่เกิดการยุบตัวแล้วระเบิดนั้น เนบิวลานี้ขยายตัวออกมามีความกว้างมากถึง 0.1 ปีแสง บริเวณแกนกลางที่ยุบตัวลงและมีความร้อนสูงสุดคือจุดสีขาวตรงกลาง การแผ่รังสีอัลตราไวโอเลต ทำให้เกิดประกายสีม่วงกระจายออกมาเป็นวง ส่วนวงกว้างสีน้ำเงินแกมม่วงนั้นคือส่วนที่ออกซิเจนซึ่งถูกทำให้อยู่ในสภาพของไอออนกำลังกระจายตัวออกมา ต่อด้วยสีเหลืองแกมเขียวที่เป็นสีของก๊าซไฮโดรเจน

ส่วนชั้นนอกสุดที่เป็นสีแดง คือก๊าซไนโตรเจนซึ่งมีอุณหภูมิต่ำที่สุดในบรรดาก๊าซเหล่านี้นั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image