ต้นไม้ยุคแรกของโลก โครงสร้างซับซ้อน

ซากฟอสซิลต้นไม้ 374 ล้านปี จากจีน (ภาพ-Chris Berry)

คริส เบอร์รี นักบรรพพฤกษศาสตร์ พร้อมกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในแคว้นเวลส์ ประเทศอังกฤษ เผยแพร่ผลการศึกษาซากฟอสซิลลำต้นของต้นไม้ยุคแรกเริ่มของโลก อายุ 374 ล้านปี ซึ่งค้นพบในประเทศจีน ระบุว่า โครงสร้างของต้นไม้เก่าแก่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยึดครองพื้นที่ทั่วโลกนั้น ซับซ้อนกว่าโครงสร้างของต้นไม้ในยุคปัจจุบันมาก ที่สำคัญคือไม่มี “วงปี” เหมือนเช่นที่ไม้ยืนต้นทุกชนิดในเวลานี้มี

ศาสตราจารย์เบอร์รี ระบุว่า การศึกษาต้นไม้หลายร้อยล้านปีที่เรียกว่า “แคลด็อกไซลอปซิด” อย่างละเอียดครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงวิธีการเติบโตที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน อาจเรียกว่าเป็นวิธีใหม่ของการเป็นต้นไม้เลยก็ว่าได้ เพราะแทนที่จะมี “วงปี” แบบที่คุ้นเคยกัน ส่วนกลางของลำต้นต้นไม้ล้านปีนี้กลับกลวง ล้อมรอบโดยเกลียวของไซเล็ม หรือท่อลำเลียงน้ำและอาหารขึ้นไปเลี้ยงลำต้นและใบของพืชที่พันกันแน่นหนาราว 2 นิ้ว

เส้นเกลียวของไซเล็มดังกล่าวยังไม่เหมือนกับท่อไซเล็มของพืชในปัจจุบันที่เป็นท่อเดี่ยวขึ้นไปยังลำต้น กิ่งก้านและใบ แต่กลับเชื่อมต่อซึ่งกันและกันอย่างแน่นหนาคล้ายโครงข่ายของท่อน้ำที่เชื่อมต่อซึ่งกันและกันอีกด้วย ตัวเส้นไซเล็มของต้นไม้โบราณนี่เองที่มีวงลักษณะคล้ายวงปีในต้นไม้ยุคใหม่ปรากฏอยู่


แสดงลักษณะต้น แคลด็อกไซลอปซิด (ภาพ-WIKIPEDIA

ที่น่าแปลกเช่นเดียวกันก็คือ การเติบโตของ “แคลด็อกไซลอปซิด” ยังผิดไปจากการเจริญเติบโตของพืชหรือต้นไม้ทุกวันนี้ที่ขยายออกโดยตรงทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ แต่เมื่อ “แคลด็อกไซลอปซิด” เติบโตนั้น เส้นไซเล็มรอบลำต้นจะขยายออก ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแต่ละเส้นซึ่งเดิมเชื่อมติดกันอยู่ด้วยเนื้อเยื่อไม้นุ่ม ทำให้ต้นไม้ยุคแรกนี้มีสภาพเหมือนโครงที่ถูกขยายขนาดเส้นรอบวงออกไป แต่ไม่นานช่องว่างดังกล่าวก็จะถูกเติมเต็มด้วยเนื้อเยื่อไม้นุ่มอีกครั้ง เป็นกระบวนการเติบโตพร้อมๆ กับที่เส้นไซเล็มซึ่งจะพัฒนาไปในแนวดิ่ง เพิ่มความหนามากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกัน

Advertisement

“แคลด็อกไซลอปซิด” สามารถเติบโตได้จนสูงถึง 9.1 เมตร โดยมีขนาดของลำต้นมากกว่า 30 เซนติเมตร ใบของมันก็ไม่ได้แบนใหญ่เหมือนเช่นใบไม้ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน แต่เป็นเหมือนกิ่งที่ยื่นๆ ออกไปจากลำต้นเสียมากกว่า

ศาสตราจารย์เบอร์รียอมรับว่า ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมต้นไม้ยุคบรรพกาลจึงมีความซับซ้อนมากกว่าในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ตามความเข้าใจเดิมควรจะกลับด้านกันเป็นต้นไม้ปฐมภูมิที่ง่ายๆ ก่อนที่จะพัฒนาความซับซ้อนขึ้นมา นอกจากนั้นยังมุ่งมั่นที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบรากและการลำเลียงสารอาหารจากดินของ “แคลด็อกไซลอปซิด”

รวมทั้งกระบวนการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ล้านปีที่เคยปกคลุมทั้งโลกเมื่อราว 360 ล้านปี จนถึง 420 ล้านปีมาแล้วชนิดนี้ด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image