นักวิจัยเตือน “โยคะ” เป็นอันตรายได้

(ภาพ-Pixabay)

รายงานผลการวิจัยตามแบบแผนครั้งแรกเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้โยคะเพื่อการบำบัด โดย อีแวนเจลอส แปบปาส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ

“บอดีเวิร์ก แอนด์ มูฟเมนต์ เทอราปีส์” เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า การบริหารร่างกายตามแบบอินเดียโบราณที่เรียกกันว่าโยคะ ซึ่งบางคนนิยมใช้เพื่อการบำบัดเสริม หรือเพื่อการบำบัดทางเลือกสำหรับผู้ป่วยด้วยโรค “มัสคูโลสเกเลทัล ดิสออร์เดอร์” หรือความผิดปกติของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่ออาจก่อให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อหรือเจ็บกระดูกได้ นอกจากนั้นยังอาจทำให้อาการปวดที่เคยเป็นอยู่ก่อนแล้วหนักมากขึ้นได้อีกด้วย

แปบปาสผู้ทำวิจัยเปิดเผยว่า ทีมวิจัยของตนพบว่าการทำโยคะก่อให้เกิดอาการปวดขึ้นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาอื่นๆ รวมกันทั้งหมดในหมู่ประชากรที่ออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า 21 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ทำโยคะซึ่งมีอาการปวดอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งมีอาการปวดมากขึ้นจากการทำโยคะดังกล่าว โดยเฉพาะอาการปวดที่มีอยู่แล้วบริเวณส่วนบนหรือแขนของร่างกาย โดยทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าสัดส่วนของอาการปวดหรือเจ็บดังกล่าวนั้นสูงกว่าที่เคยมีการจัดทำรายงานไว้ก่อนหน้านี้ถึง 10 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยพบด้วยว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำโยคะที่เข้าร่วมในการวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า อาการปวดที่เคยมีอยู่ก่อนหน้าทุเลาขึ้นจากการทำโยคะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมโยงระหว่างการทำโยคะกับโรคมัสคูโลสเกเลตัน ดิสออร์เดอร์นั้น ซับซ้อนไม่น้อย

Advertisement

ข้อแนะนำของทีมวิจัยก็คือ ผู้ทำโยคะควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหรือทำให้ปวดหนักขึ้นได้ด้วยการทำโยคะอย่างระมัดระวังและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย รวมทั้งต้องบ่งบอกอาการปวดที่มีอยู่ก่อนหน้าต่อผู้สอนโยคะ

โดยทางที่ดีก็ควรแจ้งต่อแพทย์ประจำตัวให้ได้รับรู้ด้วยว่า กำลังออกกำลังกายหรือใช้โยคะเพื่อการบำบัดอยู่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image