“โจเวียน เทมเปสต์” พายุยักษ์บนดาวพฤหัสบดี

(ภาพ-NASA)

“จูโน” ยานสำรวจอาณาบริเวณขั้วเหนือของดาวพฤหัสบดี (จูปีเตอร์) ถ่ายภาพนี้ไว้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา นำข้อมูลที่ได้มาสร้างภาพและปรับเพิ่มสีให้ชัดเจนขึ้นก่อนเผยแพร่ออกมาเมื่อ 14 พฤศจิกายนนี้ แสดงให้เห็นลักษณะการหมุนวนของเมฆในหลายระดับ หลายสีสันขณะเกิดพายุขนาด ขึ้นบนซีกโลกด้านเหนือของดาวเคราะห์ดวงนี้ ระหว่างการบินโฉบผ่านเป็นครั้งที่ 9 ของจูโน โดยขณะที่ถ่ายภาพ ตัวยานอยู่ห่างจากผิวบนสุดของกลุ่มเมฆราว 10,108 กิโลเมตร ที่ละติจูดหรือเส้นรุ้ง 41.84 ดีกรี

พายุหมุนขนาดใหญ่บนดาวพฤหัสบดี หรือ “โจเวียน เทมเปสต์” เป็นพายุหมุนทวนเข็มนาฬิกา เห็นได้ชัดจากกระแสของเมฆที่มีความสูงหลายระดับในภาพนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์ของนาซาเชื่อว่า เมฆที่มีสีคล้ำกว่าน่าจะเป็นเมฆที่อยู่ในระดับต่ำกว่า โดยที่แสงอาทิตย์จะสาดเข้ามาทางด้านซ้ายของภาพ เมฆที่ใสกระจ่างที่สุดในภาพมีขนาดความกว้างและยาวระหว่าง 7-12 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับขนาดกลุ่มเมฆที่จูโนเคยตรวจสอบพบก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะมีส่วนประกอบเป็น เกล็ดแอมโมเนียที่จับแข็ง และเป็นไปได้เช่นกันที่อาจมีส่วนของน้ำที่จับเป็นเกล็ดน้ำแข็งเจือปนอยู่ด้วย

นาซา ระบุว่า สัดส่วนของภาพนี้หากขยายออกตามความเป็นจริงก็คือ 6.7 กิโลเมตรต่อ 1 พิกเซล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image